“บิ๊กเต่า” ยันไม่มีขยะอิเล็กทรอนิกส์ทะลักเพิ่ม ขู่ตัดสิทธิ์พวกทำผิดกม.

เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการเพื่อบูรณาการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ และเศษพลาสติกที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างเป็นระบบ กล่าวว่า กรณีคณะอนุกรรมการฯ เตรียมเสนอห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ 432 รายการ ภายใน 6 เดือนนั้น ทำให้ประชาชนเกิดความสงสัยว่าในช่วง 6 เดือน จะทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์ไหลทะลักเข้ามาในประเทศจำนวนมากอีกหรือไม่ ขอชี้แจงว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น เพราะขณะนี้ได้มีประกาศกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรมการห้ามนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท แต่เพื่อให้มีการหยุดการนำเข้าขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างยั่งยืนจึงต้องมีประกาศกระทรวงพาณิชย์ให้ชัดเจนใน 432 รายการ ดังกล่าว กับสินค้าใช้แล้วทั้งหมดที่ต้องห้าม เว้นแต่จะยืนยันถึงความจำเป็นและที่มาของสินค้าได้ ซึ่งเป็นมติที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งที่ผ่านมา

ผู้สื่อข่าวถามว่า จะสามารถนำเสนอต่อคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อออกประกาศบังคับใช้ได้เมื่อใด พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังรอการประชุมคณะอนุกรรมการฯ ครั้งหน้า คาดว่าจะมีการประชุมในวันที่ 5 กันยายนนี้ ซึ่งที่ประชุมยังพิจารณาค้างอยู่ในเรื่องเศษพลาสติกที่ชัดเจนว่าจะหยุดการนำเข้าภายใน 2 ปี แต่ในช่วงเปลี่ยนผ่านนี้โควต้าที่แต่ละบริษัทมีอยู่นั้น มีจำนวนเท่าไร และหากทำผิดกฎหมาย โควต้านี้ก็ต้องหมดไป จึงต้องไปดูตัวเลขให้ชัดเจน ซึ่งกรมโรงงานฯ กำลังดำเนินการตรวจสอบและจะนำเสนอเพื่อนำเสนอต่อที่ประชุม ซึ่งหวังว่าวันที่ 5 กันยายนนี้ จะได้ข้อมูลที่ชัดเจนและเปิดเผย เพื่อนำเสนอ ครม.ต่อไป

เมื่อถามถึงความคืบหน้าที่ได้สั่งการให้กรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลในเรื่องการคัดแยกและรีไซเคิลขยะ รวมทั้งการแก้ปัญหาการปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนนั้น พล.อ.สุรศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษา ล่าสุดผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้ลงพื้นที่ อบต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย และผู้ว่าราชการจังหวัดอุบลราชธานี กำลังเข้าไปตรวจสอบพื้นที่ แต่ขอให้ทุกฝ่ายใจเย็นๆ เพราะต้องเห็นใจประชาชนที่ทำอาชีพคัดแยกขยะมาเป็นเวลา 20 ปี แต่ที่น่าห่วงกว่าคือ สุขภาพของประชาชน ซึ่งจะมีการพิจารณาด้วยว่าจำเป็นต้องสร้างเตาเผาขยะในพื้นที่ด้วยหรือไม่

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 27 สิงหาคมนี้ คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (วิป สนช.) จะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ พ.ศ. …(Waste from Electrical and Electronic Equipment: WEEE ) โดยหากวิป สนช. เห็นชอบจะได้เสนอต่อ สนช. ต่อไป ทั้งนี้ร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ทส.ยกร่างและผลักดันตั้งแต่ช่วงปี 2547 ซึ่งได้รับความเห็นชอบจาก ครม.เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2560 และผ่านขั้นตอนการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วนตามมาตรา 77 รัฐธรรมนูญปี 2560 เมื่อเดือนมกราคม คณะอนุกรรมการประสานการเร่งรัด ติดตาม และพิจารณาร่างกฎหมายในกระบวนการนิติบัญญัติ (อนุ วิป ปนช.) ได้ขอให้ปรับปรุงตามข้อสังเกต ซึ่ง ทส. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวแล้วเสร็จ และเสนอผ่าน อนุ วิป ปนช. เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม

สำหรับร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ ใช้หลักการให้ผู้ผลิตรับผิดชอบในการจัดการซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนอย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น 5 หมวด 35 มาตรา มาตรา 1-6 กล่าวถึงคำนิยามและซากเครื่องใช้ไฟฟ้าที่จะใช้บังคับ 5 ลำดับแรก ได้แก่ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ โทรทัศน์ และตู้เย็น โดยที่ หมวด 1 (มาตรา 7- 13) กล่าวถึงการจัดการซากฯ หมวด 2 (มาตรา 14-17) กล่าวถึงหน้าที่และความรับผิดชอบของผู้ผลิต หมวด 3 (มาตรา18- 19) กล่าวถึงการเผยแพร่ความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการซากฯ) หมวด 4 (มาตรา 20-22) กล่าวถึงการตรวจสอบและควบคุม และหมวด 5 (มาตรา 23-34) กล่าวถึงบทกำหนดโทษ และมาตรา 35 กล่าวถึงระยะเวลาการขอจัดตั้งศูนย์รับคืนซากฯ

แหล่งข่าวใน ทส. เปิดเผยว่า ขณะที่รัฐบาลกำลังแก้ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นำเข้าจากต่างประเทศและก่อมลพิษในประเทศ แต่ขยะอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศยังไม่มีกฎหมายใดจัดการอย่างจริงจัง ทำให้พบการแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและเผากลางแจ้งเพื่อเอาวัสดุมีค่าในหลายพื้นที่ ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชน หากร่าง พ.ร.บ.การจัดการซากผลิตภัณฑ์ฯ มีผลบังคับใช้ ซากเครื่องใช้ไฟฟ้าจากบ้านเรือนจะได้รับการจัดการอย่างถูกวิธี มีการคัดแยกชิ้นส่วน วัสดุมีค่า เช่น ทองแดง ทองคำ เงิน จะถูกนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเป็นการลดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับสารอันตราย เช่น ปรอท แคดเมียม ตะกั่ว จะถูกกำจัดอย่างถูกหลักวิชาการต่อไป

 

ที่มา มติชนออนไลน์