เปิดภาพดาวเทียม น้ำท่วม อ.ฮอด – อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ อัพเดตล่าสุด

GISTDA เผยภาพจากดาวเทียมไทยโชต ความเสียหายน้ำท่วม อ.ฮอด – อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ด้านกรมชลประทาน เดินหน้าบรรเทาความเดือดร้อนน้ำท่วม จ.เชียงใหม่ พร้อม อัพเดทสถานการณ์น้ำล่าสุด

วันที่ 7 ตุลาคม 2567 สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เปิดเผยภาพจากดาวเทียมไทยโชตที่บันทึกภาพไว้เมื่อสายของวันที่ื 7 ตุลาคม 2567 บริเวณ อ.ฮอด และ อ.ดอยเต่า จ.เชียงใหม่ ที่ได้รับผลกระทบจากฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่อง จนทำให้แม่น้ำปิงและทะเลสาบดอยเต่ามีปริมาณน้ำล้นตลิ่ง ส่งผลให้หลายพื้นที่ของ อ.ฮอด และ อ.ดอยเต่า มีน้ำท่วมขัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร เส้นทางคมนาคม และที่อยู่อาศัยบางส่วน

สถานการณ์ดังกล่าว GISTDA ได้ส่งข้อมูลภาพจากดาวเทียมดังกล่าวให้กับหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบ เพื่อนำไปใช้สนับสนุนในการบริหารจัดการตามภารกิจ ทั้งด้านการวางแผน และการติดตาม เพื่อประเมินสถานการณ์ต่อไป

สำหรับการติดตามสถานการณ์น้ำท่วมขัง GISTDA ได้วางแผนและปรับแผนรับสัญญาณดาวเทียม เพื่อวิเคราะห์ ติดตามสถานการณ์ในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมอย่างต่อเนื่อง

อีกด้านหนึ่งรายงานข่าวจากกรมชลประทาน ระบุว่า จากสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ กรมชลประทาน ได้มีการประสานงานและบูรณาการร่วมกับหน่วยงานในพื้นที่ ในการบริหารจัดการน้ำ ตลอดจนสนับสนุนทรัพยากร เครื่องจักร เครื่องมือ และเจ้าหน้าที่ รวมทั้งประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์น้ำปิงล้นตลิ่งท่วมพื้นที่เมืองเชียงใหม่ และให้ความช่วยเหลือฟื้นฟูพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง

สำนักงานชลประทานที่ 1 ได้ดำเนินการติดตั้งเครื่องสูบน้ำในหลายพื้นที่เพื่อเร่งระบายน้ำ ในหลายพื้นที่ อาทิ ทางแยกรวมโชค ตำบลฟ้าฮ่าม อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ประตูระบายน้ำปลายเหมือง ฝายชลขันธ์พินิจ (แม่ปิงเก่า) และสถานีสูบน้ำด้วยไฟฟ้าร่องกาศ ตำบลริมปิง อำเภอเมือง จังหวัดลำพูน

Advertisment

และโรงเรียนเรยีนาเชลีวิทยาลัย ตำบลช้างคลาน อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อลดผลกระทบและบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนในพื้นที่ที่กำลังประสบปัญหาอุทกภัยพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และรอยต่อจังหวัดลำพูน โดยได้เร่งระบายน้ำในแม่น้ำปิง พร้อมดำเนินการยกบานระบายน้ำของอาคารชลประทานต่าง ๆ รวมทั้งนำเครื่องจักร เครื่องมือ เข้าไปกำจัดเศษขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำไหลที่ไหลมากับน้ำอย่างต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ได้มีการลงพื้นที่มอบถุงยังชีพ จำนวน 100 ถุง ให้กับประชาชนผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่รอยต่อเชียงใหม่ – ลำพูน 3 ตำบล ได้แก่ ตำบลริมปิง ตำบลประตูป่า อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน และตำบลท่ากว้าง อำเภอสารภี จังหวัดเชียงใหม่ พร้อมให้เจ้าหน้าที่เปิดโรงครัวทำข้าวกล่องและน้ำดื่ม มอบให้กับประชาชนในพื้นที่ประสบภัย เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบในพื้นที่เบื้องต้น

Advertisment

ตลอดจนให้ความช่วยเหลือด้านต่าง ๆ โดยบูรณาการร่วมกับจังหวัดเชียงใหม่ สนับสนุนรถขนย้ายผู้ประสบภัย กระสอบทราย และถุงยังชีพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่พักอาศัยบางชุมชนที่ไม่สามารถสัญจรเข้า-ออกได้สะดวก เนื่องจากยังมีสภาพน้ำที่ท่วมขังตามบ้านเรือนและทางสัญจร เดินทางยากลำบาก

อัพเดต สถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

สำหรับสถานการณ์เขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท วันที่ 7 ตุลาคม 2567 เวลา 18.00 น.

สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์

  • ปริมาณน้ำไหลผ่าน : 2,342 ลบ.ม./วินาที

สถานี C13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา จ.ชัยนาท

  • ปริมาณน้ำไหลผ่าน : 2,199 ลบ.ม/วินาที
  • ระดับน้ำเหนือเขื่อน : +17.22 ม.รทก.
  • ระดับน้ำท้ายเขื่อน : +15.10 ม.รทก.
  • ระดับน้ำ ต่ำกว่าตลิ่ง 1.24 เมตร