สินค้าจีไอ Soft Power รัฐบาล เผยเป้าปี’68 สร้างรายได้ 8.2 หมื่นล้าน

สินค้าจีไอ

การขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เป็นกลไกสำคัญที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าเกษตร สินค้าชุมชน รวมไปถึงการสร้างรายได้ให้กับเศรษฐกิจฐานราก เกิดความเข้มแข็ง เพราะสินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไอ ต้องมีความโดดเด่น มีเอกลักษณ์เฉพาะพื้นที่ ซึ่งจะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ ด้วยนโยบายของกระทรวงพาณิชย์ ที่ต้องการส่งเสริมให้เกิดสินค้าจีไอ ให้ได้ทั่วประเทศ ปัจจุบันมีสินค้าจีไอ ไปแล้วมากกว่า 212 สินค้า และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจปี 2567 ไม่ต่ำกว่า 76,000 ล้านบาท และยังมีสินค้าเกษตร สินค้าชุมชน ที่รอการขึ้นทะเบียนจีไอ อีก 11 รายการ

นายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า กระทรวงพาณิชย์ โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา ยังมีความมุ่งมั่นที่ต้องการยกระดับเศรษฐกิจบนพื้นฐานแห่งอัตลักษณ์และภูมิปัญญาไทย โดยการขึ้นทะเบียนและการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งต่างประเทศขอขึ้นทะเบียนไป 4 ประเทศ เช่น จีน ญี่ปุ่น เวียดนาม มาเลเซีย เพื่อคุ้มครองการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม

รวมถึงกรมให้ความสำคัญการควบคุมคุณภาพ มาตรฐานให้ดีเป็นที่ยอมรับ และยังขยายช่องทางการตลาดให้กับสินค้าจีไอไทย ให้ไปได้ไกลทั้งในและต่างประเทศ ทำให้สินค้าเป็นสินค้าสำคัญที่ขับเคลื่อนโยบาย Soft Power ตามนโยบายของรัฐบาล อีกทั้งจะส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญให้กับชุมชนเพื่อสร้างรายได้อีกด้วย

สินค้าจีไอ 212 รายการ 7.6 หมื่น ล.

กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ส่งเสริมการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไออย่างต่อเนื่อง ทำให้ปัจจุบันไทยขึ้นทะเบียนคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ให้กับสินค้าเกษตรชุมชน แล้ว 212 สินค้า เมื่อเทียบปี 2566 มีสินค้าจีไอ ที่ขึ้นทะเบียน 191 สินค้า ส่งผลให้มีประชาชน ผู้ประกอบการ เห็นความสำคัญในการขึ้นทะเบียนสินค้าจีไอ มากขึ้น เพราะได้สร้างมูลค่าเพิ่มและรายได้ให้กับเกษตรกรผู้ผลิตผู้ประกอบการเป็นอย่างมาก

“หลังขึ้นทะเบียน สินค้าจีไอที่ราคาสูงขึ้นเห็นได้ชัดเจน เช่น ส้มโอนครชัยศรี (พันธุ์ขาวน้ำผึ้งและทองดี) จ.นครปฐม ก่อนขึ้นทะเบียนราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 บาทต่อลูก หลังขึ้นทะเบียน ราคาปรับขึ้น 80-200 บาทต่อลูก กาแฟดอยตุง จ.เชียงราย ก่อนขึ้นทะเบียน 800 บาทต่อกิโลกรัม หลังขึ้นทะเบียนอยู่ที่ 1,150 บาทต่อกิโลกรัม ส้มโอทับทิมสยามปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ก่อนขึ้นทะเบียน ลูกเล็ก 130 บาทต่อลูก หลังขึ้นทะเบียนลูกเล็ก 200 บาทต่อลูก”

นอกจากนี้ สินค้าที่ขึ้นทะเบียนจีไอ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางการตลาดในปี 2567 คาดว่าอยู่ที่กว่า 76,000 ล้านบาท เพิ่มจากปีที่ผ่านมาถึง 22,000 ล้านบาท จากระดับ 54,000 ล้านบาท สะท้อนให้เห็นว่าสินค้าจีไอสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน ผู้ประกอบการ เกษตรกรทุก ๆ ปี ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้ความสำคัญในการพิจารณาสินค้าที่จะขึ้นทะเบียน พร้อมการไปติดตามควบคุมมาตรฐาน คุณภาพมาโดยตลอด ส่งผลให้เกิดผู้บริโภค หรือแม้แต่ผู้นำเข้าจากต่างประเทศมีความเชื่อมั่น

ADVERTISMENT

อีกทั้งกรมยังได้ส่งเสริมช่องทางการตลาดไม่ว่าจะรูปแบบออนไลน์หรือออฟไลน์ ขายในประเทศและส่งออก พร้อมทั้งให้ความรู้ในการทำตลาดให้กับผู้ประกอบการ เกษตรกร และยังมีเป้าหมายส่งเสริมการขึ้นทะเบียนจีไอ เพื่อเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าในประเทศด้วย

หมอนทองระยองแชมป์ทำรายได้มากสุด

สำหรับสินค้า GI ที่ส่งออกและทำเงินสร้างรายได้เข้าประเทศได้มาก 10 อันดับแรก ในปีที่ผ่านมา ได้แก่ อันดับ 1 ทุเรียนหมอนทองระยอง เป็นสินค้าส่งออกอันดับหนึ่ง มีมูลค่า 15,645 ล้านบาท มีตลาดสำคัญ คือ จีน อันดับ 2 ทุเรียนสะเด็ดน้ำยะลา มูลค่า 4,890.2 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ จีน และมาเลเซีย อันดับ 3 มะพร้าวน้ำหอมราชบุรี มูลค่า 285 ล้านบาท ตลาดส่งออก คือ จีน สหรัฐ แคนาดา และฝรั่งเศส อันดับ 4 มะม่วงน้ำดอกไม้สระแก้ว 107 ล้านบาท ตลาดสำคัญ คือ ฮ่องกง อันดับ 5 มังคุดทิพย์พังงา มูลค่า 80.12 ล้านบาท ตลาดคือ จีน และเวียดนาม

ADVERTISMENT

อันดับ 6 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองบางคล้า (จ.ฉะเชิงเทรา) มูลค่า 35 ล้านบาท ตลาดเกาหลีใต้ และญี่ปุ่น อันดับ 7 กล้วยหอมทองเพชรบุรี มูลค่า 24 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น อันดับ 8 ส้มโอท่าข่อยเมืองพิจิตร มูลค่า 10.4 ล้านบาท ตลาดจีน อันดับ 9 กล้วยตากบางกระทุ่มพิษณุโลก มูลค่า 10 ล้านบาท ตลาดซาอุดีอาระเบีย ซีเรีย ทูร์เคีย บรูไน มาเลเซีย ฮ่องกง เกาหลีใต้ สหรัฐ และนิวซีแลนด์ อันดับ 10 มะม่วงน้ำดอกไม้สีทองพิษณุโลก มูลค่า 9.45 ล้านบาท ตลาดญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และรัสเซีย

ขอขึ้นทะเบียนสินค้า จีไอ ไม่ยาก

ทั้งนี้ การได้มาของการขึ้นเป็นผู้มีสิทธิ ขอขึ้นทะเบียน GI ได้นั้น สามารถขอขึ้นทะเบียนได้ ไม่ว่าจะเป็นส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือองค์กรอื่นของรัฐที่เป็น นิติบุคคลซึ่งมีเขตรับผิดชอบครอบคลุม บริเวณแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า บุคคลธรรมดา กลุ่มบุคคล หรือนิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการค้า เกี่ยวข้องกับสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์และมีถิ่นที่อยู่ในแหล่งภูมิศาสตร์ของสินค้า และกลุ่มผู้บริโภคหรือองค์กรผู้บริโภคสินค้าที่ใช้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (ซึ่งในประเทศไทย ปัจจุบันยังไม่มีการขอขึ้นทะเบียนในกลุ่มนี้)

โดยการเตรียมการขอขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ จีไอ ของผู้ที่สนใจ จะต้องดำเนินการโดย คือ 1.การกำหนดสินค้าที่ต้องการคุ้มครอง รวบรวมข้อมูลและรวมกลุ่ม ผู้ผลิต ผู้ประกอบการค้า เพื่อการศึกษาความเป็นไปได้ของการขอขึ้นทะเบียน 2.จัดทำข้อกำหนดในการผลิตสินค้า ขอบเขตพื้นที่ในการผลิต ความเชื่อมโยง ของสินค้ากับแหล่งภูมิศาสตร์ และประวัติความเป็นมาของสินค้า

3.จัดทำคำขอขึ้นทะเบียนตามกฎหมายยื่นต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา หรือสำนักงานพาณิชย์จังหวัด เพื่อให้ได้รับความคุ้มครองโดยสมบูรณ์ตามกฎหมาย 4.จัดทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าและกำหนดผู้มีหน้าที่ตรวจสอบควบคุม เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพตามที่ได้ขึ้นทะเบียนไว้

ทั้งนี้ เมื่อสามารถขึ้นทะเบียนสินค้า จีไอ ได้ สิทธิประโยชน์ของผู้ที่ได้รับอนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ จีไอ ไทย ซึ่งผู้ผลิตหรือผู้ประกอบการค้า จะจำหน่ายสินค้า GI ได้ในราคาที่สูงขึ้น สามารถยกระดับสินค้าชุมชนให้เป็นสินค้าระดับ Premium สร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคว่าเป็นสินค้า GI ของแท้ที่มีมาตรฐาน มีคุณภาพ และมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง สามารถนำตราสัญลักษณ์ GI ไทย ไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าได้

มีสิทธิพิเศษสามารถเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น โครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ GI กิจกรรมส่งเสริมการเผยแพร่สินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ตาม Platform ต่าง ๆ เป็นต้น และมีสิทธิได้รับการคัดเลือกเข้าร่วมงานแสดงสินค้าที่จัดโดยกรมทรัพย์สินทางปัญญา เช่น GI Fest GI Market Thaifex ตลาดนัด GI เป็นต้น

เป้าปี’68 เพิ่มจีไอ 22 ราย 8.2 หมื่น ล.

สินค้าจีไอ เป็นสินค้าที่เชื่อมโยงกับแหล่งภูมิศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่น มีเอกลักษณ์พิเศษ ทำให้สินค้า GI มีบทบาทสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าชุมชนและขับเคลื่อนเศรษฐกิจชุมชนของประเทศ รัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าเกษตรและสินค้าชุมชน พร้อมผลักดันสินค้า GI ไทยให้เป็น Soft Power ที่สะท้อนอัตลักษณ์ชุมชน วัฒนธรรม ค่านิยม และความหลากหลายทางวัฒนธรรมของไทยให้เป็นที่รู้จักในระดับสากล นำมาสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดีขึ้น

โดยกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ดำเนินการส่งเสริมสินค้า จีไอ ครบวงจรในทุกมิติ ทั้งการส่งเสริมการขึ้นทะเบียน โดยในปีงบประมาณ 2568 กรมมีแผนจะดำเนินการรับขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ภายในประเทศเพิ่มขึ้นอีก 22 รายการ รวม 234 สินค้า คาดว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มกว่า 82,000 ล้านบาท

นอกจากนี้ กรมให้ความสำคัญในการสร้างการรับรู้และส่งเสริมช่องทางการตลาดให้กับสินค้า GI พร้อมทั้งส่งเสริมการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาและเทคโนโลยีในการพัฒนากระบวนการผลิตและบรรจุภัณฑ์ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า GI และเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืน