“คงกระพัน อินทรแจ้ง” เปิดแผน Revisit ปตท. โฉมใหม่

PTT
คงกระพัน อินทรแจ้ง
สัมภาษณ์พิเศษ

การเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานแห่งอนาคตเป็นทิศทางที่ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกให้ความสำคัญเพื่อมุ่งสู่เป้าหมาย Net Zero ขณะเดียวกันก็ต้องเผชิญความท้าทายด้านภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน

แม่ทัพใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) “ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” หลังรับตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ถึงทิศทางการดำเนินงานของ ปตท. จากนี้

ยั่งยืนอย่างสมดุล

ปตท. เป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อประเทศ ปตท. จึงมีวิสัยทัศน์ ว่าจะสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน หรือ TOGETHER FOR SUSTAINABLE THAILAND, SUSTAINABLE WORLD

“ปตท. ถูกจัดตั้งมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ ดูแลเรื่องพลังงานเป็นสำคัญมากที่สุดเรื่องหนึ่งของประเทศ แต่ไม่ใช่แค่ดูแลเพียงเรื่องต้นทุนพลังงานอย่างเดียว แต่เป็นเรื่องของความมั่นคงด้วย เพราะประเทศไทยนำเข้าก๊าซประมาณครึ่งหนึ่ง และนำเข้าน้ำมันประมาณ 90% เมื่อเกิดปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) มีการปิดช่องแคบต่าง ๆ เราต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน และต้องมีความเก่งที่จะหาพลังงานที่มีราคาเหมาะสมด้วย”

ปัจจุบัน ปตท. มีสัดส่วนรายได้มากกว่า 50% มาจากการออกไปลงทุนในต่างประเทศและมีแนวโน้มจะต้องโตขึ้นเรื่อย ๆ เพราะ ปตท. ถือเป็นบริษัทชั้นนำของเมืองไทยที่ขยายออกไปลงทุนต่างประเทศอยู่แล้วเรามีความเข้าใจ ความเชี่ยวชาญ มีจุดแข็งด้านต่างประเทศ เราใช้จุดแข็งตรงนี้ขยายธุรกิจ แต่ก็ต้องมีความยั่งยืน และผลิตภัณฑ์ที่จะผลิตก็ต้องรักษาความสมดุล ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมด้วย แม้ว่าจะยังอยู่ในธุรกิจไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon) แต่ต้องสอดคล้องกับทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ด้วย

Revisit ธุรกิจรับเทรนด์โลก

ขณะนี้เรากำลังทบทวนแผนกลยุทธ์ใหม่ในการทำธุรกิจ (Revisit) จากเมื่อ 6-7 ปีที่แล้ว ที่ ปตท. ก็ไม่ต่างจากผู้ผลิตในกลุ่ม oil major ต่าง ๆ ในโลก ซึ่งมองเห็นเรื่องการเปลี่ยนผ่านพลังงาน (Energy Transition) กำลังมา แนวโน้มการใช้น้ำมันจะลดน้อยลง ทุกคนจึงกระโดดไปทำธุรกิจอื่นนอกเหนือจากเรื่องน้ำมัน ซึ่งอาจจะมีทั้งธุรกิจที่ถนัดบ้างไม่ถนัดบ้าง มีการลองผิดลองถูก แต่ตอนนี้เนื่องจากตลาดมีการเปลี่ยนแปลง ทำให้ต้องเริ่มกลับมาทบทวน (Revisit) ตัวเอง

ADVERTISMENT

“วันนี้หลาย ๆ เรื่องที่เราเคยลองทำ ปัจจุบันเทรนด์ของตลาดเปลี่ยน เช่น เรื่อง ยานยนต์ไฟฟ้า ฉะนั้น เราจึงต้องปรับ โดยดูว่าเราเก่งอะไร เพราะเงินเราไม่ได้มีอย่างไม่จำกัด จึงต้องโฟกัส”

โจทย์ Revisit

ธุรกิจของเราแบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกคือ ธุรกิจ Hydrocarbon & Power ที่ครอบคลุม การสำรวจและผลิต ก๊าซ น้ำมัน ปิโตรเคมีและการกลั่น ค่าปลีกน้ำมัน และธุรกิจไฟฟ้า ซึ่งเป็นธุรกิจที่เรามีความถนัด ซึ่งตอนนี้มีสัดส่วนกำไร 99% ของกำไรรวมของ ปตท. แต่ด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ธุรกิจกลุ่มนี้ก็ต้องปรับตัว ทำให้ดีขึ้น ต้นทุนต่ำลง รวมถึงการหาโอกาสในการเติบโตใหม่ ๆ เช่น การหาพันธมิตรที่เหมาะสม เพื่อสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ แต่สิ่งสำคัญคือจะทำแบบเดิมไม่ได้ ต้องทำควบคู่กับการลดคาร์บอน

ADVERTISMENT

อีกกลุ่มคือ ธุรกิจ Non-Hydrocarbon เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับเมกะเทรนด์ (Mega Trend) อย่างเช่น ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ปตท. ได้ทบทวนธุรกิจกลุ่มนี้ใหม่ทั้งหมดทั้ง value chain และพบว่าธุรกิจ EV Charging หรือการอัดประจุกระแสไฟฟ้าสำหรับยานยนต์ น่าจะเป็นธุรกิจที่เหมาะสมกับกลุ่ม ปตท. โดยสามารถใช้จุดแข็งของบริษัท ปตท.นํ้ามันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR ที่มี Ecosystem ที่ดี ใกล้ชิดกับลูกค้า โดย OR จะมีบทบาทเป็น Mobility Partner ให้กับคนไทย

ซึ่งในการ Revisit จะต้องวิเคราะห์ 2 มุมมอง คือ

1) ธุรกิจที่ทำใน Value Chain นั้นยังเป็นธุรกิจที่ดีอยู่หรือไม่ เพราะ 3-4 ปี
ที่แล้วกับวันนี้คนละเรื่องกัน

และ 2) ปตท. มี Right to play หรือจุดแข็งในการจะเข้าไปทำธุรกิจกลุ่มนี้หรือไม่

ถ้ามีทั้ง 2 อย่าง แปลว่าธุรกิจยังน่าสนใจอยู่ เราสู้ ทำต่อ หรือบางธุรกิจอาจจะต้องเร่งเครื่องด้วย บางธุรกิจอาจจะต้องออก

“การ Revisit จะทำกับทุกธุรกิจ ไม่ใช่เฉพาะธุรกิจ Non-Hydrocarbon เท่านั้น อย่างเช่น ธุรกิจ Hydrocarbon บางตัวที่อยู่มานานอาจจะไม่ได้ดีแล้วก็ได้ ก็ต้องดูกันไป ซึ่งจะใช้สูตรการทบทวนรูปแบบเดียวกันหมด เพราะการลงทุนกระจัดกระจาย นักลงทุนคงไม่ชอบ อย่างปีที่แล้ว ปตท. รายได้เกือบ 3 ล้านล้าน หากธุรกิจที่เราทำ มีรายได้ 5-10 ล้านบาท ซึ่งเป็นสัดส่วนที่น้อยมากในมุมของนักลงทุนคงคิดว่า ปตท. ไม่ควรทำ เราจึงควรลงทุน ในธุรกิจที่มีน้ำมีเนื้อ มีกำไรกลับมาช่วยของเดิม แต่ถ้าช่วยน้อย เราก็ควรโฟกัสเฉพาะอันที่ช่วยเยอะ ซึ่งข้อสรุปการทบทวนแผนกลยุทธ์ (Strategy Plan) จะเสร็จภายในเดือนสิงหาคมนี้”

“กรณีที่ธุรกิจที่ลงทุนไปแล้วไม่ตอบโจทย์ ปตท. ก็มีทางออกหลายวิธี เช่น อาจจะต้องหาพาร์ตเนอร์เข้ามาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นเรื่องปกติของการทำธุรกิจที่จะต้องดูความสามารถในการแข่งขันว่าเหมาะสมกับเราไหม สามารถเข้าหรือออกได้ ไม่อย่างนั้นจะเป็นการกอดสินทรัพย์ (asset) ไว้เยอะเกินไป เราจึงควรต้องทำให้ตัวเบา”

ปตท. ลุย CCS – ไฮโดรเจน

ในส่วนไฮโดรคาร์บอน (Hydrocarbon & Power) เราจะโฟกัสเรื่องการหาแหล่งพลังงานที่ดี แหล่งใหม่เพิ่มเติม และทำเรื่อง LNG ให้ดี ต้นทุนแข่งขันได้ เพื่อให้ตอบโจทย์การสร้างความมั่นคงทางด้านพลังงาน ควบคู่ไปกับการลดการปลดปล่อยคาร์บอน (Decarbonization) โดยเตรียมการลงทุนพัฒนาธุรกิจใหม่ เพื่อสอดรับกับเป้าหมายการก้าวสู่ Net Zero ทั้งไฮโดรเจนสำหรับอุตสาหกรรม และการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture and Storage : CCS)

“พอทำ Strategy plan เสร็จจะบอกได้ชัดเจนว่า ธุรกิจไหนจะเร่งเครื่อง ธุรกิจไหนจะถอย อย่างไฮโดรคาร์บอนจะทำไฮโดรเจนควบคู่กับ CCS ธุรกิจไฮโดรคาร์บอนจะทำอย่างไรก็จะมีแผนธุรกิจ ปลายปีก็จะรู้ว่าใช้เงินจะลงทุนเท่าไร การที่จะลงทุนเท่าไรขึ้นกับ Investment Capacity ว่าเรามีความสามารถในการก่อหนี้เท่าไร ส่วนหนึ่ง ต้องมาดูว่าแผนใหม่ที่จะทำต้องมาดู business plan ถ้าแผนใหม่เท่านี้ เฮดรูมในการกู้เท่าไร ต้องปันผลอย่างไร จะมีความสามารถที่จะลงทุนเท่าไร ก็เอามาเทียบกับโครงการที่จะเกิดขึ้น”

วางแผนกักเก็บคาร์บอน CCS

“การลงทุนเรื่อง CCS จะอยู่ในแผนการลงทุน 5 ปีแน่นอน และไม่ใช่สิ่งเดียวกับที่ ปตท.สผ. ทำก่อนหน้านี้ ซึ่งโครงการของ ปตท.สผ. นั้นเป็นแซนด์บ็อกซ์ เป็นการทดลองเบื้องต้น แต่โครงการนี้กลุ่ม ปตท. เราวางแผนกลยุทธ์การกักเก็บคาร์บอนร่วมกัน ‘ใครปล่อยก็เก็บ’ เช่น IRPC, GC, GPSC, TOP จะต้องดักจับคาร์บอนมาจากโรงงานตัวเอง การเก็บไม่ได้แปลว่า ต้องปล่อยแล้วก็เก็บ บางทีอาจจะเก็บตั้งแต่ยังไม่ปล่อยเลยก็ได้โดยมี ปตท. เป็นคนลงทุนเรื่อง Infrastructure และทำงานร่วมกับภาครัฐ เพื่อ unlock regulation และ ปตท.สผ. ดูแลปลายทาง เรื่องการเก็บลงหลุมเช่นใต้ทะเล”

“เราวาง Scale ของการกักเก็บคาร์บอนว่าจะต้องทำในขนาดที่สามารถช่วยประเทศได้ด้วย เพราะยังมีคนอื่นอีกเยอะแยะที่เค้าไม่รู้จะทำอย่างไร ทั้งโรงไฟฟ้า โรงปูน และอีกหลายอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เยอะมาก ดังนั้น ต้องมี Carbon Sink ให้เขาถ้าขยายได้ก็ค่อยขยายต่อไป ซึ่งในอนาคตมีโอกาสที่จะพัฒนาการให้บริการ CCS เป็นหน่วยธุรกิจใหม่ได้ แต่โครงการนี้ไม่ใช่คิดแล้วจะลงทุนได้ทันที ต้องใช้เวลาหลายปี แต่ถ้าเราไม่เริ่มทำ เรื่อง Net Zero ก็ยากที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะอุตสาหกรรมไฟฟ้า โรงปูน โรงงานต่างก็ปล่อยคาร์บอนจึงต้องหาที่เก็บคาร์บอน”

สำหรับไทม์ไลน์การลงทุน ในปีแรก เราต้องศึกษาโครงสร้างพื้นฐาน มีแผนงานบอกชัดว่าใครมีหน้าที่ทำอะไรตรงไหน ซึ่งเบื้องต้น ปตท. จะดูแลภาพรวมทั้งหมด ส่วนรูปแบบการลงทุน เราเปิดกว้างการลงทุนในต่างประเทศ เพื่อศึกษาองค์ความรู้ก็ได้เช่นกัน เท่าที่ดูตอนนี้มี 2-3 ประเทศที่มีความเชี่ยวชาญเรื่องนี้ ทั้งในสหรัฐฯ สหภาพยุโรป อย่างในสหรัฐฯมีข้อดีในการลงทุนธุรกิจ CCS เพราะมีกฎหมาย IRA (Inflation Reduction Act) ที่ให้การสนับสนุนค่าคาร์บอนไดออกไซด์ ทำให้โอกาสการขยายการลงทุนเป็นไปได้ เพราะอย่างบริษัทในกลุ่ม ปตท. เช่น GC ไปลงทุนธุรกิจไฮโดรคาร์บอนในสหรัฐฯ เค้าก็ต้องหาที่เก็บ ต้องหาวิธี หรือว่าไปใช้บริการของคนที่ทำ CCS อยู่แล้ว

“เทคโนโลยี CCS ในต่างประเทศไม่ได้เป็นเรื่องใหม่ มีการลงทุนทำกันมาเยอะในหลายประเทศ อย่างสหรัฐฯ สหภาพยุโรปก็มีการทำคู่ขนานกันไป กลุ่มประเทศเหล่านี้มีเทคโนโลยี ซึ่งหากเราจะลงทุน ก็อาจจะลงทุนพัฒนาเอง พัฒนาร่วมกับพันธมิตร หรืออาจจะไปลงทุนในต่างประเทศเพื่อเอาเทคโนโลยีก็เป็นไปได้หมด”

จุดพลุไฮโดรเจนอุตสาหกรรม

อีกส่วนหนึ่งที่ช่วยลดคาร์บอน คือ ไฮโดรเจน (Hydrogen) สำหรับภาคอุตสาหกรรม เพราะอุตสาหกรรมไม่ว่าจะเป็นโรงไฟฟ้า โรงกลั่น โรงปิโตรเคมี หากปรับเปลี่ยนมาใช้ไฮโดรเจนเป็นส่วนผสมของเชื้อเพลิง จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ หากเราสามารถใช้ไฮโดรเจนทดแทนไฮโดรคาร์บอนได้ 5% ก็จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 5% เช่นกัน ดังนั้น ต้องทำทั้ง 2 อย่างควบคู่กัน คือทั้ง CCS และไฮโดรเจน

“สมมติว่าจะทำไฮโดรเจน แหล่งที่เป็น Blue Hydrogen คือ ตะวันออกกลาง, สหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย มี 3 ที่ที่เป็นไฮโดรเจนที่แข่งขันได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ไปเยือนประเทศซาอุดีอาระเบีย ท่านก็คุยเรื่องไฮโดรเจนเหมือนกัน ทาง ปตท. ก็ได้มีคุยกับท่านแล้ว ทางซาอุดีอาระเบียก็อยากจะมาลงทุนที่เมืองไทย”

“โอกาสสำหรับไฮโดรเจนในอุตสาหกรรม ตลาดนี้มีศักยภาพใหญ่กว่า Mobility เป็นร้อยเท่า ซึ่งเบื้องต้นเราจะเริ่มลงทุนเพื่อใช้ในกลุ่มอุตสาหกรรมก่อน โดยจะเอาไปใช้เป็นเชื้อเพลิงโรงไฟฟ้า โรงกลั่น แต่ในอนาคต เมื่อสามารถพัฒนาเป็น big scale แล้ว อนาคตอีก 5-10 ปีข้างหน้า อาจจะมีการนำไฮโดรเจนไปทำในเรื่อง Mobility อย่าง OR ตั้งเป้าเป็น Mobility Partner ของคนไทย ต้องศึกษาความต้องการของลูกค้า เช่น น้ำมัน charger สำหรับ EV ในขณะที่การทำธุรกิจของ OR ต้องมีขนาดที่เหมาะสม”

ความท้าทาย CCS – ไฮโดรเจน

“เรามองโอกาสการลงทุนไฮโดรเจนกับ CCS ต้องศึกษาลงลึกหลายปี เพราะยังมีเรื่องระเบียบข้อบังคับกฎหมายที่เกี่ยวข้องอย่างน้อยอีก 4-5 กระทรวง ประเด็นถัดมาคือกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ CCS ซึ่งปัจจุบันใน พ.ร.บ. ปิโตรเลียมมีข้อกำหนดเรื่องการขุด แต่ไม่มีข้อกำหนดเกี่ยวกับการสำรวจพื้นที่และพัฒนาเพื่อกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ ดังนั้นเรื่องนี้เป็น Agenda สำคัญ ซึ่ง ปตท. ต้องทำหน้าที่ประสานงานร่วมกับภาครัฐ เพราะการลงทุนนี้ไม่ใช่เพียงแค่สร้างประโยชน์กับเรา แต่ยังเป็นประโยชน์ของประเทศด้วย”

ซึ่งเราอาจจะมองว่าประเทศไทยไม่สามารถทำ CCS จำนวนมาก ๆ แบบสหรัฐฯ ได้ เพราะเราไม่มีทุน แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง เรามีต้นทุน Carbon Cost หากมีการเรียกเก็บ Carbon Tax 30-50 เหรียญสหรัฐฯ ต่อตันคาร์บอน ซึ่งถ้าเราต้องจ่าย Carbon Tax เราเอาเงินมาลงทุนตรงส่วนนี้ดีกว่า เพราะเม็ดเงินที่เท่ากัน จะนำไปใช้จ่าย Carbon Tax หรือนำไปใช้ซื้อคาร์บอนเครดิตชดเชย เพื่อให้ประเทศไปสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอนได้ก็จริง แต่ทั้งสองเรื่องนี้ไม่ได้ช่วยทำให้คาร์บอนหายไปจากสิ่งแวดล้อม ถ้าหากเราต้องการช่วยให้ประเทศแข็งแรง เราต้องหาวิธีให้ทุอุตสาหกรรมลดคาร์บอนในขณะที่ธุรกิจต้องไปได้ จึงจะเป็นแนวทางที่สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน

ส่วนธุรกิจไฮโดรเจนยังต้องใช้เวลาพอสมควร เพราะระดับราคายังสูง โดยเฉพาะ Green Hydrogen ราคาสูงที่สุด ส่วน Blue Hydrogen ถูกรองลงมา, Grey Hydrogen อาจจะถูกหน่อย แต่โดยรวมก็ถือว่าแพงกว่าปกติ ถ้ายังไม่มีความต้องการ (demand) ที่มากพอ ก็ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยยังสูง ต้องทำให้ถูกลงด้วยเทคโนโลยี และเป็นเรื่องของเวลา ซึ่งตอนนี้กระทรวงพลังงานเริ่มมีนโยบายกำหนดให้ผสมไฮโดรเจน 5% ในเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติสำหรับผลิตไฟฟ้า

อย่างไรก็ตาม ผมมองว่า การทำ Carbon Capture & Storage และ ไฮโดรเจน ไม่ควรจะเป็นเรื่องการ subsidy เพราะจะไม่ยั่งยืน แต่ควรต้องเป็นลงทุนใหญ่ เพราะช่วยลดคาร์บอนในประเทศ และเป็นต้นทุน เพราะฉะนั้น อาจจะมีเรื่องภาษีหรือมาตรการทาง BOI ต้องเข้ามาช่วยกระตุ้นให้เกิดการลงทุนก็ได้ เพราะถ้าต้องลงทุนแล้วแพง นำไปสู่การชาร์จค่าเก็บแพง ก็จะทำให้คนไม่อยากใช้ เพราะเทียบกันแล้วไปซื้อคาร์บอนเครดิตดีกว่า เมื่อไปซื้อคาร์บอนหมด ประเทศก็จะไม่ได้ลดการปลดปล่อยคาร์บอนจริงๆ แม้ว่าจะเข้าสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ได้ แต่คาร์บอนก็ยังอยู่เหมือนเดิม

เป้าหมายภาพอนาคต ปตท.

“ปีแรกของการรับตำแหน่ง เป้าหมาย อยากให้ชัดเจนว่า ปตท. จะทำอะไร ตอนนี้มีวิสัยทัศน์ (vision) “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” เพราะฉะนั้น จะต้องทำให้การทำงานร่วมกับภาครัฐต่าง ๆ ดีขึ้น โดยคิดบนบริบทของความยั่งยืน ทั้ง 3 ด้าน เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องความมั่นคงทางพลังงานก็สามารถช่วยในด้านสังคมได้เช่นกัน”

ในส่วนบริษัทลูกในกลุ่ม ปตท. อย่าง บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ. มีศักยภาพในการหาแหล่งวัตถุดิบที่ดีและมีราคาถูก ก็ควรจะไปหาแหล่งเพิ่ม สร้างกำไรในต่างประเทศ และหากก๊าซหรือน้ำมันที่หาได้ถ้าราคาเหมาะสมก็เอากลับมา ถ้าไม่เหมาะก็เทรดในต่างประเทศได้ เพราะเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันทำกำไรทั่วโลก แต่ที่สำคัญการออกไปลงทุนหาแหล่งพลังงาน ของ ปตท.สผ. จะทำให้เรากลายเป็นผู้เล่นด้านพลังงานที่สำคัญของโลก (global player) เราจะรู้ว่าตรงไหนถูก ดี หรือมีความเสี่ยง ซึ่งทำให้เรามีองค์ความรู้ว่า Geopolitics เป็นอย่างไร แหล่งเป็นอย่างไร รวมถึงเทคโนโลยีต่าง ๆ เพื่อให้สามารถนำมาใช้เป็นแนวทางดำเนินการในประเทศไทยได้

ขณะที่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC มีบทบาทหลักในการสร้าง reliability ไฟฟ้าและ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอน (decarbonized) ให้กับกลุ่ม ปตท. สำหรับการลงทุนต้องทำให้ได้กำไรที่ดี บริหารจัดการเงินให้ดี และเอาเงินมาลงทุนใหม่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งหากมีทุน มีความคิดที่ดีก็ไม่ปิดกั้น แต่ต้องทำหน้าที่หลักให้ดี

“โจทย์คือต้อง decarbonized ให้มากขึ้น โดยสามารถทำได้ทั้งการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าสีเขียว หรือการนำไฮโดรเจนมาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าก็ได้ หรือโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ก็เป็น green เรื่องนี้คงจะยังอีกนาน แต่ก็ต้องศึกษาไว้ เพราะปัจจุบันนี้ ก็มีการใช้อยู่ในเรือดำน้ำขนาด 200 เมกะวัตต์ ปลอดภัย ไม่มีการปล่อยคาร์บอน”

ส่วน บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC นั้นจะต้องปรับแผนสำหรับสินค้าผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีบางอย่างตอนนี้ล้น ต้องหาพาร์ตเนอร์ใหม่ ๆ มาช่วยสร้างความแข็งแรง เน้นขยายการลงทุนไปต่างประเทศและเน้นผลิตสินค้าที่เป็น high value & low carbon

บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP ซึ่งกำลังรอโครงการก่อสร้าง Clean Fuel Project หรือ CFP แล้วเสร็จในอีก 1-2 ปีข้างหน้า ซึ่งจะทำให้กำลังการผลิตเพิ่มสูงขึ้น ทางกลุ่มต้องมาร่วมกันดูเรื่อง synergy optimization ถ้าผลิตล้นจะต้องเพิ่มการส่งออก แต่ไม่ใช่ปัญหาเพราะทุกวันนี้ เราก็ส่งออกไปประเทศเพื่อนบ้านอยู่แล้ว

บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) หรือ IRPC ต้องสร้างความแข็งแรง เพราะการแข่งขันในอาเซียนสูง และสุดท้าย บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ OR เป้าหมายต้องเป็น Mobility Partner ของคนไทย บางอย่างที่ไม่ทำกำไรต้องเลิก บางอย่างก็ต้องทำ ต้องมีขนาดที่พอสมควร จะทำเล็กไปก็ไม่ได้เพราะจะไปแข่งกับประชาชน

ฝ่าความท้าทายพลังงานโลก

ความท้าทายเกิดขึ้นมาโดยตลอด ผมถึงพยายามสื่อสารให้คนเข้าใจมากขึ้นว่า ความมั่นคงทางพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าพูดเรื่องนี้เมื่อ 5 ปีที่แล้ว อาจไม่มีใครสนใจ เพราะมีเพียงพอกับการใช้ของตน ซึ่งในความเป็นจริง ก๊าซที่ใช้ในปัจจุบัน ครึ่งหนึ่งเราใช้จากอ่าวไทย ส่วนอีกครึ่งเป็นการนำเข้า LNG มาทางเรือและก๊าซธรรมชาติจากเมียนมาซึ่งเกินกว่า 10% แล้ว การหาแหล่งพลังงานเพื่อสร้างความมั่นคงจึงเป็นเรื่องสำคัญ อย่างเรื่องพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา (OCA) เป็นเรื่องสำคัญต้องส่งเสริม ซึ่งอาจพิจารณาทำคล้ายกับพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (Joint Development Area : JDA) ก็ได้ โดยไม่ตกลงว่าเป็นของใครเพื่อให้มีประโยชน์กับทั้งคู่ เนื่องจากเป็นก๊าซที่มีองค์ประกอบเนื้อก๊าซที่ดี จึงเป็นเรื่องความมั่นคงทางด้านพลังงาน เราต้องเน้นเรื่องนี้ ต้องหาแหล่งที่ดี ซึ่งการเจรจากว่าจะตกลงกัน ต้องมีอย่างต่ำ 5 ปี

สุดท้าย ซีอีโอ ปตท. ให้บทสรุปว่า ไม่ว่าจะมีความท้าทายในด้านพลังงานอย่างไร ปตท.ต้องมีทิศทางชัดเจน เป็นวิสัยทัศน์ของเรา “ปตท. แข็งแรงร่วมกับสังคมไทยและเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน” ซึ่งทั้งการสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย และการสร้างการเติบโตทางธุรกิจนั้น จะต้องอยู่บนพื้นฐานของความยั่งยืนอย่างสมดุล ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และการมีธรรมาภิบาลที่ดี โดยการสร้างความมั่นคงทางพลังงานเป็นเรื่องสำคัญ