กรมชลฯ พร้อมรับมือหน้าแล้ง เตรียมน้ำปลูกนาปรัง 6.47 ล้านไร่

ชาวนา

กรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำฤดูแล้ง จัดสรรน้ำต้นทุน 44,250 ล้าน ลบ.ม. หนุนอุปโภคบริโภค/อุตสาหกรรมกว่า 29,170 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรน้ำไปแล้วกว่า 900 ล้าน ลบ.ม. พร้อมรับมือหน้าฝนภาคใต้ 122 แห่งส่งเครื่องจักรประจำพื้นที่เสี่ยง

นายธเนศร์ สมบูรณ์ ผู้อำนวยการสำนักบริหารจัดการน้ำและอุทกวิทยา กรมชลประทาน กล่าวว่า ขณะนี้ได้สิ้นสุดการบริหารจัดการน้ำฤดูฝนของปี 2567 (1 พ.ค.-30 ต.ค. 67) แล้ว ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา กรมชลประทานได้บริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ มีการติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่า เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก เพื่อสำรองไว้ใช้ในฤดูแล้งนี้ได้อย่างเพียงพอ

ส่งผลให้เมื่อสิ้นสุดฤดูฝน ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 63,348 ล้านลูกบาศก์เมตร (83% ของความจุอ่างรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,405 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (75% ของความจุอ่างรวมกัน) มากกว่าปีที่ผ่านมา 2,511 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา เชื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดนและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 21,688 ล้านลูกบาศก์เมตร (8796 ของความจุอ่างรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 14,992 ล้าน ลูกบาศก์เมตร (82% ของความจุอ่างรวมกัน) มากกว่าปี 2566 ถึง 3,907 ล้านลูกบาศก์เมตร ภาพรวมสถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี

ซึ่งจากข้อมูล ณ วันที่ 11 พ.ย. 67 อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้น 63,606 ล้านลูกบาศก์เมตร (83% ของความจุอ่างรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 39,663 ล้านลูกบาศก์เมตร (76% ของความจุอ่างรวมกัน) เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 21,933 ล้านลูกบาศก์เมตร (88% ของความจุอ่างรวมกัน) เป็นน้ำใช้การได้ 15,237 ล้านลูกบาศก์เมตร (84% ของความจุอ่างรวมกัน)

สำหรับการวางแผนจัดสรรน้ำฤดูแล้ง ระหว่างวันที่ 1 พ.ย. 67-30 เม.ย. 68 ตามปริมาณน้ำต้นทุน 44,250 ล้านลูกบาศก์เมตร เพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในทุกกิจกรรมตามลำดับความสำคัญ แบ่งเป็นน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร อุตสาหกรรม และอื่น ๆ รวมทั้งประเทศประมาณ 29,170 ล้านลูกบาศก์เมตร และสำรองไว้ใช้ต้นฤดูฝนหน้า (พ.ค.-ส.ค. 68) อีกประมาณ 15,080 ล้านลูกบาศก์เมตร จนถึงขณะนี้ทั้งประเทศมีการจัดสรรน้ำไปแล้ว 909 ล้านลูกบาศก์เมตร (4% จากแผน) เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาจัดสรรน้ำไปแล้ว 147 ล้าน ลบ.ม. (2% จากแผนจัดสรรน้ำรวม 9,000 ล้านลูกบาศก์เมตร)

Advertisment

ด้านผลการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศ ปัจจุบันมีการเพาะปลูกไปแล้วรวม 2.7 แสนไร่ (3% จากแผนที่กำหนดไว้ 10.02 ล้านไร่) เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 2.4 แสนไร่ (4% จากแผนที่กำหนดไว้ 6.47 ล้านไร่) ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด

“ในช่วงฤดูแล้งกรมชลประทานวางแผนบริหารจัดการน้ำและเตรียมน้ำไว้เพียงพอสำหรับเกษตรกรที่เพาะปลูกหลังฤดูฝนและต้นฤดูแล้ง ซึ่งจะมีแผนจัดการน้ำสำหรับการเพาะปลูกนาปรัง อีก 6,470,000 ไร่” นายธเนศร์กล่าว

Advertisment

ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ปฏิบัติตามมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2567/68 ที่คณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เห็นชอบด้วยการคาดการณ์และป้องกันพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ วางแผนจัดสรรน้ำและกำหนดพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง พร้อมบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญ การใช้น้ำตามที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำเพื่อลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน รวมไปถึงการเฝ้าระวังคุณภาพน้ำตลอดในช่วงฤดูแล้ง

โดยได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงฝนแล้ง ปี 2567-2568 ได้แก่ จังหวัดลำปาง ตาก พิษณุโลก สุโขทัย กำแพงเพชร นครราชสีมา บุรีรัมย์ สุรินทร์ มหาสารคาม ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสงคราม สมุทรสาคร กาญจนบุรี นครปฐม สุพรรณบุรี ลพบุรี สระบุรี ชุมพร สุราษฎร์ธานี และกระบี่

ขณะเดียวกันสำหรับพื้นที่ภาคใต้ที่อยู่ในช่วงฤดูฝน และได้ตรียมความพร้อมรับสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้น โดยมีการวางแผนจุดเสี่ยง/จุดเฝ้าระวัง ในพื้นที่ภาคใต้รวม 122 แห่ง และได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมเครื่องจักร-เครื่องมือในภาคใต้รวม 575 หน่วย แบ่งเป็นเครื่องสูบน้ำ 120 เครื่อง เครื่องผลักดันน้ำ 108 เครื่อง รถบรรทุกน้ำ 11 คัน และเครื่องจักรอื่น ๆ อีกกว่า 336 หน่วย เข้าประจำพื้นที่เสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมให้สามารถนำไปใช้งานได้ทันทีเมื่อเกิดสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด”