นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร อธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยว่า จากที่ประธานภาคเครือข่ายชาวสวนยางพาราและปาล์มน้ำมันแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ช่วงครึ่งปีที่ผ่านมาราคาปาล์มน้ำมันตกต่ำ ส่งผลให้ชาวสวนปาล์มประสบภาวะขาดทุนเฉลี่ยกิโลกรัมละ 1.3 บาท หรือประมาณไร่ละ 5,000 บาท ซึ่งเป็นผลจากการประกาศราคารับซื้อน้ำมันปาล์มดิบขององค์การคลังสินค้านั้น กระทรวงพาณิชย์ ขอชี้แจงว่า ในปี 2560 ปริมาณผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยากรณ์มีจำนวน 14.241 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2559 (11.42 ล้านตัน) ร้อยละ 24.70 เนื่องจากเนื้อที่ให้ผลเพิ่มขึ้น และสภาพภูมิอากาศที่มีปริมาณน้ำมันฝนเพียงพอเอื้ออำนวยต่อการให้ผลผลิต ส่งผลให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
โดยผลิตน้ำมันปาล์มดิบได้จำนวน 2.626 ล้านตัน ในขณะที่ความต้องการใช้ภายในประเทศ มีเพียง 2.137 ล้านตัน ส่งผลให้สต็อกน้ำมันปาล์มดิบสูงขึ้นมากอยู่ในระดับมากกว่า 0.40 ล้านตัน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2560 เป็นต้นมา และในปี 2561 ผลผลิตปาล์มน้ำมันที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์พยากรณ์ ว่าจะมีจำนวน 15.399 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปี 2560 ร้อยละ 8.31 เนื่องจากเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2560 เมื่อผลิตเป็นน้ำมันปาล์มดิบที่ อัตราน้ำมัน 17.61% (ค่าเฉลี่ยปี 2560) จะได้น้ำมันปาล์มดิบจำนวน 2.71 ล้านตัน ขณะที่ความต้องการใช้ในประเทศจะอยู่ที่ 2.34 ล้านตัน (ใช้ในการบริโภคและภาคอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวน 1.19 ล้านตัน และด้านพลังงานผลิตเป็น ไบโอดีเซลจำนวน 1.15 ล้านตัน) จะมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบมากกว่าความต้องการใช้อยู่จำนวน 0.37 ล้านตัน เมื่อรวมปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบที่ยกมาจากปี 2560 อีกจำนวน 0.48 ล้านตัน จะมีปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกิน 0.85 ล้านตัน
ขณะที่ระบบควรมีสต็อกน้ำมันปาล์มดิบในระดับปกติ จำนวน 0.25 ล้านตัน ดังนั้น ปริมาณน้ำมันปาล์มดิบส่วนเกินที่ต้องบริหารจัดการ โดยผลักดันส่งออก จำนวน 0.60 ล้านตัน หรือจำเป็นต้องส่งออก เฉลี่ยเดือนละ 50,000 ตัน
ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2560 ภาครัฐโดยคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ มีรองนายกรัฐมนตรี (พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ) เป็นประธาน ได้มีมติให้ลดปริมาณสต็อกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 0.20 ล้านตัน ภายในเดือนธันวาคม 2560 โดยให้ผู้ส่งออก โรงงานสกัดน้ำมันปาล์มเร่งส่งออกน้ำมันปาล์มดิบ จำนวน 0.10 ล้านตัน โดยให้มีการสนับสนุนสิ่งอำนวยความสะดวกการส่งออก เช่น การขนส่งน้ำมันปาล์ม และเรือในการส่งออก และให้กระทรวงพลังงานประสานผู้ค้าน้ำมันซื้อน้ำมันปาล์มดิบไปผลิตเป็นไบโอดีเซลเพื่อสต็อก จำนวน 0.10 ล้านตัน นอกเหนือจากที่ให้ผู้ค้าน้ำมันตามมาตรา 7 สำรองไว้เดิม ซึ่งในปี 2560 ปริมาณ 314,143 ตัน สูงเป็นประวัติการณ์ และสูงกว่าปี 2559 (39,180 ตัน) ร้อยละ 702 และปี 2561 (ม.ค.-มี.ค.61) ปริมาณ 181,829 ตัน สูงกว่าช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา (9,143 ตัน) ถึงร้อยละ 1,889 โดยส่งออกไปประเทศ อินเดีย พม่า กัมพูชา กานา และจีน
และในปี 2561 ราคาผลปาล์มน้ำมัน (อัตราน้ำมัน 18%) เฉลี่ย ม.ค.-พ.ค.61 กก.ละ 3.56 บาท สูงกว่าต้นทุนการผลิตเฉลี่ยทั้งประเทศของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) ที่ กก.ละ 3.01 บาท ส่วนราคาน้ำมันปาล์มดิบ เฉลี่ย ม.ค.-พ.ค.61 กก.ละ 20.02 บาท ซึ่งในปัจจุบัน (1 มิ.ย.61) ราคาผลปาล์มน้ำมัน (อัตราน้ำมัน 18%) และน้ำมันปาล์มดิบ ปรับตัวสูงขึ้น เป็น กก.ละ 4.00 บาท และ 23.00 บาท ตามลำดับ
ดังนั้น ในช่วงปลายปี 2560 – ต้นปี 2561 ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทยลดลงต่ำกว่าของมาเลเซีย จึงไม่จูงใจให้มีการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม และขอยืนยันว่าไม่มีการกำหนดราคาให้ อคส รับซื้อน้ำมันปาล์มที่กิโลกรัมละ 21 บาทแต่อย่างใด
สำหรับการแก้ไขปัญหาคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ได้มีมติ เมื่อวันที่ 11 พ.ค.61 กำหนดมาตรการแก้ไขปัญหาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์ม ปี 2561 โดยมีมาตรการการลดต้นทุน เพิ่มรายได้ให้เกษตรกร และพัฒนาคุณภาพปาล์มน้ำมัน รวมทั้ง ส่งเสริมการปลูกปาล์มน้ำมันพันธุ์ดี โดยมอบหมายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการต่อไป
สำหรับมาตรการการปรับสมดุลน้ำมันปาล์มในประเทศ โดยสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการส่งออกให้กับผู้ส่งออก ไม่เกิน กก.ละ 1.75 บาท เพื่อผลักดันส่งออกน้ำมันปาล์มดิบจำนวน 300,000 ตัน เป็นเวลา 5 เดือน ใช้งบกลางวงเงิน 525 ล้านบาท
นอกจากนี้มีมาตรการกำหนดมาตรฐานโรงงานสกัดน้ำมันปาล์ม ได้มอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมเร่งรัดออกประกาศกำหนดวัตถุดิบและคุณภาพผลิตภัณฑ์ของโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มโดยเร็ว รวมทั้งมีมาตรการการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B 20 ได้มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเร่งรัดดำเนินการตามมติคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) เมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม 2561 ที่เห็นชอบในหลักการแนวทางการส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว B20 ในรถบรรทุกขนาดใหญ่
อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับปัญหาการถ่ายลำ ผ่านแดนน้ำมันปาล์มของมาเลเซียไปยังประเทศเพื่อนบ้านผ่านไทยมอบหมายให้กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หารือร่วมกับกรมศุลกากร พิจารณากำหนดแนวทางการบริหารจัดการ นอกจากนี้การปราบปรามการลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์ม คณะกรรมการ กนป.ได้แต่งตั้งคณะทำงานการแก้ไขปัญหาการนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์ม (คนป.) มีผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก เป็นประธาน ได้ตรวจสอบและจับกุมผู้ที่ลักลอบนำเข้าน้ำมันปาล์มและผลิตภัณฑ์น้ำมันปาล์มทั้งระบบอย่างจริงจัง รวมทั้ง กระทรวงพาณิชย์ ได้ประสานกับฝ่ายความมั่นคง (ทหาร) และกระทรวงการคลัง (กรมศุลกากร) ตรวจสอบ ปราบปรามการลักลอบนำเข้าอย่างจริงจังและต่อเนื่อง