อารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ตอบข้อสงสัย “โรงไฟฟ้าสตึงมนัม”

สัมภาษณ์พิเศษ

ร่างบันทึกความเข้าใจการรับซื้อไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนสตึงมนัม (Tariff MOU) ระหว่าง บริษัท กฟผ.อินเตอร์เนชั่นแนล กับบริษัท Steung Meteuk Hydropower Co, Ltd. หรือ SMH ซึ่งคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) มีมติให้ความเห็นชอบให้นำเสนอ ครม. “เพื่อทราบ” ต่อไปนั้น ได้ก่อให้เกิด “คำถาม” ตามมาด้วย “การวิพากษ์วิจารณ์” ในประเด็นต่าง ๆ มากมาย ไม่ว่าจะเป็นราคาค่าไฟฟ้าที่แพงถึงหน่วยละ 10.75 บาท อัตราค่าน้ำจากโครงการที่ผันเข้ามาฝั่งไทยโดยอ้างว่า ไม่มีการคิดค่าน้ำ แต่กลับมีการค้นพบว่า ค่าน้ำที่อ้างว่า “จะให้ฟรี ๆ นั้น” แท้จริงได้บวกเข้าไปในค่าไฟฟ้าแล้ว ไปจนกระทั่งถึงความคุ้มค่าและความจำเป็นของโครงการดังกล่าว

โดยล่าสุด นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน ได้ตอบข้อสงสัยข้างต้น มีรายละเอียดดังต่อไปนี้

Q : ความเป็นมาของโครงการ

จุดเริ่มต้นของโครงการนี้อยู่ที่ต้องสร้างเขื่อนในฝั่งกัมพูชา และเขื่อนมันมี Minimum ที่จะต้องสร้าง เขื่อนนี้ต้องสร้างเพื่อนำน้ำเข้ามาใช้ประโยชน์ วัตถุประสงค์ก็คือ เราต้องการใช้น้ำเป็นหลักก่อน โรงไฟฟ้าที่จะต้องสร้างก็เป็นขนาดเล็ก แต่การลงทุนเขื่อนทำให้ต้องสร้างโรงไฟฟ้าตามมาด้วย น้ำเดิมทีมีปริมาณอยู่ที่ 1,000 คิว/วัน ตามที่เคยหารือไว้กับรัฐบาลกัมพูชา โดย

หลักการก็คือ น้ำจะถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วนส่วนละ 500 คิว ซึ่งมันจะทำให้สร้างโรงไฟฟ้าได้ขนาดใหญ่ขึ้นตามไปด้วยมาอยู่ที่กำลังผลิต 40-50 เมกะวัตต์ (MW)เพื่อให้ตัวเลขการลงทุนลดลงและคุ้มค่ามากขึ้น เมื่อเราต้องนำน้ำเข้ามาก็ต้องหารือเพิ่มเติมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงกรมชลประทาน ว่าต้องการปริมาณน้ำเท่าไหร่ ซึ่งก็คือ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ทำให้สร้างเขื่อนได้เท่าเดิม โรงไฟฟ้าจึงต้องไซซ์เล็กตามไปด้วย

ทั้งหมดมีรายละเอียดแค่นี้ มันต้องสร้างเขื่อนอยู่แล้ว เพื่อให้สร้างโรงไฟฟ้าขึ้นมาได้ จริง ๆ แล้วเราต้องการแค่ปริมาณน้ำเพื่อนำมารองรับการใช้ แต่คงไม่มีประเทศใดที่จะยอมให้ต่างชาติมาสร้างเขื่อนในประเทศแล้วผันน้ำกลับไปใช้ในประเทศนั้น ๆ อีก ทางเราจึงต้องเพิ่มโรงไฟฟ้าเข้าไปด้วย ซึ่งในทางปฏิบัติหากนำแค่น้ำเข้ามาก็สามารถให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯทั้ง 2 ประเทศคุยกันก็จบแล้ว แต่ทันทีที่มีกระแสข่าวว่าจะมีการผลักดันโครงการนี้โดยตั้งโรงไฟฟ้าดังกล่าว

ในฝั่งเขมรก็เริ่มมีการต่อต้านจากประชาชน เราจึงต้องเพิ่มในเรื่องประโยชน์ในการพัฒนาโรงไฟฟ้าเข้าไปด้วย ถ้าบอกว่าจะพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าเขายอมรับได้ แต่ถ้าเป็นการพัฒนาเขื่อนเพื่อผันน้ำมาใช้อย่างเดียว เขาไม่ให้เราแน่นอน

ต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ค่อนข้างแพงเพราะมันต้องสร้างเขื่อน เพื่อผันน้ำมาและตั้งโรงไฟฟ้าเข้าไปแค่ 20 กว่าเมกะวัตต์ เมื่อนำมาหารต้นทุนในส่วนอื่น ๆ มันจึงค่อนข้างสูง แต่ทั้งนี้ทางกระทรวงพลังงาน ก็ได้อธิบายไว้ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ไว้แล้วว่า เป็นแบบนี้

Q : เราต้องการอะไรจากสตึงมนัม

ไฟฟ้าจากเขื่อนสตึงมนัมจะส่งกลับมาใช้ในประเทศไทยทั้งหมดในพื้นที่ภาคตะวันออก มีการมองว่าปริมาณไฟฟ้าในพื้นที่ดังกล่าวค่อนข้างมากและอาจจะล้นระบบด้วยซ้ำนั้น เขื่อนนี้ผลิตไฟฟ้าแค่ 24 MW ขณะที่ในพื้นที่ตะวันออกเองก็มีกำลังผลิตไฟฟ้าอยู่ราว 10,000 MW ไม่ได้กระทบต่อระบบ แต่โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมนั้น เราต้องการน้ำเพื่อรองรับพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) เพราะว่าปริมาณน้ำดิบที่มีอยู่ในระบบปัจจุบันไม่พอรองรับแน่นอน

ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการพัฒนา EEC ก็มีการหารือกันมาอย่างต่อเนื่องว่า ประเทศไทยมีความจำเป็นในการใช้น้ำ ตอนนี้ผมเป็นห่วงฝ่ายค้านของรัฐบาลกัมพูชา เพราะการเลือกตั้งครั้งที่แล้ว นายกฯฮุน เซน เสียคะแนนไปค่อนข้างมาก แต่นายกฯฮุน เซน ก็เห็นด้วยกับการพัฒนาโครงการสตึงมนัมจึงอนุมัติ ทุกอย่างมันมีจังหวะ หากมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาล สุดท้ายแล้วโครงการนี้อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงก็ได้

Q : มติ กพช.

ในการประชุมของ กพช.ครั้งล่าสุดที่ผ่านมานั้น กพช.ได้อนุมัติในหลักการแล้วว่า อัตราค่าไฟฟ้าจากโครงการนี้จะต้องไม่เกิน 10 บาท/หน่วย ซึ่งรายละเอียดเพิ่มเติมก็คือ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตฯ (กฟผ.) ไปเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าต่อไป ถ้าพูดถึงความจำเป็นมันเห็นกันอยู่แล้ว ซึ่งฝ่ายค้านแต่ละประเทศก็จะออกมาแสดงความเห็นในประเด็นเหล่านี้ ส่วนมูลค่าการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังน้ำสตึงมนัม ในกรณีที่ตั้งโรงไฟฟ้าอยู่ในฝั่งกัมพูชาอยู่ที่ 9,554 ล้านบาท ยังไม่รวมการพัฒนาระบบท่อที่จะกระจายน้ำต่อไปเพื่อใช้ในภาคตะวันออก

Q : ค่าไฟฟ้าแพง

โครงการโรงไฟฟ้าสตึงมนัมค่อนข้าง Sensitive ต้องยอมรับว่า อัตราค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง แต่เนื่องจากมีกำลังผลิตเพียง 20 กว่าเมกะวัตต์ ผมขอยืนยันว่าจะไม่กระทบค่าไฟฟ้าที่จะต้องเรียกเก็บจากประชาชนแน่นอน แต่ที่กระทรวงพลังงานต้องเดินหน้าและผลักดันนั้น เพราะความจำเป็นในอนาคตของพื้นที่ EEC ที่อาจจะขาดน้ำ เราจึงต้องการน้ำและได้มาบอกความจำเป็นนี้กับกระทรวงพลังงาน

Q : ขั้นตอนต่อจากนี้

คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ได้อนุมัติในหลักการ โดยในการหารือใน กพช.ครั้งล่าสุด เราก็เน้นย้ำให้อัตราค่าไฟฟ้าจากโครงการดังกล่าวให้ไม่เกินที่ 10 บาทกว่า/หน่วย และจะตั้งโรงไฟฟ้าในพื้นที่ฝั่งเขมร ซึ่งขณะนี้อยู่ในระหว่างให้ กฟผ.เข้าไปเจรจาสัญญาซื้อขายไฟฟ้าตามกรอบที่ กพช.ให้มา ซึ่งคาดว่า กฟผ.จะนำเสนอต่อ กพช.เพื่ออนุมัติสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในโครงการดังกล่าวภายใน 2 เดือน