
ร้อนแล้งต้นปี’67 ฉุดผลผลิตผลไม้ภาคใต้หด 18% เหลือไม่ถึง 7 แสนตัน “ทุเรียน” วูบ 14% เหลือ 5.26 แสนตัน
วันที่ 3 กันยายน 2567 นายนิกร แสงเกตุ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 8 สุราษฎร์ธานี (สศท.8) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงผลสรุปข้อมูลเอกภาพไม้ผลภาคใต้ ปี 2567 (ข้อมูล ณ 6 สิงหาคม 2567) สรุปตัวเลขผลผลิตไม้ผลภาคใต้ 4 ชนิด
ได้แก่ ทุเรียน มังคุด เงาะ และลองกอง ในพื้นที่ 14 จังหวัด (ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ พังงา ระนอง ภูเก็ต ตรัง พัทลุง สงขลา สตูล ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส) คาดว่าปีนี้ผลผลิตรวมทั้งในฤดูและนอกฤดู จำนวน 699,235 ตัน (ในฤดู 592,637 ตัน นอกฤดู 106,598 ตัน) ลดลงจากปี 2566 ที่มีจำนวน 848,094 ตัน หรือลดลง 18%
โดยทุเรียน 526,005 ตัน ลดลง 14% มังคุด มีจำนวน 110,390 ตัน ลดลง 26% เงาะ 40,105 ตัน ลดลง 25% และลองกอง มีจำนวน 22,735 ตัน ลดลง 33%
“ภาพรวมผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพอากาศร้อนและแล้งมากตั้งแต่เดือนมกราคมเป็นต้นมา ดอกและผลร่วง บางพื้นที่เกษตรกรชาวสวนทุเรียนต้องตัดผลทุเรียนทิ้งเพื่อรักษาต้นทุเรียนไว้ ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่ลดลงตามไปด้วย”
สำหรับผลผลิตในฤดูของไม้ผลทั้ง 4 ชนิด จะออกสู่ตลาดเดือนมิถุนายน-ตุลาคม 2567 และผลผลิตนอกฤดูจะออกสู่ตลาด 2 ช่วง คือ เดือนมกราคม-พฤษภาคม 2567 และเดือนพฤศจิกายน-ธันวาคม 2567 ซึ่งขณะนี้เป็นช่วงผลผลิตในฤดูทยอยออกสู่ตลาด
โดยผลผลิตตั้งแต่เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2567 ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 453,682 ตัน หรือ 77% ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด ซึ่งทุเรียนออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 352,813 ตัน หรือ 83% ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด มังคุด ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 63,550 ตัน หรือ 61% ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด เงาะ ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 33,261 ตัน หรือ 86% ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด และลองกอง ออกสู่ตลาดไปแล้ว จำนวน 4,058 ตัน หรือ 18% ของผลผลิตในฤดูทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสภาพอากาศแปรปรวน อาจส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม้ผลเปลี่ยนแปลงลดลงทั้งในช่วงในฤดูและนอกฤดูที่จะมาถึงในอีก 2 เดือนข้างหน้า การวางแผนในเรื่องของการจัดหาแหล่งน้ำในอนาคตให้เพียงต่อความต้องการของผลไม้ นับเป็นปัจจัยสำคัญต่อปริมาณและคุณภาพผลไม้ เพื่อรองรับความไม่แน่นอน ความแปรปรวนของสภาพอากาศ โดยเฉพาะทุเรียน จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงและมีการวางแผนสำหรับการลงทุนในระยะยาวต่อไป