
ธนาคารโลก (World Bank) เผยแพร่รายงานตามติดเศรษฐกิจไทย ฉบับเดือนกรกฎาคม 2567 เมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2567 มีการปรับลดคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจไทยปีนี้ลงเหลือ 2.4% จากการคาดการณ์ครั้งก่อนหน้านี้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมาว่าจะโต 2.8%
ในรายงาน ธนาคารโลกกล่าวถึงการพัฒนาของเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมา ดังนี้
เศรษฐกิจฟื้นตัวช้า
การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกและสถานการณ์ภายในประเทศ โดยเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1 ของปี 2567 เติบโตเพียง1.5% เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) การส่งออกและภาคอุตสาหกรรมหดตัวลง 2% และ 3% ตามลำดับ ท่ามกลางอุปสงค์ภายนอกที่อ่อนแอ สำหรับปัจจัยภายในประเทศ ความล่าช้าของงบประมาณส่งผลให้การลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาครัฐหดตัว 27.7% และ 2.1% ตามลำดับ ขณะที่มาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพ การบริโภคภาคเอกชน และการท่องเที่ยว มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการค้าภาคบริการทั่วโลกใกล้จะฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์ แต่จำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยเริ่มส่งสัญญาณการชะลอตัว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทยในเดือนมีนาคมอยู่ที่ 86% ของระดับก่อนการระบาดของโควิด-19 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนยังคงอยู่ต่ำกว่าระดับก่อนการระบาดอย่างมีนัยสำคัญ (58.2%)
ทั้งนี้ ความล่าช้าของงบประมาณประกอบกับการพึ่งพาการท่องเที่ยวและการค้าส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยล่าช้าและแตกต่างจากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ มาเลเซียและฟิลิปปินส์
บัญชีเดินสะพัดเกินดุลแต่เปราะบาง
บัญชีเดินสะพัดในไตรมาสแรกของปี 2567 ยังคงเกินดุลที่ 2.2% ของจีดีพี แต่ยังคงมีความเปราะบางแฝงอยู่ แม้ว่าดุลการค้าจะเกินดุล แต่การส่งออกสินค้าหดตัว 9.5% เมื่อเทียบกับในระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งสอดคล้องกับภาคอุตสาหกรรมที่หดตัว
ดุลบัญชีการเงินมีการขาดดุลในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 ท่ามกลางการอ่อนค่าของอัตราแลกเปลี่ยน การไหลออกสุทธิของการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ และการไหลออกสุทธิของการลงทุนในหลักทรัพย์จากต่างประเทศ ในขณะเดียวกัน อัตราแลกเปลี่ยนที่แท้จริง (REER) อ่อนค่าลง 2.5% ซึ่งเป็นหนึ่งในการอ่อนค่าที่มากที่สุดของภูมิภาค โดยมีปัจจัยหลักมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์สหรัฐ ความกังวลเกี่ยวกับตลาดภายในประเทศจากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับมาตรการทางการคลังเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหม่ และความเปราะบางของดุลบัญชีเดินสะพัด
เงินเฟ้อต่ำแต่ดอกเบี้ยยังสูง ความเสี่ยงซับซ้อน
อัตราเงินเฟ้อกลับมาเป็นบวก แต่ยังคงต่ำที่สุดในบรรดาตลาดเกิดใหม่ เนื่องจากมาตรการอุดหนุนพลังงานและการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอ อัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับมาเป็นบวกหลังจากที่ติดลบเป็นระยะเวลา 7 เดือน จากการยกเลิกมาตรการอุดหนุนด้านพลังงานบางส่วนและการเพิ่มขึ้นของราคาอาหาร ขณะที่อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (ไม่รวมพลังงานและอาหารสด) ยังคงชะลออย่างต่อเนื่อง โดยอัตราอยู่ที่ 0.4% ซึ่งต่ำกว่าอัตราเฉลี่ยก่อนเกิดการระบาดในช่วงปี 2559-2562 ที่ 0.7% เนื่องจากราคาอาหารสำเร็จรูปที่ต่ำกว่าการคาดการณ์และช่องว่างผลผลิตที่ยังคงเหลืออยู่ ทั้งนี้ ปัจจัยกดดันด้านราคาอาจเพิ่มขึ้นหากการอุดหนุนอัตราไฟฟ้าลดลงอย่างต่อเนื่องและราคาพลังงานทั่วโลกพุ่งสูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับเดิม แต่การดำเนินนโยบายการเงินในช่วงต่อไปอาจมีความซับซ้อนจากความเสี่ยงของแรงกดดันด้านราคาที่ซ่อนอยู่จากการควบคุมราคา ประกอบกับผลกระทบเชิงบวกที่อาจเกิดขึ้นจากการให้เงินอุดหนุนถ้วนหน้าภายใต้โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ต่อการเติบโตของเศรษฐกิจและอัตราเงินเฟ้อ
ระบบการเงินมีเสถียรภาพ
ระบบการเงินยังคงมีเสถียรภาพ แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรจะพัฒนาขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำ และความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงจะยังคงอยู่ก็ตาม
เงินทุนและสภาพคล่องของธนาคารพาณิชย์ยังคงสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดอย่างมาก โดยมีความสามารถในการทำกำไรเพิ่มขึ้น เครื่องชี้คุณภาพสินทรัพย์ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง อัตราส่วนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ 2.8% ณ ไตรมาสที่ 2 ของปี 2567 แม้ว่าความสามารถในการทำกำไรจะอยู่ระดับต่ำกว่าก่อนการระบาดของโควิด-19 โดยมีผลตอบแทนจากสินทรัพย์อยู่ที่ 1.2% และผลตอบแทนต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 8.9% แต่ยังคงปรับดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
หนี้ครัวเรือนสูงน่าห่วง
หนี้ครัวเรือนยังคงอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับประเทศที่พัฒนาแล้ว (91.6% ของ GDP ณ ไตรมาสที่ 4 พ.ศ. 2566) และสูงที่สุดในกลุ่มประเทศอาเซียน ทั้งนี้ องค์ประกอบของหนี้ครัวเรือนในประเทศไทยเป็นประเด็นที่ต้องติดตาม เนื่องจากมีสัดส่วนของสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกันสูงถึง 44% ของ GDP โดยอัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้นอาจทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือนลดลง
การคลัง ขาดดุลน้อยลงเพราะงบประมาณล่าช้า
ภาวะการคลังมีการขยายตัวลดลงเนื่องจากความล่าช้าของงบประมาณ งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท (18.9% ของ GDP) มีผลใช้บังคับในช่วงปลายเดือนเมษายนหลังจากมีความล่าช้า 7 เดือน โดยในช่วง 6 เดือนแรกของปีงบประมาณ (ตุลาคม 2566 – มีนาคม 2567)
ดุลการคลังของรัฐบาลส่วนกลางมีการขาดดุลลดลง คิดเป็นสัดส่วน 3.5% ของ GDP ซึ่งถือว่าลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสัดส่วน 7.1% ในระยะเดียวกันของปีก่อนหน้า (YOY) โดยดุลการคลังที่ปรับด้วยวัฏจักรเศรษฐกิจในช่วงปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 – 2567 มีการขาดดุลลดลงเนื่องจากการลดลงของการดำเนินนโยบายการคลังแบบขยายตัว (expansionary policies) ซึ่งสอดคล้องกับแนวโน้มของประเทศกลุ่มอาเซียนที่รัฐบาลให้ความสำคัญกับการปรับภาวะการคลังให้เข้าสู่สมดุล (fiscal consolidation) เมื่อการระบาดของโควิด-19 บรรเทาลง
อย่างไรก็ตาม การขาดดุลการคลังของประเทศไทยลดลงเป็นอย่างมากเมื่อเทียบกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เนื่องจากความล่าช้าของการอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 ซึ่งส่งผลให้รายจ่ายลงทุนของรัฐบาลกลางมีการเบิกจ่ายน้อยมาก (0.04% ของ GDP) ในขณะที่การเบิกจ่ายรายจ่ายประจำอยู่ในระดับปานกลาง
ความยากจนลดลง
ความยากจนลดลงจากการฟื้นตัวของตลาดแรงงานในปี 2565 การบริโภคต่อครัวเรือนระหว่างปี 2564 ถึง 2565 ขยายตัว 8.1% เนื่องจากอัตราการว่างงานที่ลดลง ค่าจ้างเฉลี่ยเพิ่มขึ้น โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจบางโครงการ และโครงการช่วยเหลือทางสังคม
ทั้งนี้ จากการที่ครัวเรือนมีรายได้และการบริโภคที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้อัตราความยากจนของประเทศลดลงจาก 6.3% ในปี 2564 เหลือ 5.4% ในปี 2565
ความยากจนที่ลดลงนั้นเด่นชัดกว่าเล็กน้อยในเขตเมืองเมื่อเทียบกับในชนบท โดยระหว่างปี 2564 ถึง 2565 ความยากจนในเขตเมืองลดลงจาก 5.2% สู่ 4.2% ในขณะที่ความยากจนในชนบทลดลงจาก 7.8% สู่ 7.1%

แนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยง
ในส่วนแนวโน้มเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยง ธนาคารโลกระบุว่า ในปี 2567 คาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัว โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชน การท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้า เศรษฐกิจในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัว 2.4% ขยายตัวในอัตราที่เพิ่มขึ้นจาก 1.9% ในปี 2566 โดยมีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเป็นตัวขับเคลื่อนหลักอย่างค่อยเป็นค่อยไป การส่งออกสินค้าคาดว่าจะฟื้นตัวขึ้นท่ามกลางการค้าโลกที่ปรับตัวดีขึ้น การท่องเที่ยวคาดว่าจะกลับสู่ระดับก่อนเกิดการระบาดในช่วงกลางปี 2568 จากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน
ทั้งนี้ การประมาณการกรณีฐานยังไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต แต่หากมีการดำเนินการจริง โครงการอาจช่วยเร่งการเติบโตในระยะสั้น
ส่วนศักยภาพการเติบโตในช่วงปี 2566-2573 คาดว่าจะอยู่ที่ 2.7% ซึ่งลดลงเมื่อเทียบกับอัตราเฉลี่ยในทศวรรษที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 3.2% เนื่องจากประชากรสูงวัยที่มากขึ้นและการเติบโตของผลิตภาพที่ลดลง
ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยในปี 2567 คาดว่าจะอยู่ในระดับปานกลางและสนับสนุนเสถียรภาพด้านต่างประเทศ แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าก่อนเกิดโควิด-19 ดุลบัญชีเดินสะพัดคาดว่าจะเกินดุลในระดับปานกลางจากประมาณ 1.4% ของ GDP ในปี 2566 เป็น 1.0% ของ GDP ในปี 2567 เนื่องจากการส่งออก
ที่ต่ำกว่าคาดการณ์ในไตรมาสที่ 1 และการขาดดุลสุทธิของดุลบริการเนื่องจากหยุดชะงักของอุปทาน (supply disruption) ในทะเลแดง แม้ว่ารายได้ของภาคการท่องเที่ยวจะฟื้นตัว
อัตราเงินเฟ้อทั่วไปคาดว่าจะชะลอตัวลงสู่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคที่ 0.7% ในปี 2567 ซึ่งต่ำกว่าช่วงเป้าหมายของธนาคารแห่งประเทศไทย เนื่องจากราคาอาหารและพลังงานอยู่ในระดับปานกลาง และช่องว่างผลผลิตเป็นลบ การลดลงนี้มีสาเหตุมาจากราคาอาหาร ราคาพลังงาน และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานที่ต่ำกว่าคาดการณ์ แม้ว่าจะมีการลดมาตรการสนับสนุนด้านพลังงานในบางส่วน ขณะที่ราคาอาหารและอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานคาดว่าจะเพิ่มขึ้น
หนี้สาธารณะคาดว่าจะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 64.6% ของ GDP ในปีงบประมาณ 2568 โดยคาดว่ารัฐบาลจะมีการขาดดุลเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ของ GDP เนื่องจากการลงทุนภาครัฐกลับมาเป็นปกติประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นทางการคลังเพื่อส่งเสริมการบริโภคซึ่งสอดคล้องกับแผนการคลังระยะปานกลาง แม้หนี้สาธารณะคาดว่าจะยังคงอยู่ในระดับเสถียรภาพ แต่ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับแรงกดดันที่สูงขึ้นในการใช้จ่ายด้านสังคมและการลงทุนภาครัฐในด้านทุนมนุษย์เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของประชากรสูงอายุ
ทั้งนี้ ปัจจุบันประเทศไทยยังมีช่องทางในการเพิ่มรายได้จากภาษีและรักษาเสถียรภาพทางการคลัง ในขณะที่สามารถตอบสนองทั้งแรงกดดันด้านการใช้จ่ายและความต้องการด้านการลงทุน ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายที่เพิ่มขึ้นในการรักษาความยั่งยืนทางการคลังขณะดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้น
รัฐบาลคาดการณ์ว่าหนี้สาธารณะจะเพิ่มสู่ 68.6% ต่อ GDP ภายในปี 2571 จากความต้องการด้านการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น โดยมาตรการกระตุ้นการเติบโตโดยการกระตุ้นการบริโภค เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ต ได้เพิ่มแรงกดดันนี้
“ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มเสถียรภาพทางการคลังท่ามกลางความต้องการด้านการใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น ประเทศไทยสามารถเริ่มต้นด้วยการมุ่งเน้นไปที่การช่วยเหลือทางสังคมและการให้เงินช่วยเหลือแบบเจาะกลุ่มเป้าหมายมากขึ้นเพื่อช่วยเหลือครัวเรือนกลุ่มเปราะบางและบรรเทาความยากจนได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
“นอกจากนี้ ประเทศไทยมีพื้นที่ในการเพิ่มรายได้ภาษีส่งเสริมความเสมอภาค สร้างช่องว่างทางการคลังและกระตุ้นการลงทุนได้ โดยในระยะยาวการเติบโตตามศักยภาพสามารถยกระดับได้ด้วยการปฏิรูปทางการคลังเพื่อปลดปล่อยศักยภาพการเติบโตในหลากหลายด้านทั่วประเทศ ซึ่งการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานของรัฐสามารถเชื่อมโยงและเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับภูมิภาคที่การพัฒนายังไม่คืบหน้า ช่วยดึงดูดการลงทุนของภาคเอกชน และสนับสนุนการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง” ธนาคารโลกแนะผู้กำหนดนโยบายของไทย