
วิกฤตข้าวนาปรัง หลังข้าวเปลือกเจ้าราคาตกต่ำเหลือแค่ 8,000 กว่าบาท สมาคมชาวนาร้องขอประกันราคาข้าวตันละ 1.2 หมื่นบาท บอกปัด 3 มาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล “ช่วยค่าฝากเก็บ-ชดเชยดอกเบี้ยโรงสี-เปิดจุดรับซื้อ” ไม่ตอบโจทย์ พร้อมขู่ระวังสะเทือนเสถียรภาพรัฐบาล สมาคมผู้ส่งออกข้าวกังวล ข้าวไทยตอนนี้แพงสุดในโลก ต้องแข่งเดือด อินเดีย-เวียดนาม ซ้ำเติมสต๊อกข้าวโลกล้นทะลัก แถมยังไม่มีออร์เดอร์ “บิ๊กลอต” เข้ามา จับตาเดือน มี.ค.-เม.ย. ข้าวนาปรังจะออกสู่ตลาดมากสุด ฉุดราคาดิ่งลงเหว
ข้าวเปลือกนาปรังปี 2567/2568 คาดการณ์ผลผลิต 6.53 ล้านตัน ที่กำลังทยอยออกสู่ตลาดกำลังประสบปัญหาราคาตกต่ำ หลังราคาข้าวเปลือกเจ้ารูดลงมาเฉลี่ยเหลือแค่ 8,650 บาท/ตัน หรือปรับลดลงมา 30% จากราคาช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่งผลให้ราคาข้าวเปลือกเจ้าต่ำกว่า 10,000 บาท จนสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยต้องออกมา “กดดัน” รัฐบาล ขอให้ออกมาตรการช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรัง ก่อนที่ผลผลิตข้าวนาปรังกว่า 4.42 ล้านตัน จะออกสู่ตลาดมากที่สุดในระหว่างเดือนมีนาคม-เมษายนนี้
เข็นมาตรการช่วยข้าวนาปรัง
นายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังการประชุมอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2568 ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 3 มาตรการ ในการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรัง ได้แก่ 1) การให้สินเชื่อชะลอข้าวนาปรังปี 2568 เป้าหมาย 1.5 ล้านตัน มีระยะเวลาในการจัดเก็บ 1-5 เดือน แบ่งเป็น ค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ใช้วงเงิน 1,219 ล้านบาท ทั้งนี้ หากเกษตรกรเก็บข้าวในยุ้งฉางตัวเองจะได้รับค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน แต่หากเก็บกับสหกรณ์ สหกรณ์จะได้ค่าฝากเก็บ 500 บาท/ตัน และเกษตรกรได้รับ 1,000 บาท/ตัน
2) การชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้กับโรงสีข้าวในอัตรา 6% เพื่อเก็บสต๊อกข้าวนาน 2-6 เดือน มีเงื่อนไขให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวรับซื้อข้าวเปลือกในราคา “สูงกว่า” ราคาตลาด 200 บาท/ตันขึ้นไป เป้าหมายเพื่อเก็บสต๊อกข้าวเปลือก 2 ล้านตัน ใช้วงเงิน 524 ล้านบาท
และ 3) การเปิดจุดรับซื้อข้าว โดยรัฐบาลจะสนับสนุนค่าบริหารจัดการ 500 บาท/ตัน มีเงื่อนไขผู้ประกอบการจะต้องรับซื้อข้าวในราคาที่ “สูงกว่า” ราคาตลาด 300 บาทต่อตันขึ้นไป มีเป้าหมายรับซื้อข้าว 300,000 ตัน ใช้วงเงิน 150 ล้านบาท รวมวงเงินที่จะช่วยเหลือราคาข้าวนาปรัง 1,893 ล้านบาท คาดการณ์จะใช้เงินจากงบฯกลาง และกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.)
“มาตรการช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรังทั้ง 3 มาตรการของรัฐบาลมีขึ้นเพื่อจูงใจและดันราคาข้าวในตลาดให้สูงขึ้น เป้าหมายราคาข้าวเปลือกไม่ต่ำกว่า 8,500 บาท/ตัน” นายพิชัยกล่าว
ส่วนนายนภินทร ศรีสรรพางค์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า มีเป้าหมายช่วยชาวนาให้ได้ราคาข้าวเปลือกสดไม่ต่ำกว่า 8,000 บาท หากตอนนี้ราคาข้าวเกี่ยวสดได้ 7,000 บาท ชาวนาก็จะได้เงินเพิ่มจากมาตรการชะลอฝากเก็บ 1,000-1,500 บาท เท่ากับว่าจะได้เงิน 8,000-8,500 บาท/ตัน ซึ่งเป็นไปตามที่ชาวนาต้องการ
คำถาม 9 ข้อของ ส.ชาวนาไทย
ก่อนหน้านี้ สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้ยื่นหนังสือไปยัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงพาณิชย์ เพื่อยื่น 3 ข้อเสนอ ได้แก่ 1) ชดเชยการห้ามเผาฟางไร่ละ 500 บาท ตามพื้นที่เพาะปลูกจริง 2) ช่วยเหลือราคาข้าวไร่ละ 500 บาท จ่ายตามพื้นที่ปลูกจริง และ 3) ช่วยเหลือปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย ยา น้ำมันนั้น ล่าสุดภายหลังจากที่ประชุมอนุกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวแห่งชาติ มีมติกำหนดมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรัง 3 มาตรการ ได้แก่ การขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ด้วยการช่วย “ค่าฝากเก็บ” ตันละ 1,500 บาท, โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้กับผู้ประกอบการโรงสีในการเก็บสต๊อกข้าว 6% และการเปิดจุดรับซื้อข้าวนั้น
ล่าสุดสมาคมได้ออกแถลงการณ์แสดงให้เห็นถึง ข้อจำกัดและผลเสียที่จะเกิดขึ้นจากการใช้งบประมาณ (1,893.53 ล้านบาท) การเปิดช่องให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย และความไม่พร้อมของสถาบันที่จะเข้าร่วมโครงการ ประกอบกับมาตรการทั้ง 3 มาตรการที่ออกมานั้น “ยังไม่ตรงตามความเดือดร้อนของเกษตรกร” ด้วย ดังนั้นสมาคมจึงขอให้คณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ “ทบทวนและวางมาตรการช่วยเหลือชาวนาใหม่” เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร และป้องกันการสุ่มเสี่ยงทางด้านเสถียรภาพของรัฐบาลเอง
ด้วยการ 1)ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการประกันราคาข้าวเปลือกจ้าวนาปรัง ความชื้นไม่เกิน 15% ราคา ไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท/ตัน ความชื้นไม่เกิน 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ตัน 2)ขอให้รัฐบาลพิจารณามาตรการช่วยเหลือเกษตรกรในกรณีงดเผาตอซังข้าวไร่ละ 500 บาทตามจำนวนพื้นที่เพาะปลูกที่เกษตรกรขึ้นทะเบียนไว้ 3)ขอให้มีการควบคุมปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ย ยา น้ำมันเชื้อเพลิง 4)พิจารณาชดเชยพื้นที่ที่เป็นทุ่งรับน้ำตามที่เกษตรกรรเองขอ และ 5)ขอให้รัฐพิจารณาโครงการไร่ละ 1,000 บาทไว้คงเดิม อันเป็นการวางมาตรการความเสี่ยงในเรื่องของต้นทุนการผลิต
พร้อมกันนี้ ในแถลงการณ์ของสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ได้ตั้งคำถามถึงรัฐบาล 9 ข้อ ได้แก่ 1) พื้นที่นาปรัง 10 ล้านไร่ ผลผลิต 6.53 ล้านตัน แต่โครงการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรังของรัฐบาลมีเป้าหมายซื้อเพียงแค่ 3.8 ล้านตัน คำถามคือ ข้าวเปลือกส่วนที่เหลือจะทำอย่างไร และชาวนาที่เกี่ยวไปแล้วจะทำอย่างไร 2) ราคาข้าวที่ตั้งไว้ “ไม่ต่าง” จากราคาตลาดที่มีการซื้อขาย ข้าวแห้ง (คช.15%) ที่ 8,500-8,800 บาท/ตัน ข้าวสด (คช.ประมาณ 25%) 7,200-7,500 บาท/ตัน
3) ต้องใช้หลักฐาน เช่น ใบขึ้นทะเบียนเกษตรกรและอื่น ๆ หรือไม่ เพื่อยืนยันสิทธิและจำนวนข้าวที่ขาย และจะป้องกันอย่างไรว่า ไม่เป็นการเอาข้าวของผู้ประกอบการมาสวมแล้วใช้สิทธิของชาวนาในการรับส่วนต่าง 1,000 บาท/ตัน 4) ชาวนาที่ขายข้าวนาปรังไปก่อนหน้านี้แล้ว จะมีแนวทางช่วยเหลืออย่างไร 5) การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวในฤดูนาปรังมีจำนวนพื้นที่และจำนวนชาวนากี่ราย 6) ข้อเท็จจริงที่ในวงการค้าข้าวและชาวนารับรู้กันว่าปัจจุบัน มีเกษตรกรนำข้าวที่ไม่เป็นพันธุ์ข้าวของไทยมาปลูกจำนวนมากในพื้นที่ภาคกลางและภาคเหนือ ในส่วนนี้จะมีการจำกัดสิทธิเข้าโครงการหรือขึ้นทะเบียนเกษตรกรอย่างไร
7) ชาวนาเพาะปลูกข้าวในฤดูนาปรังมีหลายสายพันธุ์ เช่น ข้าวหอมปทุม พันธุ์ข้าวกลุ่มข้าว 5% กข.79 พื้นนุ่ม ข้าวเหนียว จะดูแลแต่ละกลุ่มข้าวอย่างไร ควรจะกำหนดมาตรการในคราวเดียวกัน 8) สมาคมชาวนาและเกษตรกรไทยได้นำเสนอ ให้จ่ายเงินโดยตรงให้ชาวนา 500 บาท/ไร่ หรือที่ชาวนาที่ออกมาเรียกร้องเสนอให้มีการ “ประกันรายได้” เพราะเหตุผลใดจึงไม่นำมาพิจารณา ทำไมไม่จ่ายตรงให้กับชาวนาเลย ทำไมต้องซื้อข้าวไปเก็บแล้วจ่ายค่าฝากให้ชาวนา 1,000 บาท/ตัน และจ่ายให้สหกรณ์และ/หรือโรงสี ที่เข้าร่วม 500 บาท/ตัน ทั้งที่เกษตรกรได้รับประโยชน์ไม่ทั่วถึง และ 9) โครงการชดเชยดอกเบี้ยให้โรงสีที่เก็บฝาก เดิมที่ให้ 3% เพิ่มชดเชยอีก 3% รวมเป็น 6% หรือว่าขึ้นโครงการใหม่เป็น 6% โดยรัฐบาลจะต้องใช้วงเงินเพิ่มอีก 500 กว่าล้านบาท ประโยชน์จะถึงมือชาวนาจริงหรือไม่ และยังมีคำถามว่าจะรู้ได้อย่างไรว่า ผู้ประกอบการ (โรงสีข้าว) จะซื้อข้าวในราคานำตลาด 200 บาทจริง
ชดเชย ดบ. 6% โรงสีขอดูก่อน
ด้านผู้ประกอบการโรงสีข้าวกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการที่ออกมาทั้ง 3 ข้อนั้น “ถือว่าดีพอใช้” เพราะมีเป้าหมายต้องการช่วยที่จะยกระดับราคาข้าวในตลาดและช่วยเหลือชาวนา แต่ก็ยังเป็นห่วงในส่วนของการนำ “ข้าวสด” ไปฝากเก็บกับกลุ่มสหกรณ์ แม้จำนวนและปริมาณสหกรณ์จะมีเพียงพอ แต่ยังมีสหกรณ์หลายกลุ่มที่ยังไม่มีความพร้อม โดยเฉพาะในส่วนของไซโลและโรงอบข้าว เพราะข้าวสดที่นำมาฝากเก็บจำเป็นจะต้องนำมาอบ และเก็บในไซโลอย่างดี เพื่อยังคงรักษาคุณภาพและปริมาณข้าว ซึ่งสหกรณ์ที่มีไซโลและโรงอบข้าวมีจำนวนยังน้อย
ส่วนมาตรการช่วยผู้ประกอบการโรงสีชดเชยดอกเบี้ย 6% มองว่า “ยังชดเชยน้อยไป” หากเทียบกับความคุ้มทุนและระยะเวลาในการฝากเก็บ เพราะจากการพิจารณามาตรการแบบเดียวกันนี้ในช่วงฤดูกาลผลิตข้าวนาปี เมื่อผู้ประกอบการมีการฝากเก็บในช่วงระยะเวลาหนึ่งตามกำหนด แต่ผลปรากฏว่า ราคาข้าวในตลาดลดลง ยกตัวอย่าง รับฝากเก็บในราคาที่ 16 บาท/กก. แต่ราคาข้าวลดลงมาอยู่ที่ 13 บาท/กก. ทำให้ผู้ประกอบการโรงสีข้าวขาดทุนในบางช่วง เพราะยังไม่สามารถระบายข้าวออกไปได้ เนื่องจากมีกำหนดเงื่อนไขในการฝากเก็บอยู่ ดังนั้นการเข้าร่วมโครงการชดเชยอัตราดอกเบี้ย 6% ครั้งนี้ โรงสีข้าวอาจจะต้องศึกษาและพิจารณาดูเงื่อนไขอย่างละเอียด เพราะหากโรงสีกระทำผิดเงื่อนไขอาจจะถูกดำเนินคดีและทำตามกฎหมายหรือไม่
ปัดประกันราคาข้าวทำไม่ได้
นายวิทยากร มณีเนตร อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวถึงสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย ออกแถลงการณ์ “ไม่เห็นด้วย” กับมาตรการช่วยเหลือราคาข้าวนาปรัง 3 ข้อ ของคณะอนุกรรมการนโยบายและบริหารข้าวแห่งชาติ ด้านการตลาด ว่าได้โทรศัพท์ไปพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจ และชี้แจงกับสมาคมชาวนาฯแล้วว่า มาตรการอาจจะไม่ตรงใจเกษตรกรทั้งหมด “ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติ และสามารถที่จะเจรจาพูดคุยกันได้” โดยในส่วนของข้อเสนอสมาคมชาวนาฯที่ต้องการให้รัฐบาลใช้มาตรการประกันราคาผลผลิตข้าวเปลือกเจ้าในฤดูนาปรังปีการผลิต 2568 ความชื้นไม่เกิน 15% ราคาไม่ต่ำกว่า 12,000 บาท/ตัน และความชื้นไม่เกิน 25% ราคาไม่ต่ำกว่า 10,000 บาท/ตันนั้น รัฐบาลไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากขัดต่อมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 พ.ย. 2566 สมัยที่นายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่ง ครม.กำหนดให้ทุกหน่วยงานหลีกเลี่ยงการดำเนินการในลักษณะการให้เงินอุดหนุน ช่วยเหลือ ชดเชย หรือประกันราคาสินค้าเกษตรโดยตรงต่อเกษตรกร และให้พิจารณาใช้มาตรการสนับสนุนการเพิ่มระดับการผลิตแทน เพื่อสร้างรายได้ที่ยั่งยืนในระยะยาว รวมทั้งอาจเข้าข่ายผิดเงื่อนไขขององค์การการค้าโลก (WTO) อีกด้วย
นอกจากนี้ สมาคมชาวนาฯยังได้เสนอให้ขยายโครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปรัง ช่วยค่าฝากเก็บ 1,500 บาท/ตัน ให้ครอบคลุมไปยังโรงสีข้าว นอกเหนือไปจากสถาบันเกษตรกร ซึ่งกรมรับข้อเสนอและเตรียมจะหารือร่วมกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร หรือ ธ.ก.ส. ถึงความเป็นไปได้และแนวทางที่เหมาะสม โดยไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติม ส่วนคุณสมบัติของเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการนั้นอยู่ระหว่างหารือรายละเอียด เบื้องต้นอาจพิจารณาจากรายชื่อเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนปลูกข้าวนาปีไว้กับกรมวิชาการเกษตร โดยจะต้องพิจารณากำหนดรายละเอียดหลักเกณฑ์อีกครั้ง เนื่องจากในอดีตรัฐบาลไม่เคยมีมาตรการช่วยเหลือด้านราคาข้าวนาปรังมาก่อน คาดว่าจะได้ข้อสรุปเพื่อเสนอให้ นบข. พิจารณาภายในสัปดาห์หน้า
ข้าวไทยแพงสุดในตลาดโลก
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ตลาดข้าวในปี 2568 มีปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่จะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดโดยเฉพาะปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกที่คาดว่า “จะเพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ซื้อลดลง” โดยจะพบว่า ผู้นำเข้าข้าวอย่างอินโดนีเซีย ซึ่งนำเข้าข้าวในปีที่ผ่านมาเฉลี่ย 4-5 ล้านตันไปแล้ว ดังนั้นในปีนี้ อินโดนีเซียจึงไม่มีแนวโน้มที่จะนำเข้าข้าว เนื่องจากยังมีสต๊อกคงเหลือ ส่วนประเทศอินเดียก็กลับมาส่งออกข้าวอีกครั้ง หลังจากที่ไม่มีการส่งออกข้าวในตลาดโลกมาถึง 2 ปี ซึ่งจะมีผลต่อราคาข้าวในตลาดโลกมาก
นอกจากนี้ยังพบว่า อินเดียมีปริมาณสต๊อกข้าวเพิ่มขึ้นเป็น 3 เท่า ประกอบกับผลผลิตในปีนี้ก็สูงสุดในรอบ 30 ปี คาดว่าจะมีผลผลิตออกสู่ตลาดจำนวนมาก รวมไปถึงประเทศผู้ผลิตต่าง ๆ เช่น เวียดนาม, ปากีสถาน, เมียนมา และกัมพูชา รวมไปถึงประเทศไทย คาดว่าจะมีผลผลิตข้าวในปีนี้จะออกสู่ตลาดเป็นจำนวนมาก “ผมมองว่าสถานการณ์ข้าวโอเวอร์ซัพพลาย ส่วนความต้องการนำเข้ายังคงต้องติดตาม สำหรับการส่งออกข้าวไทยในเดือนมกราคม 2568 ไทยส่งออกข้าวเฉลี่ยอยู่ที่ 500,000-600,000 ตัน ซึ่งเป็นคำสั่งซื้อที่อยู่ระหว่างส่งมอบ ส่วนคำสั่งซื้อใหม่มีบ้าง แต่เป็นออร์เดอร์เล็กน้อย ขณะนี้ยังไม่มีคำสั่งซื้อข้าวจำนวนมาก ๆ เข้ามา” ร.ต.ท.เจริญกล่าว
อย่างไรก็ตาม เวียดนามมีการส่งออกและระบายข้าวเข้าสู่ในตลาดมากขึ้น ภายหลังจากที่ไม่สามารถส่งออกข้าวไปยังฟิลิปปินส์ได้ เนื่องจากฟิลิปปินส์มีปัญหาภายใน ดังนั้นข้าวที่เวียดนามนำออกมาขาย “จึงมีราคาถูก” เนื่องจากจำเป็นจะต้องเร่งระบายข้าวเดิมก่อนที่ข้าวใหม่จะออกมา โดยราคาข้าวขาวของเวียดนามถูกสุดเฉลี่ยอยู่ที่ 390-395 เหรียญสหรัฐ/ตัน ส่วนปากีสถานราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 400-405 เหรียญสหรัฐ/ตัน ขณะที่ข้าวไทย ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 410-415 เหรียญสหรัฐ/ตัน หรือตอนนี้ข้าวขาวไทยมีราคาแพงสุด
ข้าวล้นตลาดโลก
ด้านตัวเลขปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลก กระทรวงเกษตรสหรัฐ (USDR) ได้คาดการณ์ปริมาณผลผลิตข้าวทั่วโลกในปี 2568 ไว้ที่ 532 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 2% เมื่อเทียบจากปีที่ผ่านมา โดยประเทศที่คาดว่าจะมีผลผลิตเพิ่มขึ้น ได้แก่ จีน คาดว่าอยู่ที่ 145.28 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 0.5%, อินเดีย 145 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 5.2%, อินโดนีเซีย 34 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 3%, เวียดนาม 26.50 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 0.8% ส่วนผลผลิตข้าวไทย คาดว่าจะอยู่ที่ 20.10 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 0.5%
ขณะที่การบริโภคข้าวในตลาดโลกในปีนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ 530.52 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 1.3% โดยประเทศที่มีการบริโภคเพิ่มขึ้น เช่น อินเดียเพิ่มขึ้น 4%, อินโดนีเซียเพิ่มขึ้น 1.4%, ปากีสถานเพิ่มขึ้น 2.5%, ฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้น 3.6% ด้านการส่งออกข้าวในตลาดโลกปีนี้ คาดว่าจะมีปริมาณ 58.53 ล้านตัน โดยประเทศที่คาดว่าจะส่งออกข้าวมากสุดก็คือ อินเดีย 22.50 ล้านตัน หรือขยายตัว 26.4%, ไทย 7.50 ล้านตัน หรือหดตัว 24.2%, เวียดนาม 7.50 ล้านตัน หรือหดตัว 17%, ปากีสถาน 5.30 ล้านตัน หรือหดตัว 18.2% และกัมพูชา ส่งออกอยู่ที่ 3.40 ล้านตัน หรือหดตัว 8.1%