คอลัมน์ แตกประเด็น
โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์ สถาบันอาหาร
ในบรรดาอาหารอนาคต (future food) อาหารเกษตรอินทรีย์ ที่เรียกกันติดปากว่า organic foods หรือผลิตภัณฑ์ที่ได้จากผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยจากสารเคมี ดูจะเป็นที่สนใจของผู้บริโภคยุคใหม่ทั่วโลก มากกว่าอาหารอนาคตรูปแบบอื่น ด้วยกระบวนการผลิตที่ไม่ซับซ้อน คงความเป็นธรรมชาติ ส่วนใหญ่เป็นอาหารหลักที่ใช้บริโภคในชีวิตประจำวัน
หลายประเทศตลาดมีแนวโน้มเติบโตดี โดยเฉพาะในกลุ่มผู้บริโภคชาวจีนที่มีกำลังซื้อสูง และให้ความสำคัญกับสุขภาพ และความปลอดภัย จนเกิดกระแสการบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพขยายไปในวงกว้างพบว่าในปี 2560 ตลาดอาหารออร์แกนิกในจีน มีมูลค่ารวม 19,359 ล้านหยวน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ขยายตัวเฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 25.7 ต่อปี
นมและผลิตภัณฑ์นม เป็นสินค้าที่มีมูลค่าการขายมากที่สุดราว 14,000 ล้านหยวน ซึ่งล้วนนำเข้าจากต่างประเทศ
โดยสินค้าอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสขยายสู่ตลาดจีน อาทิ ข้าวสารบรรจุถุง เครื่องดื่มธัญพืช เช่น น้ำนมข้าว นมถั่วเหลือง น้ำฟักทอง น้ำงาดำ เครื่องปรุงรส เช่น ซอสถั่วเหลือง และน้ำมันมะพร้าว
มาดูที่ตลาดอาหารออร์แกนิกในญี่ปุ่นบ้าง แน่นอนว่าชาวญี่ปุ่นใส่ใจสุขภาพ และพิถีพิถันในการเลือกรับประทานอาหาร ในปี 2560 ญี่ปุ่นมีมูลค่าการจำหน่ายอาหารออร์แกนิกในประเทศรวม 42.5 พันล้านเยน ขนมปังออร์แกนิกมีมูลค่าสูงสุด 16.2 พันล้านเยน หรือราวร้อยละ 38 ของมูลค่าตลาดในประเทศ รองลงมาคือผลิตภัณฑ์ซอสและเครื่องปรุงรส ข้าวและอาหารเส้น ผลิตภัณฑ์นม และน้ำมันสำหรับประกอบอาหาร
แม้ว่าชาวญี่ปุ่นจะมีความต้องการข้าวออร์แกนิกอยู่มาก แต่ต้นทุนการผลิตในประเทศสูง ข้าวที่ผลิตได้ในญี่ปุ่นจึงเป็นเพียงการลดปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีและสารฆ่าแมลงลงครึ่งหนึ่ง สินค้าอาหารออร์แกนิกที่ไทยมีโอกาสขยายสู่ตลาดญี่ปุ่น อาทิ น้ำมันมะพร้าว ข้าว ซอสและเครื่องปรุงรส เช่น น้ำสลัดงาคั่ว น้ำสลัดซีอิ๊วญี่ปุ่น เต้าเจี้ยว เครื่องแกง เครื่องเทศ
ซึ่งควรมีการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สะดวกต่อการรับประทานและมีข้อมูลแสดงคุณประโยชน์ของสินค้าต่อร่างกาย
มีข้อสังเกตว่าอุตสาหกรรมอาหารออร์แกนิกในญี่ปุ่นยังคงกระจายตัวค่อนข้างสูง พบว่าร้อยละ 38 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าออร์แกนิกทั้งหมด เป็นผู้ผลิตประเภทโฮมเมด หรือขนาดเล็กแบบครัวเรือน และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้ผลิตเบเกอรี่ปัจจุบันชาวญี่ปุ่นนิยมสั่งซื้อสินค้าอาหารออร์แกนิกผ่านช่องทางออนไลน์มากที่สุด มีสัดส่วนร้อยละ 40.3 ของมูลค่าการค้าปลีกสินค้าอาหารออร์แกนิกทั้งหมดในตลาดญี่ปุ่น รองลงมาคือช่องทางซูเปอร์มาร์เก็ต ร้อยละ 20.9มาถึงตรงนี้ ทำให้ผมนึกถึงเกษตรกร ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในบ้านเรา ที่เป็นคนรุ่นใหม่ เอาจริงเอาจังกับการทำเกษตรอินทรีย์ ผลิต แปรรูป และจำหน่ายด้วยตนเองผ่านช่องทางออนไลน์ น่าชื่นชมมากครับ ผมหวังว่าการผลิตอาหารออร์แกนิกแบบจริงจังในเมืองไทยจะกลายเป็นกระแสต่อเนื่อง และขยายตัวไปในวงกว้างขึ้นเรื่อย ๆ
แม้ตลาดอาหารออร์แกนิกจะเป็นสินค้าที่มีผู้บริโภคเฉพาะกลุ่ม (niche) เนื่องจากมีราคาสูง แต่เท่าที่ทราบ หลายรายผลิตเท่าไหร่ก็ไม่พอขาย หากเกษตรกรหรือผู้ประกอบการรายย่อย มีการรวมกลุ่มแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ เพื่อเป้าหมายการส่งออกที่ถูกต้องตามหลักมาตรฐานสากล และใช้ช่องทางขายผ่านออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ไม่ว่าจะเป็นตลาดญี่ปุ่น จีน หรือประเทศไหนในโลก ผมคิดว่าเราจะก้าวไปได้เร็วและยั่งยืนแน่นอนครับ