
บ้านปู พาวเวอร์ เปิดแผน 3 ปี’67-69 เทงบฯลงทุน 500-700 ล้านเหรียญสหรัฐ ลุยเจรจา M&A ลงทุน โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน-CCGT ในสหรัฐ หนุนบรรลุเป้าหมาย 5,300 เมกะวัตต์ เร็วกว่าเป้าปี’73
วันที่ 21 สิงหาคม 2567 นายอิศรา นิโรภาส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BPP กล่าวว่า บริษัทพิจารณางบฯลงทุน 3 ปี ระหว่าง ปี 2024-2026 (2567-2569) ไว้ที่ 500-700 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โดยจะมุ่งเป้าไปที่ธุรกิจโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ที่ใช้เทคโนโลยี Combined Cycle Gas Turbines (CCGT) และ โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน (Energy Infrastructure) คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือน พ.ย.นี้
โดยหลังจากได้ข้อสรุปดังกล่าวจะทำให้ต้องทบทวนเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่จากเดิมตั้งเป้ากำลังการผลิตรวม 5,300 เมกะวัตต์ ใน 5 ปี (ปี’68-73) ซึ่งปัจจุบันมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 3,656 เมกะวัตต์แล้ว
“แนวโน้มการดำเนินงานในครึ่งปีหลัง 2567 คาดว่าจะเติบโตดีอย่างต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก ปี 2567 มีกำไรสุทธิ 1,659 ล้านบาท เพราะในช่วงครึ่งปีหลัง จะเป็นช่วงไฮซีซั่น จาก GGCT ในสหรัฐอเมริกา คาดว่าผลกำไรในปี 2567 จะใกล้เคียงกับปีก่อน (2566) ที่ระดับ 4,000 ล้านบาท หากไม่นับรวมรายการกำไรพิเศษจากการขายสินทรัพย์ประมาณ 1,300 ล้านบาท”
ทั้งนี้ BPP ได้ขยายพอร์ตให้ครอบคลุมไปถึงการพัฒนา Energy Infrastructure และธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน (Battery & Energy Storage System : BESS) ซึ่งล่าสุดบริษัทอยู่ระหว่างทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ประโยชน์จากแอมโมเนีย มาช่วยลดการเผาถ่านหิน และไฮโดรเจน เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
พร้อมกันนี้ยังได้ขยายพอร์ตการลงทุนในธุรกิจพลังงานหมุนเวียน ได้ติดตั้งโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Ponder Solar ขนาด 2.5 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ในพื้นที่แหล่งก๊าซธรรมชาติ บาร์เนตต์ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา มีกำหนดเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ยังได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) กับ Gemeng International Energy ในการร่วมพัฒนาธุรกิจพลังงานในรูปแบบใหม่ ธุรกิจระบบจัดเก็บพลังงาน และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับพลังงานสะอาด เพื่อขยายโอกาสการเติบโตของธุรกิจพลังงานหมุนเวียนในประเทศจีน
ด้านธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน BPP ได้ลงทุนผ่านบ้านปู เน็กซ์ ในสัดส่วนร้อยละ 50 มีความคืบหน้าในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา โดยธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา ได้ลงนามสัญญาเพื่อผลิตและจ่ายกระแสไฟฟ้าให้กับพันธมิตรในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีกำลังผลิตตามสัดส่วนการลงทุนรวม 100 เมกะวัตต์ ธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงาน เริ่มสายการผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนของโรงงาน SVOLT Thailand และส่งมอบแบตเตอรี่ลิเทียมนิกเกิลแมงกานีสโคบอลต์ออกไซด์ (NMC) ชุดแรกให้กับผู้ให้บริการรถบัสรายใหญ่ที่สุดในไทย
ขณะที่โครงการแบตเตอรี่ฟาร์มอิวาเตะ โตโนะ (Iwate Tono) ในญี่ปุ่น มีความคืบหน้าในการก่อสร้างถึง 97% ธุรกิจอีโมบิลิตี้ รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า MuvMi เดินหน้าขยายเส้นทางการให้บริการอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันได้ให้บริการรับส่งแล้วมากกว่า 13 ล้านเที่ยว ธุรกิจการบริหารจัดการพลังงาน ได้ลงนามในสัญญาบริการจำนวน 25 สัญญาให้แก่ SB Design Square ในจังหวัดภูเก็ต และ SB Design Square CDC ในกรุงเทพฯ
นอกจากนี้ หน่วยงาน Corporate Venture Capital ยังได้ลงทุนใน enspired ผู้นำในการพัฒนาแพลตฟอร์มให้บริการซื้อ-ขายพลังงานไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะช่วยพัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยี AI ที่จะยกระดับการดำเนินงานในธุรกิจแบตเตอรี่และการซื้อขายพลังงานของบ้านปู เน็กซ์