เทพันล้าน! บูมสมุนไพรหนุนส่งออกโกยเงินนอก

ธุรกิจตีปีกรับสมุนไพรไทยขาขึ้น แนะรัฐเร่งส่งเสริมมาร์เก็ตติ้ง-ช่องทางขาย รัฐบาลทุ่มงบฯกว่าพันล้านผลักดันแผนแม่บทสมุนไพรแห่งชาติ จัดสรร 9 กระทรวงขับเคลื่อน กางโรดแมป 5 ปีส่งเสริมต้นน้ำถึงปลายน้ำ ปูพรมพื้นที่เพาะปลูกสมุนไพร ผุดเอาต์เลตเมืองท่องเที่ยว-เจาะค้าปลีก

นายวัฒนศักดิ์ ศรรุ่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายสมุนไพรแห่งชาติ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า กลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รัฐบาลได้มอบงบประมาณเป็นจำนวน 1,258 ล้านบาทเพื่อขับเคลื่อนเรื่องแผนแม่บทแห่งชาติว่าด้วยการพัฒนาสมุนไพรไทยที่มีหน่วยงานเกี่ยวข้อง 9 กระทรวง โดยกระทรวงสาธารณสุขเป็นแกนร่วมมือประสานงาน โดยเป้าหมายในแผนที่ 1 มีระยะเวลาดำเนินงาน 5 ปี (2560-2564)

โรดแมป 5 ปีแบ่งเป็น 3 เฟสเรียกว่า 1+1+3 โดยเริ่มจากปี 2560 นี้มุ่งโฟกัสการสร้างพื้นฐานการผลิต ปีถัดไปจะมุ่งเน้นเรื่องการทำตลาดในประเทศ และอีก 3 ปีที่เหลือจะเน้นเรื่องการส่งออก โดยกลุ่มซีแอลเอ็มวีเป็นประเทศที่มีการเติบโตน่าสนใจ รวมถึงญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

จากแนวทางดังกล่าวจะขับเคลื่อนภายใต้ 4 ยุทธศาสตร์สมุนไพร อาทิ ส่งเสริมผลิตผลของสมุนไพรที่มีศักยภาพ, พัฒนาอุตสาหกรรมและการตลาดสมุนไพรให้มีคุณภาพระดับสากล, ส่งเสริมการใช้สมุนไพรเพื่อการรักษาโรคและสร้างเสริมสุขภาพ, สร้างความเข้มแข็งของการบริหารและนโยบายภาครัฐ โดยมีเป้าหมายมุ่งสร้างมูลค่าผลิตภัณฑ์สมุนไพรในประเทศให้โตเฉลี่ย 10-15% ต่อปี จากมูลค่าสมุนไพรในประเทศที่มี 1.8 แสนล้านบาท ตั้งเป้า 5 ปีนี้จะเพิ่มมูลค่าเป็น 2 เท่าหรือ 3.6 แสนล้านบาท และเป็นประเทศส่งออกวัตถุดิบสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สมุนไพรชั้นนำของอาเซียน

สำหรับการขับเคลื่อนปี 2560 นายวัฒนศักดิ์กล่าวว่างบประมาณได้กระจายไปในภาคส่วนต่าง ๆ อาทิ โครงการขับเคลื่อนสมุนไพรเชิงเศรษฐกิจ 525 ล้านบาท แบ่งเป็นการพัฒนาศักยภาพทางการตลาดผู้ประกอบการ 100 รายและพัฒนา SME ด้านสมุนไพร 40 กิจการ งบวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 251 ล้านบาท ด้านวัตถุดิบ 56 ล้านบาทที่มีการส่งเสริมปลูกสมุนไพร 3,780 ไร่ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีโครงการอภัยภูเบศร บิสซิเนสโมเดล 394 ล้านบาทในการพัฒนาการปลูกและแปรรูปและพัฒนาการตลาดยกระดับอุตสาหกรรมโดยคาดหวังจะสร้างรายได้ 2,500 ล้านบาทใน 3 ปี, โครงการเมืองสมุนไพรกลุ่มจังหวัด 338 ล้านบาท เป็นต้น

“รัฐบาลมองไปถึงความร่วมมือกับภาคเอกชนทั้งรายย่อยและรายใหญ่ด้วย โดยมีการเจรจาผ่านเครือข่ายสภาอุตสาหกรรม พร้อมส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการลงทุนต่าง ๆ รวมทั้งพยายามปลดล็อกเรื่องการขอขึ้นทะเบียน เพื่อให้ผลิตภัณฑ์ออกมาและขายได้ง่ายขึ้น”

ด้านการจัดการเกี่ยวกับสมุนไพรครบวงจรได้ 4 จังหวัดนำร่องทำหน้าที่ซัพพลายเชนสำคัญให้ผู้ประกอบการ ได้แก่ เชียงราย สกลนคร ปราจีนบุรี สุราษฎร์ธานี และจะเพิ่มอีก 9 จังหวัดรวมเป็น 13 จังหวัดในปี 2561 อาทิ พิษณุโลก อุทัยธานี นครปฐม จันทบุรี เป็นต้น พร้อมทั้งวางแผนในงานสมุนไพรแห่งชาติที่จะมีขึ้นระหว่าง 30 สิงหาคม-3 กันยายนนี้

นายวัฒนศักดิ์กล่าวถึงช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์สมุนไพรไทยว่า มีแผนพัฒนาฟาร์มเอาต์เลตสโตร์ แฟลกชิปสโตร์ โมเดิร์นเทรด ร้านเพื่อสุขภาพและความงาม เอาต์เลตตามแหล่งท่องเที่ยวและถนนราชดำเนิน รวมทั้งอีคอมเมิร์ซและส่งออก

ด้านผู้ประกอบการ ดร.บังอร เกียรติธนากร นายกอุตสาหกรรมสมุนไพรมองถึงโอกาสและความท้าทายของสมุนไพรว่าตอนนี้เป็นโอกาสอย่างมากของสมุนไพรหรือเป็นช่วงขาขึ้น ซึ่งตลาดมีความต้องการอยู่แล้ว ดังนั้นภาครัฐควรเร่งส่งเสริมด้านการตลาดเพื่อสร้างการรับรู้ รวมถึงกฎหมายสนับสนุนผู้ประกอบการในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายง่ายขึ้น

“การส่งออกสมุนไพรในตลาดโลกมีผู้นำเข้ามากสุดคือ อเมริกา เยอรมนี ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น อังกฤษ คู่แข่งส่งออกอันดับต้น ๆ คือ จีน อเมริกา อินเดีย เยอรมนี ฝรั่งเศส ขณะที่ไทยนำเข้าสมุนไพร 3,000 ล้านบาทและส่งออก 800 ล้านบาท ถ้าสามารถทดแทนการนำเข้าได้ถือเป็นมูลค่ามหาศาล รวมถึงการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์และการตลาดสร้างแบรนด์และช่องทางจำหน่ายเป็นอีกปัจจัยสำคัญ”

นายนาคาญ์ ทวิชาวัฒน์ นายกสมาคมอุตสาหกรรมสมุนไพรไทย กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ไม่มีงบฯ สนับสนุนเกี่ยวกับสมุนไพร แต่ตอนนี้มีงบฯ ออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งมองว่าภาครัฐควรให้น้ำหนักการวิจัยและมาร์เก็ตติ้งให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มขีดความสามารถให้ผู้ประกอบการ รวมถึงการพัฒนาแพ็กเกจจิ้งและช่องทางจำหน่ายทางออนไลน์และต่างประเทศ