ปัจจุบันการใช้กำลังการผลิตอุตสาหกรรมเหล็ก ลดลงเหลือ 29.7% จากปี 2566 ที่ใช้ในอัตรา 31.2% ปัจจัยสำคัญมาจากการผลิตสินค้าเหล็กโลกของผู้ผลิตจีนที่มีปริมาณเพิ่มขึ้นและส่งออกมายังตลาดอาเซียนรวมถึงไทยมากขึ้น โดยในช่วง 6 เดือนแรก ปี 2567 ข้อมูลจากกรมศุลกากรระบุว่า ไทย 4,058 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีการนำเข้า 3,919 ล้านบาท โดยแหล่งนำเข้าสินค้าเหล็กอันดับ 1 มาจากประเทศจีน มีมูลค่า 2,519 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ที่มีการนำเข้า 2,397 ล้านบาท สะท้อนว่าไทยได้เพิ่มการนำเข้าสินค้าเหล็กจากจีนเพิ่มมากขึ้น
เหล็กจีนท่วมประเทศ
สอดรับกับ นายบัณฑูรย์ จุ้ยเจริญ ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ข้อมูล ส.อ.ท. พบว่า แม้ว่าปี 2567 ไทยนำเข้าเหล็กทั้งหมด 5.553 ล้านตัน ลดลง 6.03% จากช่วงเดียวกันของปี 2566 ที่มีการนำเข้าเหล็กทั้งหมด 5.888 ล้านตัน แต่การนำเข้าเหล็กจากจีนมีปริมาณ 2.397 ล้านตัน เพิ่มขึ้น 0.84% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่นำเข้า 2.377 ล้านตัน โดยคิดเป็นสัดส่วน 43% ของการนำเข้าเหล็กทั้งหมด
ทั้งนี้ ปัจจุบันจีนมีกำลังการผลิตเหล็ก 1.1 พันล้านตัน ยังคงใช้กำลังผลิตเต็มกำลังเพื่อรักษาความได้เปรียบเชิงขนาด และเพื่อรักษาการจ้างงาน ขณะที่ความต้องการเหล็กในจีนปี 2567 คาดว่าจะมีปริมาณ 910 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มี 933 ล้านตัน ส่งผลให้มีเหล็กที่ผลิตล้นเกินความต้องการมหาศาลกว่า 100 ล้านตัน จะไหลบ่าออกไปยังต่างประเทศ ซึ่งอาเซียนรวมไทยก็คือหนึ่งในภูมิภาคที่เป็นเป้าหมายการส่งออก อีกทั้งล่าสุดเวียดนามกำลังไต่สวนการทุ่มตลาดสินค้าเหล็กจากจีน หากเวียดนามบังคับใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) จะเป็นแรงส่งให้สินค้าจีนหันมาที่ประเทศไทยมากขึ้น
“ช่วง 6 เดือนแรกของปีนี้ในฝั่งจีนส่งออกเหล็กแล้ว 53 ล้านตัน ดังนั้นมีโอกาสสูงที่จะเกิน 100 ล้านตัน มากกว่าปี 2566 มีข้อสังเกตที่สำคัญจากข้อมูลการขาดทุนของอุตสาหกรรมเหล็กจีนสูงถึง 22.2 พันล้านหยวน หรือกว่า 1 แสนล้านบาท ช่วง 4 เดือนแรกปี 2567 จีนจึงต้องระบายผลผลิตส่วนเกินออกสู่ตลาดต่างประเทศในทุกวิถีทางด้วยการทุ่มตลาดในราคาที่ต่ำมาก ซึ่งรวมถึงการหลบเลี่ยงมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด หรือ AD”
โดยเราพบว่าเหล็ก ที่เป็น Liked Products เช่น เหล็กเคลือบ ZAM (เคลือบสังกะสี อะลูมิเนียม แมกนีเซียม) ราคาที่ต่ำอย่างน่าตกใจ ซึ่งเหล็กประเภทนี้ทดแทนได้ทั้งเหล็กรีดร้อน และเหล็กเคลือบ ขณะนี้มียอดนำเข้าจากจีนที่เดียวเกินกว่าหนึ่งแสนตันต่อเดือน ทั้งยังมีอัตรานำเข้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เหล็กโครงสร้าง Prefabricated Steel ด้วยที่มีการนำเข้าสูงถึงกว่า 51,000 ตันต่อเดือน จากปี 2565 ที่นำเข้าเฉลี่ย 17,000 ตันต่อเดือน และปี 2566 นำเข้า 32,000 ตันต่อเดือน มีผลกระทบต่ออุตสาหกรรมก่อสร้างด้วย
ร้องรัฐวางหมากสกัด
นายบัณฑูรย์กล่าวว่า ผลกระทบจากเหล็กจีนทำให้อุตสาหกรรมเหล็กของไทยต้องปรับลดกำลังการผลิตลง ต่ำกว่า 29% ของการผลิต ในส่วนของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก ส.อ.ท. รวมกับ 10 สมาคมเหล็กได้สื่อสารข้อมูลถึงภาครัฐ เพราะหากสถานการณ์ยังคงเป็นอย่างนี้ต่อไป อาจจะมีอุตสาหกรรมเหล็กที่ไม่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้ และต้องทยอยปิดตัว ทั้งบริษัทใหญ่ที่มีประวัติยาวนาน ซึ่งปีที่แล้วก็ปิดไปรายหนึ่ง และ SMEs ที่เกี่ยวข้องกับเหล็ก ซึ่งเป็นกลุ่มที่ปิดตัวมากกลุ่มหนึ่ง
ส่งผลกระทบต่อภาพรวมของประเทศ เพราะเหล็กเป็นสินค้าอุตสากรรมขั้นพื้นฐานที่มีความสำคัญต่อความมั่นคงของห่วงโซ่อุปทาน และท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ ดังนั้น ประเทศไทยควรจะสามารถพึ่งพาตัวเองได้ในระดับหนึ่ง
โดยที่ผ่านมาภาครัฐได้รับฟังและดำเนินมาตรการเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมเหล็กจากการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมมาเป็นลำดับ เช่น มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด (AD) ตัวอย่างเหล็กแผ่นรีดร้อน เมื่อมีมาตรการ AD ก็มีการหลบเลี่ยงมาตรการ AD ด้วยการเติมอัลลอย คือปรับเปลี่ยนส่วนผสมทางเคมีเพียงเล็กน้อยเพื่อเปลี่ยนพิกัดศุลกากร และหลบเลี่ยงอากร AD ซึ่งกรณีนี้อยู่ระหว่างการไต่สวนการหลบเลี่ยงมาตรการทุ่มตลาด หรือ AC (Anticircumvention) โดยกรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์
“การสู้กับเหล็กนำเข้า จะต้องใช้มาตรการทุกอย่างที่ใช้ได้ตามกติกาอย่างรวดเร็ว หยุดเลือดที่ไหล รักษาการจ้างงานเพื่อการแข่งขันที่เป็นธรรมอย่างเร่งด่วน และให้อุตสาหกรรมภายในสามารถใช้อัตรากำลังการผลิตที่พออยู่กันได้ รักษาความมั่นคงห่วงโซ่อุปทาน ปีที่ผ่านมามหามิตรประเทศจีนได้เปรียบดุลการค้ากับเราอย่างมหาศาลกว่า 1.2 แสนล้านบาท มาตรการเร่งด่วนต่าง ๆ ที่จำเป็น สร้างการแข่งขันที่เป็นธรรม และความสมดุลที่จะสร้างความยั่งยืนที่แท้จริงในการอยู่ร่วมกัน ทำมาค้าขายด้วยกัน และสามารถปรับตัวเข้ากับความท้าทายใหม่ ๆ ร่วมกัน เช่น การผลักดันเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เพื่ออนาคตของประเทศและคนรุ่นต่อไป”
สอดรับกับด้าน นายนาวา จันทนสุรคน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหวิริยาสตีลอินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI และรองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ภาครัฐกำลังจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาเร็ววันนี้ เป็นเคส Anticircumvention (AC) แรก คือ เหล็กแผ่นรีดร้อนเจืออัลลอย ส่วนเคสอื่น ๆ เช่น เหล็กแผ่นรีดเย็น ท่อ เหล็กชุบสังกะสี และเหล็กเคลือบ คงอยู่ระหว่างผู้ฟ้องยื่นเรื่อง แต่คณะกรรมการยังไม่ได้เปิดไต่สวน
แนวโน้มเหล็กครึ่งปีหลัง
สำหรับแนวโน้มอุตสาหกรรมเหล็กครึ่งปีหลัง จากการแถลงของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ อัตราการเติบโตของจีดีพีในไตรมาสที่ 1 ขยายตัว 1.5% ประมาณการล่าสุด จีดีพีไทยที่ 2.5% ถ้าเทียบกับปี 2566 ที่จีดีพีโต 1.9% ความต้องการใช้เหล็กในประเทศ ในปี 2567 น่าจะอยู่ที่ 16.3 ล้านตัน ใกล้เคียงกับปี 2566 ซึ่งจะสอดคล้องกับการประมาณการของจีดีพี และการคาดการณ์ของสถาบันเหล็กฯ
โดยมีปัจจัยบวกสำคัญจากการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ จากโครงการก่อสร้าง เช่น ถนนมอเตอร์เวย์บางขุนเทียน-บางใหญ่ ทางด่วนพระรามสองสมุทรสาคร รถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพ-โคราช และช่วงโคราช-หนองคาย รวมถึงโครงการแหลมฉบังเฟส 3 และมาบตาพุด เฟส 3 จะช่วยด้านดีมานด์ได้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกหลัก
อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามปัจจัยลบของเหล็กทรงแบนทั้งรีดร้อน รีดเย็น และเหล็กเคลือบ จากการนำเข้ามีลักษณะทุ่มตลาดซึ่งจะกดดันทั้งด้านปริมาณและราคา อีกด้านหนึ่งทางดีมานด์ในภาคการผลิตก็ไม่สู้ดีนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ ยอดขายในประเทศลดลงมาก ขณะที่ส่วนแบ่งการตลาดบางส่วนถูกแทนที่ด้วยรถ EV นำเข้าซึ่งกระทบทั้งห่วงโซ่อุปทาน หรือในกลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าที่มีการย้ายฐานการผลิตออกไปจากประเทศไทย
เร่ง มอก.รับมือ
นางวรวรรณ ชิตอรุณ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กล่าวว่า แนวทางแก้ปัญหาสินค้านำเข้าที่สำคัญจะต้องมีการปรับสมดุลการนำเข้าไม่ให้นำเข้าจากบางประเทศมากจนเกินไป เช่น การปรับเพิ่มภาษีนำเข้า หากสินค้าที่นำเข้ามีราคาต่ำกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพราะมีแนวโน้มที่หลายประเทศใช้มาตรการกับสินค้าจากจีน เช่น สหรัฐ ประกาศปรับขึ้นอัตราภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนหลายกลุ่ม วันที่ 1 ส.ค. 2567 จะยิ่งเป็นแรงผลักดันให้จีนมีโอกาสสูงที่ไหลมาที่ไทย
สิ่งที่น่ากังวลคือการควบคุมคุณภาพของสินค้า หน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม คือ การเร่งประกาศใช้มาตรฐาน มอก.บังคับเพื่อดูแลด้านคุณภาพ รวมถึงการลงพื้นที่ตรวจสอบสินค้า