เปิดแผน สทนช. เฝ้าระวังฝนทิ้งช่วง-อุทกภัยในฤดูฝน ปี’67

สทนช. จับตาสถานการณ์ฝนทิ้งช่วง เตรียมให้ความช่วยเหลือลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร พร้อมเฝ้าระวังอุทกภัยในช่วงฝนตกหนัก เตรียมความพร้อมรอบด้านช่วยให้เผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน

วันที่ 19 มิถุนายน 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า การรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปีนี้ ภาครัฐได้มีการเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้าน โดยได้มีการบูรณาการแลกเปลี่ยนข้อมูลอย่างครบถ้วน รวมถึงได้รับความร่วมมืออย่างเต็มที่จากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พร้อมกันนี้ ในแต่ละจังหวัดได้มีการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี’67 อย่างเคร่งครัด รวมทั้งมีการตั้งคณะทำงานของจังหวัดเพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะอาจจะตกหนักในแต่ละพื้นที่

“นายกรัฐมนตรีได้กำหนดให้มีการประชุมร่วมกันระหว่างหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งในระดับกระทรวงและหน่วยงานปฏิบัติ เพื่อเตรียมรับมือสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. 67 ซึ่งอาจก่อให้เกิดปัญหาอุทกภัยด้วย โดยการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่และครบครันจะช่วยให้สามารถเผชิญเหตุได้อย่างมีประสิทธิภาพตามแผน ช่วยลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน และหากกรณีเกิดภัยแล้ว จะสามารถเข้าไปช่วยดูแลฟื้นฟูเยียวยาความเสียหายได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น”

สำหรับ ในสัปดาห์นี้คาดว่าจะมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ช่วงวันที่ 24-26 มิ.ย. 67 โดยเฉพาะภาคตะวันออก บริเวณ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งยังคงเน้นย้ำในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้าเพื่อลดผลกระทบแก่ประชาชน พร้อมทั้งได้มีการติดตามความพร้อมของอาคารชลศาสตร์ โทรมาตร และคันกั้นน้ำ โดยขณะนี้มีความพร้อมใช้งานแล้วในเกือบทุกแห่ง รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ ประจำในทุกจุดเสี่ยงอีกทั้งได้มีการเร่งกำจัดวัชพืชและผักตบชวาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำ โดยขณะนี้มีการกำจัดไปแล้วกว่า 4.6 ล้านตัน หรือคิดเป็น 56% ของแผนทั้งหมด

ADVERTISMENT

โดยในขณะนี้ประเทศไทยมีพื้นที่การเพาะปลูกพืชฤดูฝนแล้ว ประมาณ 24 ล้านไร่ จากแผนทั้งหมดจำนวน 87 ล้านไร่ แต่พบว่าหลายพื้นที่ของประเทศยังมีค่าความชื้นในดินน้อย โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ใน จ.นครราชสีมา จ.บุรีรัมย์ จ.ศรีษะเกษ บริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา จ.สุพรรณบุรี จ.ชัยนาท และภาคใต้ฝั่งตะวันออก ใน จ.สุราษฎร์ธานี จ.นครศรีธรรมราช

ซึ่งในการประชุมวันนี้ได้เน้นย้ำในเรื่องของการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงประสบปัญหาฝนทิ้งช่วงเพื่อให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรไว้แล้ว โดยพื้นที่ในเขตชลประทานจะมีการสูบน้ำส่งเข้าไปในพื้นที่

ADVERTISMENT

สำหรับพื้นที่นอกเขตชลประทาน ได้มอบหมายให้กรมทรัพยากรน้ำและกรมส่งเสริมการเกษตรเข้าไปสำรวจเพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือ

อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่าในระยะนี้จะมีปริมาณฝนตกกระจายในบริเวณพื้นที่ที่มีความชื้นน้อย ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้เกษตรกรสามารถเพาะปลูกเพิ่มขึ้นได้ในบางพื้นที่

“สทนช. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ติดตามทั้งคาดการณ์สถานการณ์ฝนทิ้งช่วงเพื่อให้ความช่วยเหลือลดความเสียหายต่อผลผลิตทางการเกษตร ควบคู่ไปกับการเฝ้าระวังเรื่องอุทกภัย เนื่องจากสภาพอากาศของประเทศไทยอาจจะมีฝนตกหนักในบางช่วง จากสัปดาห์ที่ผ่านมา ระหว่างวันที่ 11-19 มิ.ย. 67 มีพื้นที่ประสบอุทกภัย รวม 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.จันทบุรี และ จ.ตราด ซึ่งขณะนี้สถานการณ์ได้กลับเข้าสู่สภาวะปกติแล้วทุกจังหวัด”

ในส่วนของการบริหารจัดการน้ำในอ่างเก็บน้ำ ได้มีการเร่งระบายน้ำจากอ่าง ที่มีภาวะเสี่ยงน้ำล้นตั้งแต่ในช่วงต้นฤดูฝนเพื่อเตรียมพร้อมรองรับน้ำไหลลงอ่าง จำนวนมากในช่วงที่มีฝนตกหนัก ทั้งนี้ การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนของปีนี้จะเป็นการเชื่อมโยงเป็นกลุ่มลุ่มน้ำโดยคำนึงถึงความเป็นเอกภาพในภาพรวมทั้งประเทศ