“ปรเมธี” ชี้ ขจัดความจน-ลดความเหลื่อมล้ำ พาพ้นกับดักรายได้ปานกลาง-ประเทศพัฒนาแล้ว

เมื่อเวลา 13.30 น. ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิต์ นายปรเมธี วิมลศิริ ปลัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ “SDGs สะพานเชื่อม ลดเหลื่อมล้ำประเทศไทย” จัดโดย “หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ” ตอนหนึ่งว่า เพื่อผลักกันเป้าหมาย SDGs Gold ของประเทศไทยเป็นพันธกิจระดับโลกที่ประเทศไทยรับรองการขับเคลื่อน 17 เป้าหมาย 169 เป้าประสงค์ 241 ตัวชี้วัด ครอบคลุมทุกมิติของการพัฒนา
 
SDGs บนเวทีโลก ประเทศไทยต้องอธิบายให้ประเทศต่าง ๆ เห็นภาพว่ายุทธศาสตร์ชาติสอดคล้องกับ SDGs อย่างไร SDGs จึงเป็นกรอบและเป้าหมายของทุกเรื่องเพื่อสนับสนุนประเทศไทยให้เข้าสู่เป้าหมายยุทธศาสตร์ชาติในระยะ 20 ปี ภายใต้วิสัยทัศน์ มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง
 
สำหรับ 6 ยุทธศาสตร์ชาติ 11 ด้านปฏิรูปและแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 12 ตอบสนองเป้าหมายและสอดคล้องซึ่งกันและกันกับ SDGs ทำให้ประเทศได้ประโยชน์ตามเป้าหมาย โดยมีคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขับเคลื่อน SDGs และหน่วยงานรับผิดชอบในเป้าหมายกว่า 200 ตัวชี้วัดชัดเจน และประเมินผลก้าวหน้าของตัวชี้วัด
 
นายปรเมธีกล่าวว่า ความท้าทายของการทำยุทธศาสตร์เพื่อพัฒนาประเทศและความท้าทายของ SDGs ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ภาคธุรกิจสามารถเข้ามาสนับสนุนหรือนำไปใช้ต่อยอดทางธุรกิจได้ เพราะการพัฒนาที่ยั่งยืน ปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจเป็นเรื่องสำคัญ ถ้าเศรษฐกิจไปไม่ได้ เศรษฐกิจแย่ การพัฒนาสังคมก็เป็นไปได้ยาก และโกลด์ ข้อที่ 8 เรื่องการเจริญเติบโตของประเทศ การจ้างงานทั่วถึง เชื่อมกับโกลด์อื่น ๆ เช่น โกลด์ที่ 9 โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน หรือ โกลด์ที่ 11
 
“หากมองย้อนกลับไปเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา สมัยที่ตนเป็นเลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เศรษฐกิจไม่ค่อยโต คนค่อนข้างหมดหวัง อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจร้อยละ 3 เก่งแล้ว เป็น นิวนอร์มอล ไม่มีใครลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันภายในประเทศ มีแต่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ อย่างไรก็ตามเศรษฐกิจไทยยังไม่เต็มศักยภาพ เนื่องจากอุปสรรคหลายประการและเครื่องจักรยังไม่เดินไม่เต็มที่”
 
อย่างไรก็ดีวันนี้พิสูจน์ให้เห็นจากอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเชื่อว่าในปี 2561 จะสามารถขยายตัวได้ร้อยละ 4.5 และคาดการณ์กันว่าเศรษฐกิจไทยจะสามารถขยายตัวได้ถึงร้อยละ 5 จากการลงทุนในอุตสาหกรรมต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น อาทิ รถยนต์ พลังงานทดแทน ปิโตรเคมี เพราะฉะนั้นเรื่องความยั่งยืน การเจริญเติบโตต่อเนื่องเป็นไปได้ ถ้าสามารถทำสิ่งที่ทำอยู่ต่อเนื่อง จึงเป็นไปได้ที่ในระยะ 20 ปี ประเทศไทยจะเป็นประเทศที่มีรายได้สูง
 
นายปรเมธีกล่าวว่า อย่างไรก็ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วตามวิสัยทัศน์ของยุทธศาสตร์ชาติ มีรายได้สูงอย่างเดียว ไม่เพียงพอ สังคมต้องพัฒนาคนให้มีคุณภาพด้วน เป็นประเด็นท้าทายมากยิ่งกว่าการพัฒนาด้านเศรษฐกิจด้วยซ้ำ ดังนั้น SDGs ในด้านต่าง ๆ มีหลายเรื่องให้ความสำคัญและตั้งเป้าเรื่องสังคาและสิ่งแวดล้อม ความท้าทายของประเทศไทยที่สำคัญ เป้าหมายที่ 1 การลดความยากจนในทุกมิติและเป้าหมายที่ 10 เรื่องการลดคามเหลื่อมล้ำมีความท้าทายมาก
 
“ถ้าในอีก 20 ปี ประเทศไทยเป็นประเทศพัฒนาแล้วที่มีความหมายแท้จริง ควรดูแลไม่ ทิ้งใครไว้ข้างหลังและดูแลคนเหล่านี้ไปพร้อมกัน เพราะฉะนั้นเป้าหมาย SDGs เรื่องลดความเหลื่อมล้ำ ลดความยากจนในทุกมิติจึงเป็นความท้าทายที่ใหญ่ สำหรับการบรรลุ SDGs เป้าหมายของยุทธศาสตร์ประเทศเพื่อเป็นประเทศพัฒนาแล้วและไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”