ซื้อปลาหมอคางดำผลิตน้ำหมักชีวภาพ ใกล้เต็มโควตา จ่อชง ครม.เคาะ วาระแห่งชาติ

นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์

โฆษกกรมประมง แจงโควต้าการรับซื้อปลาหมอคางดำโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยางทะลุ 5.38 แสน กิโลกรัม เหลือ 61,477 กก. จ่อ ชง ครม. เคาะวาระแห่งชาติ ไฟเขียวงบกลาง

วันที่ 19 สิงหาคม 2567 นายสุวัฐน์ วงศ์สุวัฒน์ รองอธิบดีกรมประมง ในฐานะโฆษกกรมประมง เปิดเผยว่าจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของปลาหมอคางดำ กรมประมงได้ดำเนินการแก้ไขปัญหามาอย่างต่อเนื่อง

ซึ่งกรมประมงร่วมกับการยางแห่งประเทศไทยได้มีการจัดตั้งจุดรับซื้อ ในราคากิโลกรัมละ 15 บาท ค่ารวบรวมที่จุดรับซื้อ 5 บาท/กิโลกรัม ส่งมอบให้สถานีพัฒนาที่ดินผลิตเป็นน้ำหมักชีวภาพ และการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ในโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง

โดยได้เปิดจุดรับซื้อปลาหมอคางดำเป็นระยะเวลา 1 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 – 31 สิงหาคม 2567 ซึ่งมีเป้าหมายการรับซื้อปลาหมอคางดำเพื่อผลิตน้ำหมักชีวภาพจำนวน 600,000 กิโลกรัม โดยขณะนี้ปริมาณการรับซื้อวัตถุดิบปลาหมอคางดำถึงวันที่ 19 สิงหาคม 2567 รวมทั้งสิ้น 538,523 กิโลกรัม คงเหลือที่จะรับซื้อได้อีก 61,477 กิโลกรัม โดยได้จัดสรรโควต้าที่เหลือทั้งหมดให้แต่ละจังหวัดไปแล้ว

เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาช่องว่างของการจับปลาหมอคางดำ กรมประมงขอประชาสัมพันธ์ชี้แจง เรื่องชะลอการรับซื้อปลาหมอคางดำ ตามโครงการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง โดยขอให้ประชาชน ชาวประมงผู้จับปลา และเกษตรกรที่ประสงค์จะจำหน่ายปลา ประสานกับสำนักงานประมงจังหวัดในพื้นที่ล่วงหน้า เพื่อให้สามารถบริหารจัดการผลผลิตปลาที่จับได้อย่างลงตัวควบคู่ไปกับปริมาณโควต้าที่เหลือของแต่ละจังหวัด

สำหรับการจับปลาที่ค้างในบ่อของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และกรุงเทพฯ เกษตรกรสามารถนำปลาหมอคางดำไปจำหน่ายได้โดยตรงที่ บริษัท ศิริแสงอารำพี จำกัด จังหวัดสมุทรสาคร ในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม ปริมาณการรับซื้อ 25,000 กิโลกรัม/วัน

ADVERTISMENT

ส่วนจังหวัดอื่นที่มีการระบาด กรมประมงกำลังดำเนินการจัดสรรงบประมาณเหลือจ่ายเพื่อจัดซื้อปลาหมอคางดำเฉพาะที่จับจากแหล่งน้ำธรรมชาติเท่านั้น ซึ่งจะสามารถดำเนินการจัดซื้อได้ภายในสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป

นอกจากนี้ กรมประมงได้เสนอโครงการแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบจาก ครม. พร้อมทั้งเสนอของบกลางเพื่อใช้ในการดำเนินการตามมาตรการที่ 1 เป็นการเร่งด่วน และหากมีผลความคืบหน้า จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบต่อไป

ADVERTISMENT

อนึ่ง การแก้ปัญหาปลาหมอคางดำเป็นไปตามนโยบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งมีนายอรรถกร ศิริลัทธยากร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะมาตรการที่ 1 การควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำทุกแห่งที่พบการแพร่ระบาด โดยการจับออกจากแหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเครื่องมือประมงที่มีประสิทธิภาพ และมาตรการที่ 3 การนำปลาหมอคางดำที่กำจัดออกจากระบบนิเวศไปใช้ประโยชน์ เพื่อให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการควบคุมและกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ

ชาวจันทบุรี-กรมประมง-ซีพีเอฟ ร่วมล่าปลาหมอคางดำอ่าวคุ้งกระเบน 649 กก.

จังหวัดจันทบุรี พร้อมกับ สำนักงานประมงจังหวัดจันทบุรี ผนึกพลังทุกภาคส่วน จัดกิจกรรม “ลงแขก-ลงคลอง” ขึ้นครั้งที่ 2 ณ บริเวณอ่าวคุ้งกระเบน อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรี ล่าปลาหมอคางดำได้ 649 กิโลกรัม.ส่งมอบให้ ซีพีเอฟ ยืนยันยังพบปลาชนิดอื่นๆ ทั้ง ปลากะพง ปลานวลจันทร์ ปลาสาก ปลาขนุน

วันที่ 19 สิงหาคม 2567 นายวิสุทธิ์ ประกอบความดี รองผู้ว่าราชการจังหวัดจันทบุรี เป็นประธานเปิดกิจกรรม “ลงแขก ลงคลอง…ล่าปลาหมอคางดำ โดยมี นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี พร้อมด้วย หน่วยงานประมงในจังหวัดจันทบุรี ภาครัฐ ภาคเอกชน รวมถึงภาคีเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดจันทบุรี เครือข่ายประมงพื้นบ้าน และทีมล่าปลาหมอคางดำร่วมกิจกรรมประมาณ 200 คน โดยมี ซีพีเอฟ นำพนักงานจิตอาสา ร่วมสนับสนุนอุปกรณ์การจับปลา ช่วยเตรียมอาหารกลางวัน และน้ำดื่มให้กับผู้ร่วมกิจกรรมอีกด้วย


นายสมพร รุ่งกำเนิดวงศ์ ประมงจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า กรมประมง โดยประมงจันทบุรี ร่วมมือกับทุกภาคส่วน เปิดปฏิบัติการครั้งที่ 2 ในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นการจัดต่อเนื่องจากการปฏิบัติการครั้งแรกที่อำเภอนายายอามเมื่อวันที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมาซึ่งสามารถจับปลาหมอคางดำได้ 3 กิโลกรัมแต่จับปลาชนิดอื่นๆ ได้มากกว่า 30 กิโลกรัม สะท้อนให้เห็นว่าในอำเภอนายายอามยังมีความหลากหลายของสัตว์น้ำพื้นถิ่น

ล่าสุดกิจกรรมในวันนี้ แบ่งทีมจับปลาในพื้นที่อ่าวคุ้งกระเบนออกเป็น 3 จุด ได้แก่ พื้นที่อ่าวคุ้งกระเบน คลองชลประทานที่ส่งน้ำให้ผู้เลี้ยงกุ้ง และบ่อเลี้ยงกุ้งที่รกร้าง ควบคู่กับการเลือกใช้เครื่องมือที่เหมาะสมกับพื้นที่ ส่งผลให้สามารถจับปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้ 649 กิโลกรัม ขณะเดียวกันยังพบปลาชนิดอื่นอีกหลายชนิด อาทิ ปลานวลจันทร์ ปลาสาก ปลาขนุน ปลากะพง

โดยประมงจันทบุรีจะนำปลาที่จับได้ส่งมอบให้สำนักงานพัฒนาที่ดินสำหรับผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง และแบ่งปันปลาให้กับชาวบ้านนำกลับไปบริโภค

นายสมพรกล่าวต่อว่า จังหวัดจันทบุรี ได้บูรณาการทุกภาคส่วนดำเนิน 3 ยุทธวิธีแบบมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนแก้ปัญหาปลาหมอคางดำ ประกอบด้วย การจัดกิจกรรมล่าปลาหมอคางดำใน 2 พื้นที่ ได้แก่ อำเภอนายายอาม และอำเภอท่าใหม่ การปล่อยปลาผู้ล่าเพื่อกำจัดลูกอ่อนของปลาหมอคางดำ โดยประมงจันทบุรีปล่อยปลาหลายชนิด ทั้งปลากะพง ปลาอีกง ปลาปิ่นแก้ว เป็นต้น รวมถึงการสร้างการรับรู้ของประชาชน ขอความร่วมมือชาวประมงให้ช่วยกันจับปลาชนิดนี้ขึ้นมาจากแหล่งน้ำให้เร็วที่สุด

ด้านนายอดิศร์ กฤษณวงศ์ ผู้บริหารสูงสุดสายงานรัฐกิจและเอกชนสัมพันธ์ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟตระหนักถึงความเร่งด่วนของการจัดการปลาหมอคางดำ เดินหน้า 5 โครงการเชิงรุกอย่างจริงจัง บูรณาการความร่วมมือกับหลายภาคส่วนทั้งกรมประมง โรงงานปลาป่น ผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการ และสถาบันการศึกษาเพื่อเร่งกำจัดและตัดวงจรของปลาชนิดนี้ออกจากแหล่งน้ำของไทยให้มากและเร็วที่สุด

สำหรับการดำเนินงาน ประกอบด้วย โครงการสนับสนุนกรมประมงรับซื้อปลาหมอคางดำผลิตปลาป่น 2,000,000 กิโลกรัม ที่ผ่านมาร่วมกับโรงงานศิริแสงอารำพีรับซื้อไปแล้วมากกว่า 605,860 กิโลกรัม โครงการสนับสนุนปลานักล่า 200,000 ตัว ให้ประมงจังหวัดต่างๆ ปล่อยลงแหล่งน้ำโดยส่งมอบไปแล้ว 54,000 ตัว การสนับสนุนกรมประมงจัดกิจกรรมจับปลาออกจากระบบนิเวศไปแล้ว 12 จังหวัดและยังเดินหน้าสนับสนุนจัดกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีโครงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหาร รวมถึง โครงการสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญและมหาวิทยาลัยในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีควบคุมปริมาณปลาหรือตัดวงจรการแพร่พันธุ์ในระยะยาว