
คอลัมน์ : สัมภาษณ์
นับเป็นความท้าทายครั้งใหญ่สำหรับการดำเนินธุรกิจปิโตรเคมีและน้ำมัน จากปัญหาเศรษฐกิจโลกซบเซา โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน และความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ส่งผลให้สถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกผันผวน
“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สัมภาษณ์ “นายกฤษณ์ อิ่มแสง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC 1 ใน 6 ธุรกิจโรงกลั่นของประเทศ ถึงแนวทางการนำพาธุรกิจฝ่าความท้าทายครั้งนี้
กำไรสุทธิ Q1 พุ่ง 413%
นายกฤษณ์ฉายภาพว่า IRPC ไตรมาส 1 ปี 2567 มีรายได้จากการขายสุทธิ 74,644 ล้านบาท ลดลง 1,116 ล้านบาท หรือ 1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน
โดยมีสาเหตุหลักจากปริมาณขายลดลง 8% ตามกำลังการผลิตที่ลดลง ขณะที่ราคาขายเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 7% ส่งผลให้มี EBITDA 4,680 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 132% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีต้นทุนค่าเสื่อมสภาพของโรงกลั่นน้ำมันที่เป็นต้นทุน 1,000 ล้านบาทต่อเดือน ทำให้มีกำไรสุทธิ 1,545 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 413% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน
“โรงกลั่นถือเป็นพระเอกของไตรมาสนี้ เนื่องจาก Market GRM เพิ่มขึ้นเป็นผลจากส่วนต่างราคาผลิตภัณฑ์น้ำมันเตาเทียบกับราคาน้ำมันดิบดูไบ และจากค่าใช้จ่ายสาธารณูปโภคที่ลดลง ขณะที่ธุรกิจปิโตรเลียมก็มี Market GRM ลดลง สาเหตุหลัก ๆ มาจากกลุ่มน้ำมันหล่อลื่นพื้นฐาน และส่วนต่างราคายางมะตอยเทียบกับราคาน้ำมันเตาปรับลดลง รวมถึงความต้องการผลิตภัณฑ์กลุ่มปิโตรเคมียังคงซบเซาต่อเนื่องจากปัญหาเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว”
โดยโรงกลั่น UCF ได้ดำเนินการเชิงพาณิชย์ เมษายน 2567 ซึ่งพัฒนาโรงกลั่นน้ำมันให้ผลิตน้ำมันมาตรฐานยูโร 5 โดยมีค่ากำมะถันอยู่ที่ 10 PPM ซึ่งช่วยเพิ่มศักยภาพการขายภายในประเทศที่ทำกำไรได้มากกว่า ให้สามารถขายได้เต็มกำลังผลิตที่ 420 ล้านลิตรต่อเดือน จากเดิม 250 ล้านลิตรต่อเดือน โดยตั้งเป้าหมายกำไรอยู่ที่ 1,000-2,000 ล้านบาท
ปัจจัยหนุนไตรมาส 2-3
บริษัทคาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมของปี 2567 น่าจะดีกว่าปี 2566 ตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ทุกธุรกิจมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจโรงกลั่นอาจจะค่าการกลั่นจะกลับมา เพราะได้อานิสงส์จาก Driving Season ที่มีการท่องเที่ยวมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วงหน้าร้อนและเศรษฐกิจสหรัฐฟื้นตัว
“ตอนนี้ยังต้องจับตาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ อย่างไม่นานมานี้ นายอิบราฮิม ราอีซี ประธานาธิบดีอิหร่านเสียชีวิต ในระยะสั้น จากประสบการณ์ที่อยู่ในตลาดนี้ อาจจะมีผลกระทบกับราคาน้ำมันและราคาทองคำเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน เพราะอิหร่านถือเป็นคู่กรณีของการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ก็ประเมินแล้วว่า ราคาน้ำมันในปีนี้จะแกว่งตัวน้อยกว่าปีที่แล้ว”
ขณะที่ธุรกิจปิโตรเคมี แม้ว่าไตรมาส 2 จะเป็นช่วงขาลง จากเศรษฐกิจจีนไม่ฟื้นตามที่คาดไว้ มีผลกระทบต่อความต้องการใช้ปิโตรเคมีในตลาดโลก รวมถึงจีนดำเนินนโยบายแบบพึ่งพาตนเอง จึงมีการตั้งหน่วยผลิตปิโตรเคมีในประเทศ แต่อย่างไรก็ตาม ในส่วน IRPC ยังมองว่าธุรกิจปิโตรเคมีของบริษัทยังมีแนวโน้มดีขึ้น โดยเฉพาะเม็ดพลาสติก ABS สำหรับการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าได้รับแรงหนุนจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น
อีวีดันความต้องการปิโตรเคมี
“ปิโตรเคมีได้อานิสงส์จากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้นในประเทศ จากการตั้งฐานการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ทำให้ย่อมต้องมีการใช้ชิ้นส่วนหรืออะไหล่ที่ผลิตในประเทศ ตามเงื่อนไขการสนับสนุนของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) โดยจะกลับมาผลิตเต็มกำลังผลิต 100% ที่ 180,000 ตันต่อปี หลังจากที่ลดกำลังการผลิตลง 50% เนื่องจากยังไม่มีอุปสงค์ สำหรับการผลิตทั้งหมดนี้จะสามารถรองรับความต้องการใช้ทั้งในและต่างประเทศ โดยมีสัดส่วนการขายในประเทศ 40% และส่งออก 60%”
นอกจากการขายในตลาดจีนแล้ว บริษัทยังได้แสวงหาตลาดใหม่ผ่านความร่วมมือทางธุรกิจ ซึ่งไม่นานมานี้ได้เริ่มพูดคุยกับพันธมิตรจากอินเดียอยู่ เพราะมองว่า ตลาดอินเดียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่อย่างไรก็ตาม แม้จะอยากให้ตลาดอินเดียมาแทนที่ตลาดจีนที่ยังซบเซา แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าจะเป็นเท่าไหร่ เนื่องจากการแข่งขันในตลาดอินเดียสูงมาก ทำให้เรามีช่องทางให้เติบโตหรือไม่ หรือถ้าไม่คุ้มค่า เราอาจจะไปหาตลาดใหม่ที่มีการแข่งขันน้อยกว่า แต่ความต้องการสูงแทนก็เป็นไปได้
เสริมแกร่งธุรกิจเดิม
การเพิ่มความคล่องตัวให้โรงกลั่นและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องที่ใช่ท่อเดียวกันในการส่งวัตถุดิบ โดยเราจะเพิ่มความคล่องตัวให้ทั้ง 2 โรงงานให้สามารถดำเนินการได้เต็มประสิทธิภาพ อีกทั้งเน้นการขายในประเทศมากกว่าการส่งออก เนื่องจากการขายในประเทศได้กำไรมากกว่าการขายต่างประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะทำรายได้ 1,000-2,000 ล้านบาทต่อปี
นอกจากนี้ยังเพิ่มประสิทธิภาพของคลังกักเก็บและการให้บริการเช่า-กักเก็บ ตั้งเป้าหมายทำรายได้ 100-200 ล้านบาท รวมถึงเพิ่มกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์ชนิดพิเศษ (Specialty Products) ในธุรกิจปิโตรเคมีเป็น 38% เพิ่มจากปีก่อน 5% จนเพิ่มเป็น 50% ภายในปี 2568 ตั้งเป้าเพิ่มรายได้ 800-1,000 ล้านบาท
โดยมีตลาดเป้าหมาย ได้แก่ ธุรกิจก่อสร้าง อุตสาหกรรมยานยนต์ ธุรกิจสุขภาพ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยผลิตภัณฑ์ชูโรง ได้แก่ HDPE100RC ซึ่งเป็นท่อสำหรับงานก่อสร้างที่สามารถตอบสนองความต้องการลูกค้าได้ทุกแบบ และช่วยลดต้นทุนการขุดเจาะหน้าดิน
เปิดตัวสินค้าใหม่
บริษัทเตรียมจะเริ่มจำหน่าย PPR ท่อน้ำร้อนน้ำเย็นสำหรับก่อสร้างอาคารสูง ราคาย่อมเยากว่าท่อเหล็กและไม่เป็นสนิม รวมถึงง่ายต่อการดูแลรักษาและปลอดสารพิษอันตราย ไตรมาส 4 ปี 2567 รวมถึง Meltblown & PP Spunbond ซึ่งเป็นเจ้าแรกในอาเซียนที่มีทั้งสองผลิตภัณฑ์
โดยเม็ดพลาสติกที่ถักทอเป็นผ้าสำหรับผลิตอุปกรณ์การแพทย์ เช่น ชุดกาวน์ หรือหน้ากากอนามัย N95 เป็นต้น ซึ่งมีกำหนดวางขาย PP Spunbond ภายในปี 2567 ส่วน Meltblown จะจำหน่ายในปี 2568
นอกจากนี้ เรายังมี UHMWPE ซึ่งเป็นเม็ดพลาสติกวิศวกรรมที่มีความยืดหยุ่นและทนทานต่อแรงกระแทก ซึ่งเหมาะกับทุกอุตสาหกรรม เรียกว่าจะเป็นพระเอกของเราในอนาคต โดยสามารถนำไปผลิตเป็นชิ้นส่วนภายในแบตเตอรี่และนำไปผลิตหลาย ๆ อย่าง เช่น การผลิตชุดเกราะ หรือชุดกีฬาเอ็กซ์ตรีม ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากตลาดจีน
รวมถึงมีพัฒนาเครื่อง 3D Printing Filament สำหรับผลิตอุปกรณ์ที่ใช้ทางการแพทย์ ซึ่งร่วมมือกับหลายสถาบันสุขภาพและโรงพยาบาล รวมถึงมีแผน Save Overcome Strive (SOS) เพื่อลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานผ่านการบริหารจัดการการลงทุนและสินทรัพย์ โดยตั้งเป้าจะสร้างรายได้เพิ่ม 1,500-1,800 ล้านบาท
ลุยธุรกิจใหม่
สำหรับธุรกิจ Health & Life Science พวกฟิลเตอร์เครื่องกรอง ส่วนธุรกิจ Advanced Materials ได้ร่วมกับ VISUP ซึ่งเป็นธุรกิจ Startup ของสถาบันวิทยสิริเมธี (VISTEC) โดยร่วมพัฒนาตัววัดอุณหภูมิอัจฉริยะ และธุรกิจ Green & Circular กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาร่วมกับพันธมิตรในการคิดค้นวัตถุดิบที่สามารถรีไซเคิลได้ไม่จำกัดครั้ง
ส่วนธุรกิจ Future Energy ดำเนินการที่เป็นพลังงานหมุนเวียนทั้งหมด เตรียมติดตั้งแผงโซลาร์ในพื้นที่โรงงานทั้งหมด โดยปัจจุบัน IRPC มีพื้นที่กว่า 1,800 ไร่ ในพื้นที่ระยอง ซึ่งเรามีพื้นที่เพียงพอติดตั้งพลังงานสะอาดให้กับโรงงานที่อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม จ.ระยอง
รวมถึงสามารถนำผลพลอยได้จากโรงงานโอเลฟินส์ ได้แก่ อะเซทิลีนแบล็ก (Acetylene Black) ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตลิเทียมแบตเตอรี่ในอุตสาหกรรมยานยนต์และยานยนต์ไฟฟ้าที่เราจะเข้าไป
สำหรับธุรกิจ Assets and Services ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนการศึกษาความเป็นไปได้ในการดำเนินโครงการพัฒนาธุรกิจโรงพยาบาล และธุรกิจที่พักเพื่อสุขภาพ ร่วมกับเครือโรงพยาบาลปิยเวช