ปตท.ลุย CCS-ไฮโดรเจน หนุน ESG ต้องสร้างสมดุลอย่างยั่งยืน

ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ปตท.
ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง

ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ภาคพลังงาน” ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด ต้องก้าวสู่การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) ซึ่ง ปตท.นับว่าเป็นต้นแบบหนึ่ง ในฐานะบริษัทพลังงานแห่งชาติที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศไปพร้อมกับการสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืน

“ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) บรรยายพิเศษในหัวข้อ Time For Action ในงานสัมมนา “PRACHACHAT ESG FORUM 2024” ที่จัดขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า ปตท.ถูกจัดตั้งมาเป็นบริษัทพลังงานแห่งชาติ มีบทบาทหน้าที่สำคัญต่อประเทศ จึงมีวิสัยทัศน์ในการสร้างความแข็งแรงร่วมกับสังคมไทย ซึ่งประกอบไปด้วยการมีพลังงานใช้อย่างเพียงพอและมีต้นทุนที่แข่งขันได้และเติบโตในระดับโลกอย่างยั่งยืน ตอบสนองสังคมไทยและสอดคล้องกับทิศทางของโลก

“ความยั่งยืนของ ปตท.คือ เราต้องสร้างความสมดุล ระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ผลิตภัณฑ์สินค้าสอดรับกับเมกะเทรนด์” ดร.คงกระพันกล่าว

ปตท. ทำแบบเดิมไม่ได้

ดร.คงกระพันกล่าวต่อไปว่า ธุรกิจหลักของ ปตท. ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจไฮโดรคาร์บอน ซึ่งเกี่ยวกับการผลิต สำรวจก๊าซธรรมชาติและน้ำมัน ที่นับว่าเป็นพลังงานหลักของโลกไปอีกอย่างน้อย 30 ปี ดังนั้น ปตท.ต้องทำเรื่องที่ถนัดให้ดี แต่จะทำแบบเดิมไม่ได้ เพราะ Mandate ของ ปตท. คือต้องสร้างความมั่นคงทางพลังงาน จึงจำเป็นต้องหาพลังงานที่ดีด้วย

เช่น การขุดสำรวจและผลิตน้ำมันจำเป็นต้องมีความสมดุลด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น ทำให้ใช้ก๊าซและถ่านหินน้อยลงกว่าเดิม ซึ่งแตกต่างจากก๊าซธรรมชาติที่เป็นวัตถุดิบและเชื้อเพลิงที่สำคัญของประเทศไทย ก๊าซธรรมชาติประมาณ 50% มาจากอ่าวไทย และส่วนที่เหลือมาจากพม่า และการนำเข้า LNG เพราะฉะนั้น ก๊าซจึงถือว่าเป็นไฮโดรเจนและเป็นพลังงานสะอาดแบบดั้งเดิม

“ปตท.อยากเป็นบริษัทที่ทำให้คนไทยภาคภูมิใจ เนื่องจากเราเติบโตในระดับโลกหลาย ๆ ด้าน ซึ่งการที่จะเติบโตในระดับโลกก็ต้องทำธุรกิจที่มีความยั่งยืน มีกำไรกลับมาก็ถือว่าได้ช่วยประเทศไทย”

Advertisment

วางกลยุทธ์ 3C

การสร้างความมั่นคงทางพลังงานควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของ ปตท. ต้องดำเนินธุรกิจเรื่องก๊าซ น้ำมัน ควบคู่ไปกับการใส่ใจสิ่งแวดล้อมและลดภาวะโลกร้อน ผ่านการบูรณาการความยั่งยืน เข้าสู่การทำธุรกิจและสร้างสมดุล ESG (Environment, Social และ Governance) ให้เหมาะสมกับธุรกิจขององค์กร ผ่าน 3 เรื่อง คือ หลัก C3 Approach ประกอบด้วย

C1 คือ Climate-Resilience Business เป็นการทำธุรกิจที่ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดย ปตท.ได้ปรับพอร์ตธุรกิจควบคู่ไปกับบริษัทในกลุ่ม เช่น PTT ออกจากธุรกิจถ่านหินมาทำก๊าซธรรมชาติที่เป็นพลังงานสะอาด เพื่อลดคาร์บอนมากขึ้น, PTTEP มีการปรับพอร์ตโฟลิโอเน้นการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม ก็เปลี่ยนมาเลือกพลังงานที่เป็นก๊าซมากขึ้น

Advertisment

ทั้งนี้ ธุรกิจที่แสดงให้เห็นทิศทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ชัดเจน คือ ธุรกิจเกี่ยวกับไฟฟ้า เช่น GPSC ซึ่งเป็นธุรกิจไฟฟ้าในกลุ่ม ปตท. ใช้กระบวนการลดระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) ให้กับกลุ่มมากขึ้น โดยจะต้องพัฒนาพลังงานสีเขียว (Green Energy) มากขึ้นเรื่อย ๆ และในอนาคตอาจจะต้องใช้ก๊าซหรือใช้ไฮโดรเจนเพิ่มขึ้น เนื่องจากโมเลกุลของไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอน

นอกจากนี้จำเป็นต้องศึกษาโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก (SMR) ซึ่งเป็นพลังงานสะอาดอีกประเภทหนึ่ง ขณะที่กลุ่มธุรกิจเคมี เช่น PTT Global Chemical, IRPC มุ่งสร้างผลิตภัณฑ์ที่ปล่อยคาร์บอนต่อตันน้อยลง สามารถตอบสนองต่อความต้องการของลูกค้าได้ ยังคงโจทย์เดิมที่ลูกค้าเลือกแต่ดีขึ้นกว่าเดิม เพื่อลดคาร์บอนต่อหน่วยการผลิต

C2 คือ Carbon Conscious Business เป็นเรื่องที่ทุกอุตสาหกรรมสามารถทำได้ คือการลดคาร์บอนจากการนำพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีมาใช้ในกระบวนการผลิต เพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

อย่างไรก็ตาม ทุกอุตสาหกรรมสามารถลงมือทำได้ เพียงแต่ต้องมีการลงทุน ซึ่งก็ถือว่าคุ้มทุนเนื่องจากการลดการใช้พลังงานและลดคาร์บอนจะทำให้รีเทิร์นดีขึ้นด้วย

C3 คือ Coalition-Cocreation and Collective Efforts for All เป็นประเด็นที่สำคัญ ปตท.จะมุ่งเป้าสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ ไม่ได้หมายความว่า ปตท.จะไม่ปล่อยคาร์บอนเลย เพียงแต่การดำเนินการของ ปตท. คือ ปล่อยคาร์บอนปริมาณเท่าไรก็เก็บกลับมาเท่านั้น

“Operation ทั้งหมดของ ปตท. จะไม่ปล่อยให้เกิดก๊าซเรือนกระจก ยังปล่อยอยู่บ้าง แต่ต้องเก็บให้หมด เพราะฉะนั้น วิธีเก็บที่ง่ายที่สุดคือ การปลูกป่า ซึ่ง ปตท.ปลูกไปแล้ว 1 ล้านไร่ เพียงแต่อาจจะช่วยได้ไม่หมด จึงต้องทำ Carbon Capture”

CCS นำร่องอ่าวไทย

ดร.คงกระพันกล่าวต่อไปว่า ปตท.ใช้เทคโนโลยีในการเก็บคาร์บอนในอากาศคงไว้ในสถานะของเหลว (Liquid) ขั้นตอนต่อไปคาร์บอนก็จะถูกส่ง (Transport) ไปยังใต้ดิน หรือใต้มหาสมุทร เช่น ในสหรัฐอเมริกา Carbon Capture and Storage (CCS) สามารถทำได้แทบทุกพื้นที่ในประเทศ ในส่วนของภูมิภาคยุโรปเหนือ (Northern Europe) ก็มีการทำ CCS ในหลายประเทศ

ประเทศไทยนับว่ามีความโชคดีที่มีหลุมก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่เคยถูกขุดเจาะและสามารถใช้งานได้อยู่ จึงนำคาร์บอนไดออกไซด์ที่เก็บได้ไปกักเก็บไว้ในหลุมดังกล่าว โดยกลุ่ม ปตท.ทำหน้าที่ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานสำหรับกักเก็บ ขณะ ปตท.สผ.ก็ทำแซนด์บอกซ์ นำคาร์บอนกลับไปเก็บไว้ใต้ทะเล เพราะความเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ

ทั้งนี้ ประเทศไทยยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติอีกหลายปี เป็นพลังงานที่หาง่ายและราคาถูก แต่จะมีต้นทุนที่สูงจาก Carbon Tax จึงต้องเอาการกักเก็บคาร์บอนมาช่วย ปตท.จะเป็นผู้จะเริ่มก่อนและค่อย ๆ ทำให้ Scale ใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ

สิ่งที่เป็นความท้าทาย คือ การ Unlock และปรับระเบียบข้อบังคับของกฎหมายที่ยังไม่สอดคล้องกับบริบทในปัจจุบัน ซึ่งจำเป็นต้องร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐด้วย

“เราไม่มีทางก้าวเข้าสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero) ได้ ถ้าไม่มีการกักเก็บคาร์บอน (CCS)”

ไฮโดรเจนอุตสาหกรรม

อีกด้านหนึ่ง ปตท.กำลังเอาเชื้อเพลิงที่ไม่มีคาร์บอนมาใช้ หรือไฮโดรเจน ภาคอุตสาหกรรม เพราะโครงสร้างโมเลกุลของไฮโดรเจนไม่มีคาร์บอน สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ซึ่งอุตสาหกรรมในประเทศที่ใช้ก๊าซธรรมชาติ เช่น โรงไฟฟ้าก็เริ่มทยอยนำไฮโดรเจนมาผสม ซึ่งอยู่ในแผนพลังงานชาติ จะมีการใช้ไฮโดรเจนในโรงไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่ 5% ทุก ๆ เปอร์เซ็นต์ของไฮโดรเจนที่นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิง ก็จะเป็นตัวบ่งชี้ปริมาณการลดคาร์บอน

ปตท.สผ. มีแหล่งที่ผลิตไฮโดรเจน แต่ในสภาวะที่เป็นไฮโดรเจนทำให้การขนส่งค่อนข้างยากและราคาแพง จึงเปลี่ยนเป็นแอมโมเนียแทน ซึ่งทุกวันนี้ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ กำลังเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับไฮโดรเจนเกือบทั้งหมด ขณะที่ตะวันออกกลาง สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย อินเดีย ทำได้ดี อย่างไรก็ตาม ในช่วงแรกอาจจะต้องมีการนำเข้าไฮโดรเจน ถ้าประเทศไทยสามารถพัฒนาให้ราคาไฮโดรเจนถูกลง ท้ายที่สุดสามารถนำมาใช้ได้

“ทั้งหมดเป็นการลดคาร์บอน ซึ่งต้องทำ 2 อย่างควบคู่กันไป คือ Carbon Capture ใช้เทคโนโลยีเก็บคาร์บอน เก็บไว้ในหลุมอ่าวไทย อีกส่วนหนึ่งก็ทยอยนำไฮโดรเจนมาทดแทนก๊าซธรรมชาติ เชื้อเพลิง น้ำมันเตาที่ปล่อยคาร์บอน ซึ่งตรงกับ Mandate ของ ปตท. ในการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยได้ ขณะที่ OCA ปตท.ก็ไปสำรวจเพิ่ม ทำให้ไทยมีก๊าซที่ใกล้ตัวมากขึ้น หากเกิดปัญหาจีโอโพลิติกส์เรามีของใช้”

ความมั่นคง อย่างยั่งยืน

คีย์เวิร์ดคือ ความมั่นคงทางพลังงาน และการมีต้นทุนที่เหมาะสม ดังนั้นจึงทำธุรกิจควบคู่ไปกับความยั่งยืน ปตท.ถือว่าเป็นบริษัทของรัฐและบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงช่วยแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน และเศรษฐกิจไทย โดยในสถานการณ์วิกฤต ปตท.ไปช่วยเหลือ เช่น การสนับสนุนส่งเงินเข้ากองทุน, การตรึงราคา NGV ที่ยังทำอย่างต่อเนื่อง เพราะรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการใช้ก๊าซ NGV สำหรับยานยนต์อย่างเป็นรูปธรรม

“ปตท.ดำเนินงานด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม และมุ่งมั่นขับเคลื่อนธุรกิจให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่มีความยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs) รวมถึงใช้เงินทุนที่มีอยู่อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยเหลือสังคม เศรษฐกิจ สอดคล้องกับการรับรู้เป้าหมายว่า ปตท.ทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร และช่วยใครอย่างไร”