ธุรกิจค้านขึ้นค่าแรง 400 บาท กกร.ออกโรงยื่นหนังสือจี้รัฐทบทวน

labour

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน (กกร.) ออกโรงยื่นหนังสือขอให้รัฐบาลพิจารณาทบทวนนโยบายขึ้นค่าแรง 400 บาททั่วประเทศ เผยมีผลกระทบต้นทุนการผลิต 5 อุตสาหกรรมหลัก อาหาร-สิ่งทอ-ยาง-อิเล็กทรอนิกส์-รถยนต์ หวั่นย้ายฐานการผลิต ห่วงผู้ประกอบการรายกลาง-เล็ก (SMEs) อาจถึงขั้นทยอยปิดกิจการ ด้านกลุ่มอุตสาหกรรมจังหวัดภาคกลางวิตกปัญหาโรงงานหนีตาย ยอมจ้างแรงงานต่างด้าวเถื่อนทะลักเข้าพื้นที่ แนะรัฐบาลการขึ้นค่าแรงต้องฟังคณะกรรมการไตรภาคี มีผลศึกษาสอดคล้องกับคณะอนุกรรมการค่าจ้างรายจังหวัด

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ซึ่งประกอบด้วย สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และสมาคมธนาคารไทย หลังการประชุมเมื่อวันที่ 5 ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ออกแถลงการณ์แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อนโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศของรัฐบาล โดยเห็นว่าเป็นนโยบายที่ไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงของเศรษฐกิจและสังคมที่แตกต่างกันในแต่ละพื้นที่จังหวัด มีระดับการพัฒนา โครงสร้างเศรษฐกิจ และค่าครองชีพที่แตกต่างกันในแต่ละภูมิภาค การกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเท่ากันทั่วประเทศจึงไม่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง

ประกอบกับการประชุมของคณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัดเองมากกว่าร้อยละ 90 ก็ไม่เห็นด้วยกับการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และร้อยละ 30 มีมติไม่ขอปรับขึ้นค่าจ้างด้วย โดยการปรับขึ้นค่าแรงดังกล่าวจะส่งผลกระทบให้เกิดการเลิกจ้างงาน ผู้ประกอบการลดจำนวนพนักงานลง หรือชะลอการจ้างงานใหม่เพื่อลดต้นทุน ไปจนกระทั่งถึงการปิดกิจการ หยุดกิจการ ลดขนาดกิจการ และปรับธุรกิจออกนอกระบบภาษี จนนำไปสู่การปลดลูกจ้างและเลิกจ้างพนักงานเพื่อลดต้นทุนให้อยู่รอด ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสมดุลของอัตราการว่างงานของประเทศด้วย

โดย กกร.ได้แสดงจุดยืนและมีข้อเสนอแนะต่อนโยบายปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย โดยให้รัฐบาลพิจารณาแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ด้วยการ 1) กกร.ไม่เห็นด้วยกับการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศ โดยการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำต้องคำนึงถึงมติของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด 2) กกร.มีความเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำนั้นควรใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งควรจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

3) กกร.มีความเห็นว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ควรจะปรับเมื่อมีเหตุจำเป็นและปัจจัยทางเศรษฐกิจบ่งชี้ แต่ไม่ควรเกินปีละ 1 ครั้งเท่านั้น 4) หากรัฐบาลมีนโยบายต้องการที่จะพิจารณาปรับค่าจ้างแบบจำเพาะ ก็ควรมีการศึกษาความพร้อมของแต่ละประเภทกิจการหรืออุตสาหกรรม ไม่ก่อให้เกิดปัญหาในห่วงโซ่อุปทาน โดยคำนึงถึงความแตกต่างของผู้ประกอบการประเภทกิจการในแต่ละภูมิภาค 5) กกร.สนับสนุนการจ่ายอัตราค่าจ้างตามทักษะฝีมือแรงงาน (Pay by Skills) ตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และให้ความสำคัญกับการ Upskill & Reskill, Multiskill และ New Skill เพื่อสร้างแรงงานที่มีทักษะฝีมือให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน

6) กกร.สนับสนุนให้เร่งรัดการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือให้ครบตามมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ซึ่ง 280 สาขาจากปัจจุบันที่มีการประกาศไว้เพียง 129 สาขาเท่านั้น และ 7) กกร.ขอให้รัฐบาลมีมาตรการดูแลค่าครองชีพเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนโดยเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ตลอดจนเร่งรัดมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการด้วย

ADVERTISMENT

กระทบ 5 อุตสาหกรรมหลัก

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ภาคเอกชนย้ำมาตลอดว่า การปรับขึ้นค่าแรงต้องเป็นการปรับขึ้นที่สะท้อนความเป็นจริงในทุกด้าน และต้องทำตาม คณะอนุกรรมการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด ต้องมีการจ่ายค่าจ้างตามจังหวัด ตามทักษะแรงงาน ดังนั้นหากรัฐบาลยังจะดำเนินโยบายการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็น 400 บาทเท่ากันทั่วประเทศแบบเดิมแล้ว กลุ่ม SMEs จะได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะยังต้องใช้แรงงานคนแบบเข้มข้น เมื่อเจอกับค่าแรงที่เป็นต้นทุนที่ปรับเพิ่มขึ้น เชื่อว่าต้องมี SMEs บางแห่งปิดกิจการ บางส่วนทรุดตัว จนไม่สามารถฟื้นได้จากเดิมที่กำลังทยอยฟื้นตัว

“ที่สำคัญ เราอาจเห็นการย้ายฐานการผลิตไปเวียดนาม-อินโดนีเซีย เหมือนที่เราเคยประกาศขึ้นค่าแรงมาก่อนหน้านี้ โดยเฉพาะช่วงนี้ไทยอยู่ในช่วงดึงดูดการลงทุนเข้ามา จึงไม่ควรสูญเสียโอกาสตรงนี้ไป จากข้อมูลสำนักงานประกันสังคมพบว่า มีผู้ประกอบการ 60% หรือประมาณ 25,000 ราย จากผู้ประกอบการทั้งหมด 500,000 ราย จะได้รับผลกระทบจากการขึ้นค่าแรงมากสุด ส่วนใหญ่จะอยู่ในกลุ่มภาคการผลิต ทั้งอาหาร, สิ่งทอ, ยาง, อิเล็กทรอนิกส์ และยานยนต์ เพราะยังมีลูกจ้างบางส่วนหรือทั้งหมดที่ได้รับค่าจ้างต่ำกว่า 400 บาทต่อวันอยู่” นายเกรียงไกรกล่าว

ADVERTISMENT

ด้านนายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการคนที่ 1 หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานคณะกรรมการแรงงานและพัฒนาฝีมือแรงงาน กล่าวว่า การปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำเห็นว่า ต้องเป็นไปตามหลักกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ใน มาตรา 87 แห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และต้องสอดคล้องกับแนวทางที่ได้รับการยอมรับจาก องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ที่ใช้กลไกคณะกรรมการค่าจ้าง (ไตรภาคี) ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับข้อเสนอของคณะอนุกรรมการพิจารณาอัตราค่าจ้างขั้นต่ำจังหวัด

“การดำเนินนโยบายปรับค่าจ้างขั้นต่ำที่เหมาะสมและเป็นธรรม ไม่ควรไปลิดรอนสิทธิ ตามข้อเสนอของคณะอนุกรรมการและต้องสร้างความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายภาคส่วน เพราะหากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำโดยไม่พิจารณาจากข้อเท็จจริง จะมีผลต่อภาพแรงงานในประเทศทั้งหมด โดยแรงงานที่อยู่ภายในประเทศไทยนั้นต้องยอมรับว่า มีทั้งแรงงานคนไทยและแรงงานต่างด้าว ดังนั้นการพิจารณาอัตราค่าจ้างควรจะพิจารณาอย่างรอบคอบให้เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ เพราะหากมีปรับในอัตราเดียวทั่วประเทศ ย่อมส่งผลกระทบไปยังภาครวมธุรกิจ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงาน รวมไปภาคการเกษตร ภาคอสังหาฯ ก่อสร้างด้วย” นายพจน์กล่าว

สิ่งทอผวาต้นทุนพรวด 45-70%

นายยุทธนา ศิลป์สรรค์วิชช์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) บริษัท พาลาดิน เวิร์คแวร์ จำกัด ผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปแบรนด์ “Blue Bear” กับ “Graphenix” ในฐานะที่ปรึกษาสมาคมอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มไทย กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เห็นด้วยกับการปรับอัตราค่าจ้าง แต่การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ 400 บาททั่วประเทศมองว่า “เป็นอัตราที่สูงเกินไป” และมีผลกระทบต่อความเหลื่อมล้ำ ทั้งด้านของต้นทุนการผลิต ตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ การแข่งขันสินค้าภายในประเทศและต่างประเทศและหากรัฐบาลจะมีการปรับจริงก็จะส่งผลต่อต้นทุนสินค้าสูงขึ้น 15-20% จากปัจจุบัน

“ค่าแรงที่สูงขึ้นจะส่งผลให้ต้นทุนในอุตสาหกรรมผู้ผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ตั้งแต่ฟอกย้อมตลอดซัพพลายเชน ไปจนถึงผลิตเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป ปรับเพิ่มขึ้น รวมไปถึงโบนัส ประกันสังคม สวัสดิการต่าง ๆ ก็ต้องขยับตาม และหากมองค่าแรงในปัจจุบันเฉลี่ย 30-50% เป็นต้นทุนการผลิตของแต่ละหมวดสินค้า หากปรับค่าจ้างขึ้นไป 400 บาทแล้ว ต้นทุนจะขึ้นไปถึง 45-70% ย่อมจะมีผลต่อการแข่งขันการส่งออกในทันที” นายยุทธนากล่าว

ดังนั้น รัฐบาลควรจะปรับค่าจ้างแบบทีละน้อยเฉลี่ยคราวละ 10% “ผู้ประกอบการยังพอรับได้” แต่ต้องแบกรับภาระที่ยังคงส่งผลกระทบต่อต้นทุนบ้าง เช่น ค่าแรง 300 บาท ปรับขึ้นมาเป็น 330 บาท “เราก็พอรับได้” อย่างไรก็ดี ต้องการให้การปรับค่าจ้างสะท้อนความเป็นจริง เพราะหากมีการปรับ แต่สินค้าที่เป็นชนิดเดียวกัน มีการนำเข้าโดยเฉพาะจากจีนที่มีราคาเท่าเดิม ก็จะส่งผลทำให้ผู้ประกอบการไทยแข่งขันลำบากขึ้น ขณะที่ค่าแรงของไทยสูงกว่า หากเทียบในอาเซียน

“ต้องยอมรับว่าในอุตสาหกรรมเครื่องนุ่งห่มช่วง 10 ปีที่ผ่านมาไม่มีการเข้ามาลงทุนจากต่างประเทศเลย จากอดีตที่ไทยมีค่าแรงถูกมาก จึงดึงดูดต่างชาติเข้ามาลงทุนตั้งโรงงานในไทย เช่น ไต้หวัน ฮ่องกง แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน ต้นทุนเพิ่มขึ้น นักลงทุนเหล่านั้นก็ทยอยปิดกิจการและย้ายฐานการลงทุน ทำให้ปัจจุบันผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ 99% เป็นผู้ประกอบการไทย และไม่ค่อยเห็นการย้ายฐานไปผลิตต่างประเทศเพื่อลดต้นทุน ส่วนใหญ่จะยังคงรักษาเสถียรภาพการลงทุนเดิมที่มีอยู่ โดยอาจจะมีการนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ เพื่อให้กำลังการผลิตเต็มประสิทธิภาพและลดการใช้แรงงานลง” นายยุทธนากล่าว

“มาม่า” ยังไม่ขึ้นราคา

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า เห็นด้วยกับการขึ้นค่าแรง เนื่องจากจะส่งผลบวกกับเศรษฐกิจโดยรวม เพราะทำให้กลุ่มผู้ใช้แรงงานซึ่งมีจำนวนหลายล้านคนมีกำลังซื้อเพิ่มขึ้น ส่วนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการนั้น “แน่นอนว่าจะมีต้นทุนที่สูงขึ้น” แต่ในฐานะผู้ประกอบการรายใหญ่ในวงการผลิตสินค้าก็ต้องหาทางรับมือโดยไม่ส่งภาระที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค เพราะในการผลิตสินค้าต้นทุนวัตถุดิบมีสัดส่วนใหญ่กว่าค่าแรงมาก

“การปรับขึ้นค่าแรงควรต้องทำให้ผู้บริโภคมีเม็ดเงินเหลือสำหรับการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น หากขึ้นราคาสินค้าตามจะทำให้การขึ้นค่าแรงไม่เกิดประโยชน์ และในสภาพเศรษฐกิจปัจจุบันหากทุกฝ่ายช่วยกันจะอยู่รอดได้อย่างยั่งยืนกว่า เพราะสุดท้ายแล้วทุกคนคือ ลูกค้า การขึ้นค่าแรงจะไม่ส่งผลให้บริษัทต้องปรับขึ้นราคา “มาม่า” แน่นอน เนื่องจากบริษัทมีแนวคิดว่า ค่าแรงเป็นสิ่งที่ต้องเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ และบริษัทปรับขึ้นค่าแรงให้พนักงานเป็นประจำทุกปี จึงมีแผนบริหารจัดการต้นทุนที่เพิ่มขึ้นได้ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของบุคลากร” นายพันธ์กล่าว

ดังนั้น วิธีคิดก็คือ ต้องหาว่าในต้นทุนต่อหน่วยนั้นมีค่าแรงแฝงอยู่เท่าใด แล้วเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตขึ้น ซึ่งเมื่อผลิตได้มากขึ้นจะทำให้ต้นทุนคงเดิม จึงไม่มีเหตุผลที่ต้องขึ้นราคาสินค้าตามค่าแรง แต่ในธุรกิจบริการที่ต้องใช้บุคลากรจำนวนมาก หรือผู้ประกอบการในธุรกิจที่ไม่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยได้ สถานการณ์ก็อาจแตกต่างออกไปและอาจต้องปรับขึ้นราคาสินค้า

แรงงานเถื่อนทะลัก

นายชัยกฤต พุ่มเข็ม ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ หรือ กรอ. กลุ่มจังหวัดภาคกลางตอนบน ประจำเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมานี้ ที่ประชุมมีข้อกังวลทางด้านแรงงานที่อาจจะส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการหันมาใช้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายมากขึ้น คือ 1) การปรับอัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำจาก 350 บาท เพิ่มเป็น 400 บาท กับ 2) การเก็บเงินจากผู้ประกอบการเข้ากองทุนสงเคราะห์พนักงานที่ 2% ในกรณีที่พนักงาน-ลูกจ้าง ถูกยกเลิกจ้างงานโดยไม่ได้รับการชดเชย “ทั้งหมดนี้เป็นนโยบายของรัฐบาลที่พยายามจะให้มีผลบังคับใช้ในปี 2568 และจะกลายเป็นการ ‘เพิ่มต้นทุน’ ให้กับผู้ประกอบการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs ที่ภาครัฐควรมีมาตรการออกมารองรับเพื่อรักษาสภาพคล่องทางการเงินด้วย”

โดยนโยบายการเพิ่มค่าแรง 400 บาททั่วประเทศจะกลายเป็น “แรงบีบ” ให้ผู้ประกอบการพยายามหาแนวทางเพื่อ “ลดต้นทุน” เช่น การใช้แรงงานราคาถูก การใช้แรงงานต่างด้าวทั้งถูกกฎหมายและผิดกฎหมายมากขึ้น และเมื่อติดตามสถานการณ์การจ้างงานของสำนักงานแรงงานจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ล่าสุดพบตัวเลขของกระทรวงแรงงานระบุว่า มีการจ้างงานแรงงานต่างด้าวรวมทั้งสิ้น 47,000 คน แต่กลับพบว่าตัวเลขการจ้างงานจริงในพื้นที่มีอยู่ถึง 60,000 คน นั้นเท่ากับว่า ส่วนต่างของแรงงานต่างด้าวกว่า 13,000 คน ถือเป็น “ตัวเลขแรงงานแฝง” ที่มีโอกาสจะมีแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายรวมอยู่ด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานที่ไม่สามารถระบุตัวตนที่ชัดเจน นั้นก็คือ “แรงงานย้ายถิ่น”

“กลายเป็น Hot Issue ที่หยิบยกขึ้นมาหารือในการประชุม กรอ. ครั้งล่าสุด ถ้าต้นทุนจากค่าแรงที่จะเพิ่มขึ้นอีก 400 บาทเกิดขึ้นจริง เราก็จะได้เห็นภาพของตัวเลขด้านแรงงานต่างด้าวที่ผันแปรค่อนข้างสูง อย่างแรงงานย้ายถิ่นจากเดิมที่หากมีการย้ายพื้นที่ทำงานจะต้องแจ้งต่อหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบ แต่ปัจจุบันไม่จำเป็นต้องแจ้ง แรงงานต่างด้าวในโรงงานใหญ่ ๆ อาจจะไม่สามารถทำได้ง่าย ๆ แต่ในธุรกิจอื่น ๆ เช่น ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ก็อาจจะจ้างแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายได้” นายชัยกฤตกล่าว

สอดคล้องกับ ดร.อภิสิทธิ์ เตชะนิธิสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคกลาง อดีตประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดสมุทรสาคร กล่าวว่า การปรับค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาท ถ้าเป็นโรงงานอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่กิจการยังดี มีคำสั่งซื้อเข้ามา “ก็ยังเดินหน้าต่อไปได้” แต่ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมที่ผลประกอบการไม่ดีและใช้แรงงานจำนวนมาก “คงจะต้องหยุดการผลิต เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ” ที่ผ่านมามีปิดกิจการให้เห็นหลายโรงงานแล้ว รวมถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ที่มีแรงงานตั้งแต่ 10-20 คน เป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็ก มีโอกาสที่จะออกนอกระบบไปใช้แรงงานเถื่อนมีมาก เพื่อลดต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ในส่วนของจังหวัดสมุทรสาครปัจจุบันมีแรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียนไว้ประมาณ 600,000 คน ส่วนแรงงานต่างด้าวเถื่อนที่ไม่มีเอกสารถูกต้อง “น่าจะมีเป็น 100,000 คนเช่นกัน”

เคาะ 400 บาทก่อนสิ้นปี

ล่าสุด นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน ในฐานะประธานคณะกรรมการค่าจ้าง (บอร์ดค่าจ้าง) ชุดที่ 22 หรือบอร์ดไตรภาคี กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีการประชุมบอร์ดไตรภาคีเพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศ ในบางสาขาอาชีพและบางกิจการ ตามนโยบายรัฐบาลว่า ขณะนี้คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบแต่งตั้งรายชื่อ 2 กรรมการฝ่ายรัฐเรียบร้อยแล้วเพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่างลง คือ นายอัครุตม์ สนธยานนท์ รองปลัดกระทรวงการคลัง ผู้แทนจากกระทรวงการคลัง กับเรือเอก สาโรจน์ คมคาย อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน (กสร.) ผู้แทนจากกระทรวงแรงงาน จึงทำให้บอร์ดไตรภาคีครบสมบูรณ์ทั้ง 3 ฝ่ายแล้ว “ขณะนี้ได้ส่งหนังสือเรียนเชิญบอร์ดไตรภาคีแต่ละฝ่ายแล้วว่า จะประชุมเพื่อพิจารณาการปรับค่าจ้าง 400 บาท ในช่วงเช้าของวันที่ 12 ธ.ค. 67 เพื่อขอคำแนะนำและหารือร่วมกันว่าจะดำเนินการอย่างไร” นายบุญสงค์กล่าว

รายงานข่าวจากกระทรวงแรงงานเปิดเผยว่า วาระการประชุมบอร์ดค่าจ้าง 12 ธ.ค.นี้ ตามธรรมเนียมน่าจะเป็นเพียงการหารือวาระทั่วไป รวมถึงการแนะนำคณะกรรม 2 คนใหม่ที่เพิ่งได้รับการแต่งตั้งเข้ามา แต่อาจจะยังไม่มีการลงมติการปรับค่าจ้าง 400 บาททั่วประเทศในบางสาขาอาชีพ เนื่องจากต้องให้คณะกรรมการค่าจ้างชุดใหม่ที่เพิ่งเข้ามาไปศึกษาข้อมูลก่อน แต่คาดว่าอาจจะถูกนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุมครั้งต่อไปภายใน 15 วัน เพื่อให้ทันก่อนปีใหม่ 2568

โดยคาดการณ์ว่า มติการลงคะแนนของคณะกรรมการไตรภาคี อาจจะออกมาลักษณะ 10 ต่อ 5 เสียงจากฝ่ายรัฐและลูกจ้าง ซึ่งน่าจะลงมติไปในทิศทางเดียวกันที่ “เห็นชอบให้ปรับขึ้นค่าแรง” ในขณะที่ฝ่ายนายจ้างอาจจะลงมติค้านหรือใช้วิธีบอยคอตไม่เข้าร่วมประชุมก็ได้