ผู้ผลิตชิ้นส่วนหันซบไฮบริด ไม่ง้อ EV ชี้เป้า 30@30 ยังอีกไกล

วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)
วรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.)

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม เปิดผลสำรวจเบื้องต้นกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) เตรียมตัวสู่การไปอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) แค่ 10% ดีมานพุ่งไม่แรงยังมีเวลาปรับตัว หันซบป้อนให้ไฮบริดแทน เป้า 30@30 ยังอีกไกล คาดอีก 2 เดือนจะเห็นมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปออกมาชัดเจน

นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากการสำรวจและหารือกับกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์สันดาป (ICE) ถึงความพร้อมในการปรับตัวเพื่อเดินหน้าไปสู่ ภาคการผลิตสำหรับยานยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งเบื้องต้นได้แบ่งกลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.กลุ่มที่ต้องการเพิ่มผลิตภาพ 2.กลุ่มที่พร้อมผลิตชิ้นส่วน EV และ 3.กลุ่มที่จะปรับเปลี่ยนไปสู่อุตสาหกรรมอื่น เช่น อุตสาหกรรมการแพทย์ ชิ้นส่วนอากาศยาน อุตสาหกรรมป้องกันประเทศ โดรน เครื่องจักรทางการเกษตร เป็นต้น ซึ่งโดยรวมแล้วยังมีผู้ที่พร้อมไปสู่ EV เพียง 10% เท่านั้น และส่วนใหญ่จะเป็นผู้ประกอบการรายใหญ่ที่มีเทคโนโลยีอยู่แล้ว มีเงินทุน มีองค์ความรู้ที่พร้อม และมีตลาด เช่น บริษัท เดลต้า อิเล็กทรอนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) สามารถผลิตชิ้นส่วน EV ป้อนได้ทันที

ในขณะที่รายเล็กยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะเรื่องของเงินทุน และเทคโนโลยี ดังนั้นมาตรการที่เข้ามาช่วยในเรื่องของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปนั้น จำเป็นที่ต้องมุ่งไปเรื่องของการเพิ่มทักษะ และเงินทุนก่อน

ล่าสุด กระทรวงอุตสาหกรรม ได้หารือกับทาง สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ถึงการดึงเงินจากกองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี วงเงิน 2,000 ล้านบาท เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนสู่การเปลี่ยนผ่านจากรถสันดาปไปสู่ EV แต่จะไม่มีการสนับสนุนในเรื่องของมาตรการทางภาษี อย่างที่บีโอไอมีให้ เนื่องจากไม่ใช่การลงทุนใหม่ แต่เป็นการปรับเปลี่ยนและปรับปรุงเพื่อไปสู่ภาคการผลิตใหม่มากกว่า โดยคาดว่าอีกประมาณ 2 เดือนจะเห็นมาตรการช่วยเหลือผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปออกมาชัดเจนมากขึ้น

อย่างไรก็ตามสัดส่วนที่ 10% นั้นถือว่าแป็นส่วนน้อย ส่วนทีเหลืออีกว่า 90% หรือกลุ่มที่ 1 กับกลุ่มที่ 3 ยังมองว่านโยบาย 30@30 นั้นยังมีเวลา หากนับจากปี 2567 ก็ยังเหลืออีกกว่า 6 ปี ที่ผู้ผลิตชิ้นส่วนรถสันดาปจะค่อย ๆ ปรับตัว และอีกส่วนหนึ่งยังมองว่าต่อให้ผลิตได้ก็ไม่สามารถสู้ผู้ผลิตจากจีนได้ เพราะค่ายรถจีนใช้วิธีสั่งซื้อนำเข้ามามีต้นทุนที่ถูกกว่า นอกจากนี้ความกังวลมากที่สุดคือเรื่องของการที่ผู้ผลิตชิ้นสว่นของไทยไม่สามารถเข้าสู่การเป็นซัพพลายเชนของ EV ได้

ADVERTISMENT

“ตอนนี้เราคุยกันตลอดและค่อนข้างถี่ ต้องถามให้ชัดและละเอียดว่าผู้ผลิตชิ้นส่วนว่าต้องการที่จะอยู่กลุ่มไหน ใครต้องการที่จะทำอะไร เพราะเขาก็มองว่าถ้าเขาไม่ผลิตให้ EV เขาก็ยังมีรถที่เป็นไฮบริดอยู่ ดังนั้นเขามองว่าเขายังอยู่ได้ อย่างที่โตโยต้าประกาศชัดว่าจะมุ่งทำไฮบริดด้วยมันยังมีตลาดอยู่ แต่ EV ดีมานยังยังไม่ถึงขนาดว่าถ้าไม่ผลิต EV ให้เขาตายแน่ ยอมรับว่าตอนนี้ผู้ผลิตคนไทยกินบุญเก่าอยู่ แต่เราก็ยังต้องประคับประคองกันอยู่ให้ได้ให้เขามีทางเลือก ไม่ได้ปล่อยให้ล้มหายตายจาก แต่การไปเป็น EV มันก็เป็นโอกาสใหม่ ในอนาคตดีมานด์มันเกิดแน่เพียงแค่มันจะค่อย ๆ เริ่มไม่ได้พุ่งทีเดียวตอนนี้จนปรับตัวกันไม่ทัน”

ทั้งนี้ สำหรับนโยบาย 30@30 นั้น คณะกรรมการนโยบายยานยนต์ไฟฟ้าแห่งชาติ (บอร์ด EV) ได้ออกแนวทางการส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า (EV) คือ การตั้งเป้าผลิตรถ ZEV (Zero Emission Vehicle) หรือรถยนต์ที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ ให้ได้อย่างน้อย 30% ของการผลิตยานยนต์ทั้งหมดในปี 2030 หรือปี 2573 ถือเป็นอีกหนึ่งกลไกที่จะนำพาประเทศไทยเข้าสู่การเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ (Low-carbon Society) ในอนาคตแบบเต็มรูปแบบ

ADVERTISMENT

และหากดูสถิติการจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 จาก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) พบว่ามีจำนวนทั้งสิ้น 167,334 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 187.38% แบ่งประเภทได้ ดังนี้ รถยนต์นั่งและรถยนต์ประเภทต่าง ๆ มีทั้งสิ้น 115,901 คัน เพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันปี 2566 ถึง 260.32% รถยนต์นั่งมีจำนวน 114,251 คัน เพิ่มขึ้น 258.38% รถยนต์โดยสารไม่เกิน 7 คนมีจำนวน 1,255 คัน เพิ่มขึ้น 425.10%

รถยนต์บริการธุรกิจมีจำนวน 62 คัน เพิ่มขึ้น 463.64% รถยนต์บริการทัศนาจรมีจำนวน 93 คัน เพิ่มขึ้น 1,450% รถยนต์รับจ้างผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์มีจำนวน 240 คัน เพิ่มขึ้น 700% รถกระบะและรถแวนมีจำนวน 434 คัน เพิ่มขึ้น 366.67% รถยนต์ 3 ล้อมีจำนวนทั้งสิ้น 921 คัน เพิ่มขึ้น 53.50% รถยนต์สามล้อส่วนบุคคลมีจำนวน 88 คัน เพิ่มขึ้น 31.34% รถยนต์รับจ้างสามล้อมีจำนวน 833 คัน เพิ่มขึ้น 56.29% รถจักรยานยนต์มีจำนวนทั้งสิ้น 47,116 คัน เพิ่มขึ้น 101.57%

รถจักรยานยนต์ส่วนบุคคลมีจำนวน 46,986 คัน เพิ่มขึ้น 101.82% รถจักรยานยนต์สาธารณะมีจำนวน 130 คัน เพิ่มขึ้น 38.30% รถโดยสารมีจำนวนทั้งสิ้น 2,527 คัน เพิ่มขึ้น 31.96% รถบรรทุกมีจำนวนทั้งสิ้น 435 คัน เพิ่มขึ้น 450.63%