ส.อ.ท.จี้รัฐหั่น Adder ลดค่าไฟ TDRI ยุรื้อโครงสร้างแก้ที่ต้นตอ

ส.อ.ท.บ่นผิดหวัง มติ กกพ.ตรึงค่าไฟฟ้าใหม่ เม.ย.-ส.ค. 68 เท่าเดิม 4.15 บาทต่อหน่วย ทวงสัญญาจะกดเหลือ 3.70 บาท แนะแก้สัญญา Adder ลดได้ 17 สต. ไม่เห็นด้วยใช้วิธี Pool Gas อุตสาหกรรมโอดแบกไม่ไหว TDRI ชี้รัฐไร้ทางออก ไม่กล้าแตะผู้ผลิตรายใหญ่ แนะต้องกล้ารื้อโครงสร้างทั้งระบบ

จากกรณีที่ นายทักษิณ ชินวัตร บิดา น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ได้กล่าวถึงนโยบายค่าไฟงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 ว่า สามารถปรับลดลงได้เหลือหน่วยละ 3.70 บาท แต่ปรากฏว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 มีมติเห็นชอบ ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือค่า Ft สำหรับเรียกเก็บในงวดเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 คงเดิมไว้ที่ 36.72 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย เท่ากับ 4.15 บาท/หน่วย หรือเท่ากับอัตราค่าไฟฟ้าในปัจจุบัน

แก้สัญญา Adder ลดได้ 17 สต.

นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ผิดหวังและเสียดายโอกาสสำหรับมติของ กกพ.ที่ตรึงค่าไฟงวดหน้า ที่ 4.15 บาท/หน่วย เพราะที่ผ่านมามีการพูดกันถึงการลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย มาตั้งแต่ต้นปี 2568 กรณีแนวคิดการลดค่าไฟ 17 สตางค์ของ กกพ. ผ่านการปรับสัญญา Adder ในอดีตที่คืนทุนไปแล้ว ควรยกเลิกหรือปรับราคาให้ต่ำลงจากราคาเดิม ซึ่งจะตกเป็นภาระค่าไฟของผู้บริโภค แต่ทางฝ่ายนโยบายกลับระบุว่า “ไม่สามารถทำได้”

ทั้งนี้ สัญญา Adder และการยกเลิกสัญญาได้ยากนั้น สามารถใช้แนวทางเทียบเคียงกับกรณีที่ อัยการสูงสุด เคยให้ความเห็นกับทางภาครัฐว่า สามารถทำได้ หากยึดถือประโยชน์ของประชาชนและประเทศชาติเป็นหลัก แต่สัญญากลับไม่สามารถยกเลิกได้ ทำให้ประชาชนจ่ายค่าไฟในราคาแพง ดังนั้น แนวทางที่ กกพ.เสนอมาควรที่จะนำไปศึกษาต่อเพื่อหาวิธีลดค่าไฟฟ้าให้ได้จริง ๆ “แต่กลับไม่มีความคืบหน้า” ซึ่ง กกพ.ควรดำเนินการให้ชัดเจน และหาแนวทางผ่าด่านกฎหมายไปให้ได้

“ผมไม่เห็นด้วยกับแนวทางการลดค่าไฟให้ได้ 40 สตางค์ ผ่านการปรับโครงสร้าง Pool Gas เนื่องจากเป็นการโยกตัวเลขของภาคประชาชนมาบวกกับภาคอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันภาคอุตสาหกรรมก็เจอกับปัญหา ทั้งจากทุนจีน รวมถึงผลกระทบจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ แต่ยังจะต้องแบกรับค่าไฟแพงจาก Pool Gas ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง

ตอนนี้ยังมีความหวังและยังมีเวลาอีกกว่า 1 เดือน ที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ควรจะมีการพิจารณาค่าไฟงวดหน้าให้ถี่ถ้วน การปรับ Adder เป็นประโยชน์กับประเทศมากกว่า ไม่มีใครเดือดร้อนเพราะโรงงานไฟฟ้าเดิมคืนทุนไปแล้ว แม้ตัวเลขค่าไฟจะออกมากลาง พ.ค. ออกบิลไปแล้ว ก็สามารถออก Credit Note ส่วนลดให้ได้ ไม่ยากเลย ทำได้หมด ขึ้นอยู่กับว่าจะทำหรือไม่ เราผิดหวังว่าไม่ทำอะไรเลย” นายอิศเรศกล่าว

ADVERTISMENT

ที่ผ่านมา ส.อ.ท.เคยเสนอแนวทางในการลดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.70 บาทต่อหน่วย ประกอบด้วย 4 แนวทาง คือ 1) การรีไฟแนนซ์หนี้ของ กฟผ. ด้วยการออกพันธบัตรรัฐบาล เพื่อลดภาระดอกเบี้ย และยืดระยะเวลาการคืนหนี้ตามอายุพันธบัตร ซึ่งจะทำให้ลดค่าไฟลงได้ 0.10 บาทต่อหน่วย 2) ลดไขมัน เป็นการลด Margin ที่มากเกินไป ในทุกขั้นตอนของการจัดหา การผลิต และจำหน่ายไฟฟ้า รวมทั้งลดต้นทุนเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า คือ ก๊าซธรรมชาติ ทั้งจากอ่าวไทยและการนำเข้า LNG เช่น ลดค่าผ่านท่อ และการจัดหาที่มีราคาต่ำสุด แทนการกำหนดราคาเป้าหมาย ซึ่งจะทำให้ลดค่าไฟลงได้ 0.10-0.15 บาทต่อหน่วย

3) สนับสนุนให้ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น เปิดเสรีโซลาร์เซลล์, ปรับราคา Adder ในโรงไฟฟ้าที่คืนทุนแล้ว ลดการนำเข้า LNG ที่มีราคาแพง ซึ่งจะทำให้ลดค่าไฟลงได้ 0.10-0.15 บาทต่อหน่วย และ 4) ปรับประสิทธิภาพการบริหาร เช่น ประมูลการซื้อไฟฟ้า และจัดหา LNG แบบเสรีแทนการกำหนดเป้าหมาย ลดการสูญเสียจากผู้ลักลอบใช้ไฟฟ้าฟรี และส่งเสริมมาตรการประหยัดพลังงาน ซึ่งจะทำให้ลดค่าไฟลงได้ 0.10 บาทต่อหน่วย

ADVERTISMENT

ตรึงค่าไฟ “รัฐไร้ทางออก”

ด้าน ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวว่า มติ กกพ.ที่เห็นชอบตรึงราคาค่าไฟไว้ที่ 4.15 บาท/หน่วยนั้น หมายความว่า “ในขณะนี้รัฐบาลไม่มีทางออก” ถ้าวันนั้นอดีตนายกฯทักษิณไม่ได้พูดถึงการลดค่าไฟลง 3.70 บาท/หน่วย ก็ไม่มีใครไปดูเรื่องการปรับ Adder ลดค่าไฟลงได้ 17 สตางค์ ซึ่งผู้ที่เกี่ยวข้องทราบว่า หากจะลดค่าไฟจริง ๆ ตามแนวทางที่ กกพ.ประกาศนั้น “ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย” เนื่องจากเป็นเรื่องของการทบทวนสัญญาซื้อขายกับผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน

ดังนั้น แนวทางของ กกพ.สามารถทำได้ในระยะเวลาสั้น ถ้าจะทำให้ค่าไฟลดได้จริง ๆ โดยไม่ให้กระทบผู้ผลิตและผู้ใช้ รัฐบาลจำเป็นต้อง “เร่งปรับโครงสร้างราคาค่าไฟ” ซึ่งควรปรับโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงผ่านกลไกตลาด เนื่องจากก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลักที่ใช้ผลิตไฟฟ้าเกือบ 60% ของประเทศ โดยไทยใช้ก๊าซธรรมชาติจาก 3 แหล่ง คือ อ่าวไทย, เมียนมา และการนำเข้า LNG ดังนั้นจึงควรเปิดการแข่งขันทางด้านราคาการนำเข้า LNG ไม่เอื้อประโยชน์ต่อผู้เล่นรายใดรายหนึ่ง และมีมาตรการป้องกันการผูกขาด

รวมถึงเร่งปฏิรูปหลักการคิดค่าความพร้อมจ่าย (Availability Payment-AP) คิดเป็นประมาณ 80 สตางค์ของค่าไฟงวดปัจจุบัน ซึ่งควรพิจารณาว่าสามารถเจรจากับผู้ผลิตไฟฟ้าให้ยืดระยะเวลาอายุสัญญาได้หรือไม่

เผยโรงไฟฟ้า 7 แห่งไม่ได้ผลิตไฟฟ้า

จากข้อมูลระบุว่า ในปี 2566 กำลังการผลิตไฟฟ้าในระบบ “สูงกว่า” การใช้จริงถึง 47% (Dependable Reserve อยู่ที่ 26-30%) ซึ่งสูงกว่าระดับสำรองตามกฎหมายที่ 15% ส่งผลให้ข้อมูล ณ เดือนกันยายน 2567 มีโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) 7 แห่งจาก 13 แห่งไม่ได้เดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเลย แต่ประชาชนยังต้องจ่ายค่าความพร้อมจ่าย

ดังนั้นการประเมินความต้องการใช้ไฟฟ้าที่แม่นยำขึ้นเพื่อลดปริมาณไฟฟ้าสำรองที่มากเกินความจำเป็น และชะลอการสร้างโรงไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น จึงมีความสำคัญต่อการปฏิรูปหลักคิดค่าความพร้อมจ่าย รวมถึงเร่งปรับรูปแบบสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ให้โรงไฟฟ้าร่วมรับผิดชอบต้นทุนการก่อสร้าง เช่น โรงไฟฟ้าที่ทดแทนโรงเก่าที่หมดอายุ เพื่อลดภาระค่า AP

“ตอนนี้ค่าไฟราคา 4.15 บาท/หน่วย จะไม่กระทบใครนอกจาก กฟผ. เท่ากับว่า กฟผ.แบกรับภาระหนี้แทนประชาชน ซึ่งมองว่าให้ กฟผ.แบกหนี้ไปแล้ว ภาครัฐไม่ทำอะไรเลยก็ไม่ถูกต้อง รัฐจะต้องเร่งปรับโครงสร้างและทยอยชำระหนี้คืน รัฐต้องเร่งปรับโครงสร้างราคาค่าไฟ ถ้าไม่ทำวันนี้ เป็นที่มาว่าทำไมเป็นตัวเลข 4.15 บาท เพราะมัวแต่แก้อะไรที่ไม่ใช่โครงสร้าง เลยติดข้อกฎหมายต่าง ๆ ที่ทำไม่ได้” ดร.อารีพรกล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 26 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ตรึง ค่า Ft 36.72 สตางค์/หน่วย ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย 4.15 บาท/หน่วย งวด พ.ค.-ส.ค. 68 เมื่อพิจารณาค่าไฟงวดปัจจุบันอยู่ที่ 4.15 บาท/หน่วย ประกอบไปด้วย 1) ค่าการผลิตไฟฟ้า 3.31 บาท ประกอบด้วย ค่าเชื้อเพลิงถึง 50% อีก 30% ต้นทุนโรงไฟฟ้า 2) ค่าจัดส่ง 0.24 บาท 3) ค่าจัดจำหน่าย 0.54 บาท และ 4) ค่า Ft 0.06 บาท ส่งผลให้ ณ สิ้นเดือนสิงหาคม 2568 จะมีภาระต้นทุนคงค้างที่ กฟผ.รับภาระแทนประชาชน คงเหลืออยู่ที่ 57,150 ล้านบาท

ทั้งนี้ ยังไม่รวมมูลค่าส่วนต่างราคาก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงกับราคาก๊าซธรรมชาติที่เรียกเก็บเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2566 ของรัฐวิสาหกิจที่ประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (Shipper) อีกจำนวน 15,084 ล้านบาท