ตัดใบอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5 ได้ไม่คุ้มเสีย 3 ปีการผลิตสิ้นเงินหมื่นล้านไม่เคยทำได้จริง

ตัดใบอ้อยสดลดฝุ่น PM 2.5 ได้ไม่คุ้มเสีย

ชาวไร่อ้อยออกโรงวิพากษ์วิจารณ์นโยบายช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 หลังแบ่งเงิน 120 บาท/ตัน ออกเป็น 2 ก้อนเฉพาะ การตัดใบอ้อยสดยอดอ้อยส่งโรงงานรับเงิน 51 บาท/ตัน ยุ่งยากในทางปฏิบัติจากต้นทุนค่าตัดใบอ้อยค่าขนส่งพุ่ง แถมมีบทปรับ ด้านโรงงานส่วนใหญ่ก็ไม่อยากเข้าร่วม

เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) ได้จัดประชุมเพื่อกำหนดนโยบายการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ฤดูการผลิตปี 2567/68-2569/70 โดยที่ประชุมมีติกำหนดมาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อย 2 มาตรการด้วยกัน คือ มาตรการสร้างแรงจูงใจแก่ชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสด 100% ซึ่งเป็นมาตรการต่อเนื่องจากปีที่ผ่านมา

โดยจะมีการจ่ายเงินสนับสนุนเกษตรกรชาวไร่อ้อยในอัตรา 69 บาทต่อตัน กับมาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อย ซึ่งเป็นมาตรการใหม่ที่จะเริ่มในปีนี้ โดยจะเพิ่มราคารับซื้อใบและยอดอ้อยอีกตันละ 300 บาท จากราคาตลาดปัจจุบันที่มีการรับซื้ออยู่ที่ตันละ 900 บาท ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้เพิ่มให้กับผู้เก็บเกี่ยวอ้อยสดที่มีการขายใบและยอดอ้อยได้อีก 51 บาทต่อตันอ้อย

ADVERTISMENT

ทั้งนี้ กอน.เชื่อว่าทั้ง 2 มาตรการจะสามารถลดสาเหตุการเกิดฝุ่นมลพิษ PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไร่อ้อยเพื่อตัดอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงานน้ำตาล และยังช่วยปัญหาในพื้นที่ที่มีข้อจำกัดที่ทำให้เกิดการลักลอบเผาอ้อยด้วย ทว่าที่ผ่านมาการจ่ายเงินเพิ่มหรือเงินสนับสนุนชาวไร่อ้อยให้ตัดอ้อยสดส่งโรงงานน้ำตาลตันละ 120 บาทย้อนหลังไป 3 ฤดูกาล (2564/65 ถึง 2566/67) ปรากฏยังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งเป้าหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้เข้าหีบลงได้

ในขณะที่มาตรการที่จะนำมาใช้ใหม่ในปี 2567/68 ด้วยการจ่ายเงินเพิ่มรายได้ให้กับชาวไร่อ้อยที่ตัดใบและยอดอ้อยอีกตันละ 300 บาทก็ยังเป็นที่ถกเถียงจากกลุ่มชาวไร่อ้อยทั่วประเทศถึงความเป็นไปได้และความคุ้นต้นทุนในการตัดใบและยอดอ้อยสดอยู่

สอน.แจงมาตรการใหม่

นายใบน้อย สุวรรณชาตรี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม รักษาการเลขาสำนักงานอ้อยและน้ำตาลทราย (สอน.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่ามาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ได้เปลี่ยนรูปแบบใหม่และจะประกาศ “ล่วงหน้า” เพื่อให้ชาวไร่อ้อยรับทราบถึงมาตรการช่วยเหลือของรัฐ

ADVERTISMENT

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการร่างระเบียบเรื่องสัดส่วนการเผาอ้อย บทลงโทษ รวมถึงอัตราการปรับเงินอ้อยไฟไหม้ ที่ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลซึ่งคาดว่า จะอยู่ที่ 100 บาทต่อตัน ร่างระเบียบจะเสร็จเรียบร้อยและเตรียมที่จะเสนอเข้า ครม.ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนนี้ เพื่อให้ทันก่อนการตัดอ้อยที่จะเกิดขึ้นช่วงต้นเดือนธันวาคม 2567 เพราะ โรงงานน้ำตาลจะเริ่มเปิดหีบอ้อยในสัปดาห์ถัดไป

ทั้งนี้ กระทรวงอุตสาหกรรม ได้กำหนดแผนการดำเนินการตามมาตรการแก้ไขปัญหาอ้อยไฟไหม้ ภายใต้โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ไปเมื่อ 3 ปีที่แล้ว โดยมีเป้าหมายลดปริมาณอ้อยไฟไหม้ในปีการผลิต 2564/2565 ไม่เกิน 10% ปี 2565/2566 ไม่เกิน 5% และปี 2566/2567 ต้องไม่มีอ้อยไฟไหม้เลยหรืออยู่ที่ 0% แต่เอาเข้าจริงในฤดูกาลผลิตปี 2565/2566 ที่ควรจะเหลือ 0 “ก็ไม่สามารถทำได้”

ADVERTISMENT

ดังนั้นภาครัฐจึงต้องพยายามกำหนดเป้าหมายใหม่หามาตรการช่วยจูงใจ รวมถึงการลงโทษผู้ที่เผาอ้อยแบบมีเจตนาด้วย (ปีผลิต 2566/67 มีปริมาณอ้อยเข้าหีบ 82,167,065.18 ตัน แบ่งเป็น อ้อยสด 57,811,117.22 ตันหรือร้อยละ 70.36 อ้อยไฟไหม้ 24,355,974.96 ตันหรือร้อยละ 29.64 เฉพาะปีการผลิต 2565/66 ใช้กรอบวงเงิน 7,990 ล้านบาทจ่ายเงินช่วยเหลือชาวไร่อ้อย)

“คณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (กอน.) จึงออกมาตรการสนับสนุนการตัดอ้อยสดฤดูปี 2567/2568 ด้วยการแบ่งเงินช่วยเหลือออกเป็น 2 ก้อนคือ ก้อนแรกตัดอ้อยสด 100% ชาวไร่จะได้รับเงินสนับสนุน 69 บาทต่อตัน กับ ตัดใบอ้อยยอดอ้อยส่งเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวล ชาวไร่อ้อยก็จะได้รับเงินช่วยเหลืออีก 51 บาท/ตัน รวมเป็น 120 บาท/ตัด ซึ่งเป็นเงินช่วยเหลือเท่ากับโครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวไร่อ้อยตัดอ้อยสดเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 เมื่อ 3 ปีที่แล้วเช่นกัน” นายใบน้อยกล่าว

ชาวไร่กังวลบทปรับส่งอ้อยไฟไหม้

ด้าน นายนราธิป อนันตสุข หัวหน้าสำนักงานสมาคมกลุ่มชาวไร่อ้อย เขต 7 หัวหน้าสำนักงานสหพันธ์ชาวไร่อ้อยแห่งประเทศไทย กล่าวถึง มาตรการช่วยเหลือชาวไร่อ้อยเก็บเกี่ยวอ้อยสดคุณภาพดีเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 โดยเฉพาะในส่วนของมาตรการใหม่คือ มาตรการเพิ่มรายได้จากใบและยอดอ้อย อีกตันละ 51 บาทว่า “มันควรต้องบอกล่วงหน้า” ที่ผ่านมากว่าจะประชุมกว่าจะเคาะมาตรการต่างๆก็ล่วงเลยมาช่วงกลางหีบหรือปิดหีบอ้อยแล้ว “สุดท้ายก็ต้องมานั่งทวงเงินกันเพราะมันเป็นมาตรการช่วยย้อนหลัง มันไม่ได้ช่วยให้การลดเผาอ้อยได้เลย”

ดังนั้นรัฐบาลจะต้องประกาศมาตรการล่วงหน้าออกมาก่อน ส่วนการเร่งออกระเบียบเพื่อกำหนดสัดส่วนอ้อยไฟไหม้ในปีนี้นั้น ตามหลักการได้มีการกำหนดไว้ว่า ในฤดูผลิตปี 2567/2568 นี้ จะต้องมีอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลไม่เกิน 25% ของปริมาณอ้อยสุทธิของแต่ละเกษตรกร หากอ้อยไฟไหม้เกิน 25% “ส่วนที่เกิน” ก็จะถูกปรับเงิน 100 บาทต่อตัน จากเดิมหากมีอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงานน้ำตาลจะถูกหักเงิน 30 บาทต่อตัน

ขณะที่ชาวไร่อ้อยเองขอใช้ความพยายามที่จะตัดอ้อยสดส่งเข้าโรงงานน้ำตาลให้ได้มากที่สุด แม้ว่าท้ายที่สุดแล้วจะรู้ว่า ต้องมีอ้อยไฟไหม้ส่งเข้าโรงงานแน่นอน แต่ไม่ได้เจตนาเผาเพราะ “ต้องยอมรับว่า ภัยแล้ง การกลั่นแกล้ง เหตุสุดวิสัย มันสามารถเกิดขึ้นได้และบางสาเหตุก็สามารถพิสูจน์ได้ เช่น 5,000 ไร่ ในขณะนี้พบว่า มีการเผาอ้อยแล้ว ทั้งที่จริงยังไม่ใช่ช่วงการเก็บเกี่ยวหรือหีบอ้อย มันก็สามารถตีความหรือพิสูจน์ได้ว่าอาจมีการกลั่นแกล้งหรือสุดวิสัยเพราะอากาศร้อนจัด การรุกลามมาจากพืชไร่อื่น เพราะหากเผาตอนนี้ชาวไร่มีแต่เสียหาย ดังนั้นเชื่อว่าไม่ใช่เจตนา” นายนราธิปกล่าว

ส่วนการที่รัฐบาลประกาศจะไม่ให้โรงงานน้ำตาลรับอ้อยไฟไหม้ 100% ทั้งหมดเลยนั้น “ผมว่าเรื่องค่อนข้างที่จะเป็นไปได้ยาก” เพราะในความเป็นจริงแล้ว ไม่เพียงแต่ชาวไร่จะไม่สามารถส่งอ้อยได้ ซึ่งหมายถึงรายได้ของชาวไร่อ้อยจะลดลงแล้ว

ด้านโรงงานน้ำตาลเองก็จะไม่มีวัตถุดิบผลิตน้ำตาลออกสู่ตลาดได้น้อยลงด้วย สุดท้ายน้ำตาลก็จะไม่พอส่งผลทั้งต่อรายได้เกษตรกร โรงงาน และอาจทำให้ราคาน้ำตาลขายในประเทศพุ่งขึ้น ผู้บริโภคต้องกินน้ำตาลราคาแพง เพราะโรงงานผลิตน้ำตาลได้น้อยลง ดังนั้นกลไกที่ถูกต้องเพื่อลดฝุ่น PM 2.5 ในอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาลทราย “มันควรต้องคุยบนพื้นฐานความเป็นจริง” นายนราธิปกล่าว

ขายใบอ้อย ได้ไม่คุ้มเสีย

ทั้งนี้ทางกลุ่มชาวไร่อ้อยได้ประมาณการณ์ มาตรการเพิ่มรายได้จากการตัดใบอ้อยและยอดอ้อย ว่า 1) การขายใบอ้อยไร่ละประมาณ 100 บาทนั้น ขึ้นอยู่กับความหนาของใบและระยะทางใกล้ไกลกับโรงงานที่รับซื้อ
และโรงงานน้ำตาลเองก็ไม่ได้จะรับซื้อใบและยอดอ้อยทุกโรงงาน ในข้อเท็จจริงมีโรงงานที่รับซื้อ “น้อยมาก” ดังนั้นข้อเท็จจริงก็คือ อ้อยทุกไร่อ้อยทุก แปลง ไม่สามารถขายใบอ้อยได้ทั้งหมดและจะขายได้เพียงส่วนน้อยมากเท่านั้น

2) แปลงอ้อยที่ขายใบ จะขายแปลงที่จะรื้ออ้อยทิ้งเพื่อปลูกใหม่และต้องอยู่ไม่ห่างจากโรงงานที่รับซื้อใบอ้อยเพราะ ใบอ้อยมีน้ำหนักเบาไม่คุ้มค่ารถบรรทุกที่จะวิ่งไปขายในระยะทางที่ไกลและการจะขายใบอ้อยได้ต้องรอคิวพ่อค้าคนซื้อใบอ้อยกว่าจะมาเก็บม้วนใบอ้อยใช้เวลานาน เนื่องจากเครื่องจักรและอุปกรณ์ม้วนเก็บใบอ้อยมี “จำนวนน้อยมาก” และไม่คุ้มที่จะลงทุน และถ้าฝนตกมาใบอ้อยชุดนั้นก็จะใช้ไม่ได้ เนื่องจากจะมี ดินโคน เปื้อนใบอ้อย

ดังนั้น ชาวไร่อ้อยส่วนใหญ่จึงเห็นว่า การตัดใบอ้อยยอดอ้อยสด กับอัตราเงินช่วยเหลือที่จะได้รับนั้น “เป็นการเสียเวลา” และจะไม่ทันต่อการที่ต้องรีบไถแปลพวนดินด้วยการฝังกลบฝังใบอ้อยไปเลยจะดีกว่า จึงเชื่อว่า ถ้ามาตรการนี้ถูกประกาศใช้จริงจะมีแปลงอ้อยที่ขายใบอ้อยได้เป็นจำนวนน้อยมาก เมื่อเทียบกับสัดส่วนกับไร่อ้อยที่มีทั้งหมด หรือ ประมาณการณ์ไม่ถึง 10-15% ของไร่อ้อยทั้งประเทศ

3) ในส่วนของแปลงอ้อยใหม่ที่ตัดอ้อยแล้วต้องเก็บรักษาตออ้อยให้เกิดใหม่ก็จะไม่ขายใบ เพราะต้องการเก็บใบไว้คลุมดิน รักษาความชื้นในดินและย่อยสลายเป็นปุ๋ยโดยธรรมชาติ เพราะเมื่อตัดอ้อยแล้วประมาณสองอาทิตย์หน่ออ้อยก็จะแตกหน่อขึ้นมาใหม่ เมื่ออ้อยแตกหน่อขึ้นมาแล้วรถหรือเครื่องจักรก็ไม่สามารถเข้าไปเก็บใบอ้อยได้ เพราะจะเหยียบหน่ออ้อยจะเกิดความเสียหายขึ้นได้

4) แปลงอ้อย 1 ไร่ จะได้ใบประมาณ 1.5-2 ตัน แต่ถ้ากรณีใบอ้อยหนา ๆ ก็จะได้ 2 ตัน ดังนั้น 1 ไร่ก็จะได้ใบอ้อยประมาณ 1.5 ตัน ถ้ารัฐบาลช่วยเหลือตันละ 200 บาท รวมเป็นเงิน 300 บาทต่อตันใบอ้อย พ่อค้าคนกลางซื้อใบอ้อยจ่ายให้ชาวไร่ไร่ละ 100 บาท เท่ากับ 300+100 บาท ดังนั้น 1 ไร่ เฉลี่ยมีอ้อย 10 ตัน เท่ากับเฉพาะแปลงที่ขายใบอ้อยจะได้เงินเป็นค่าอ้อยตันละ 40 บาท

แต่สิ่งสำคัญที่สุดก็คือ ชาวไร่อ้อยไม่สามารถขายใบอ้อยได้ทุกไร่ทุกแปลง ทุกตันอ้อย เฉลี่ยแล้วเชื่อว่า ชาวไร่อ้อยจะขายใบอ้อยได้ไม่ถึง 10% ถึง 15% ของปริมาณอ้อยทั้งหมด ประกอบกับผลผลิตอ้อยในประเทศมีประมาณ 100ล้านตัน นั้นหมายความว่า มาตรการนี้จะช่วยราคาอ้อยได้เพียง 10-15% ตันอ้อยเท่านั้นหรือคิดที่อ้อย 100 ล้านตันจะช่วยได้เพียงตันละ 4-6 บาทต่อตันอ้อยเท่านั้น

5) เมื่อโรงงานรับซื้อใบอ้อยเข้าไปแล้วจะต้องนำใบอ้อยเข้าเครื่องปั่น-เครื่องตี ให้ย่อยเล็กลง กระบวนการนี้จะเกิด “ฝุ่นฟุ้งกระจายมากมาย” นับเป็นการย้อนแยงกับมาตรการลดฝุ่น PM 2.5 ประกอบกับ ใบอ้อยที่โรงงานรับซื้อไปก็ต้องใช้ประสมกับ กากอ้อย ที่มีอยู่จึงจะใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ ไม่สามารถใช้ใบอ้อยอย่างเดียวเป็นเชื้อเพลิง จึงเป็นเหตุผลที่ว่าในทางปฏิบัติแล้วทำไมโรงงานส่วนใหญ่ จึงไม่อยากรับซื้อใบอ้อยตามมาตรการของรัฐที่จะออกมาช่วยเหลือชาวไร่อ้อย