“ภูมิธรรม” นำทีมพาณิชย์เยือนคาซัคสถาน 13-18 ส.ค. 2567 ขยายโอกาสการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย พร้อมนัดหารือนายกรัฐมนตรีคาซัคสถาน ขยายความร่วมมือการค้า เศรษฐกิจ และมอบตรา Thai SELECT ร้านอาหารไทย พร้อมดูต้นแบบร้านอาหารที่ทำเป็นโชว์รูม
วันที่ 13 สิงหาคม 2567 นายวิทยากร มณีเนตร ผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะโฆษกกระทรวงพาณิชย์เปิดเผยว่า ระหว่างวันที่ 13-18 สิงหาคม 2567 นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดนำคณะผู้บริหารระดับสูงกระทรวงพาณิชย์เดินทางเยือนสาธารณรัฐคาซัคสถาน
“การเดินทางไปครั้งนี้เป็นไปตามนโยบาย “รักษาตลาดเดิม เสริมตลาดใหม่” ที่ต้องการขยายโอกาสการส่งออกให้กับผู้ประกอบการไทย เพราะคาซัคสถานเป็นประเทศคู่ค้าสำคัญรายหนึ่งของไทยในกลุ่ม CIS และยังสามารถที่จะใช้เป็นประตูการค้าเข้าสู่ภูมิภาคเอเชียกลางและประเทศที่มีนามสกุล “สถาน” โดยรอบได้อีกเป็นจำนวนมาก ซึ่งล้วนแต่เป็นตลาดใหม่ที่มีศักยภาพ และที่ผ่านมา สินค้าไทยยังเข้าสู่ตลาดได้น้อย ส่วนใหญ่ส่งออกผ่านรัสเซียและอินเดีย หากส่งออกตรงได้ก็จะเพิ่มมูลค่าการค้าได้มาก”
สำหรับการเดินทางไปครั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ มีกำหนดพบปะกับนายออลจัส เบคเตนอฟ (Mr. Olzhas Bektenov) นายกรัฐมนตรีแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน เพื่อหารือถึงความร่วมมือในการขยายการค้าและเศรษฐกิจระหว่างกัน และมีกำหนดหารือกับ Dr.Mirgali Kunayev กงสุลกิตติมศักดิ์ของไทยแห่งสาธารณรัฐคาซัคสถาน และ รอ.ชัชวรรณ สาครสินธุ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงอัสตานา เพื่อหารือถึงความเป็นไปได้ในการเปิดสำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ สาธารณรัฐคาซัคสถาน
นอกจากนี้ จะหารือกับผู้บริหาร DAMU Industrial and Logistics Center เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ ความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ เกี่ยวกับเส้นทางการขนส่งสินค้าจากไทยสู่คาซัคสถาน เพื่อผลันดันให้สินค้าไทยเข้าสู่คาซัคสถานมากขึ้น
ขณะเดียวกัน มีกำหนดการมอบประกาศนีบัตร Thai SELECT ให้แก่ร้านอาหาร Bangkok Thai Cafe ณ เมืองอัลมาตี สาธารณรัฐคาซัคสถาน และเยี่ยมชมร้าน Pattaya Spa ในฐานะร้านต้นแบบ Thai SELECT ในคาซัคสถานที่เป็น Showroom บริการ และ Soft Power ไทย รวมทั้งจะใช้โอกาสนี้สำรวจตลาดการค้าสินค้า เพื่อดูว่าสินค้าอะไรที่มีโอกาสในการส่งออกไปขาย ก็จะได้จัดทำแผนผลักดันต่อไป
ทั้งนี้ คาซัคสถานซึ่งเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสทางการค้า โดยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 88 ของไทยในโลก และอันดับที่ 2 ของไทยในกลุ่มสหภาพเศรษฐกิจยูเรเซีย (Eurasian Economic Union : EAEU) มีประชากรกว่า 190 ล้านคน และมีมูลค่า GDP ต่อหัวเป็นอันดับ 2 ในประเทศกลุ่มเครือรัฐเอกราช (CIS) รองจากรัสเซีย มีพื้นที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอดีตสหภาพโซเวียต และเป็นประเทศ Land Lock ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีทรัพยากรที่สำคัญจำนวนมาก เช่น น้ำมันดิบ ก๊าซธรรมชาติ และยูเรเนียมเป็นอันดับต้น ๆ ของโลก และมีบทบาทในเวทีการเมืองระหว่างประเทศ
โดยเป็นประเทศมุสลิมสายกลาง โดยการส่งออกน้ำมันเป็นรายได้หลักของประเทศที่มีอิทธิพลและมีบทบาทสำคัญในองค์การความร่วมมืออิสลาม (OIC) รวมทั้งเป็นศูนย์กลางการกระจายสินค้าไปยังอีก 4 ประเทศ ได้แก่ อุซเบกิสถาน คีร์กิซสถาน เติร์กเมนิสถาน ทาจิกิสถาน