ปิดดีลโปรเจ็กต์ยักษ์ ก.พ.62 อัดช็อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2 โด๊ปเศรษฐกิจ

“สมคิด” เร่งกู้ ศก. โหมเมกะโปรเจ็กต์ 2.4 ล้านล้าน เร่งปิดดีล EEC 5 โครงการ 6.5 แสนล้าน ขายทีโออาร์เมืองการบินขีดเส้นได้ผู้ชนะ ก.พ.ปีหน้า สั่งบีโอไอจัดแพ็กเกจออนท็อปดึงต่างชาติลงทุน คลังจัดสารพัดมาตรการกระตุ้น “เติมเงินบัตรคนจน-เพิ่มเบี้ยคนชรา-ช็อปช่วยชาติเวอร์ชั่น 2” ชง ครม. 27 พ.ย.นี้

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ในช่วงโค้งสุดท้ายของปีนี้และต้นปีหน้าจะเป็นช่วงนาทีทองของการลงทุน ทั้งจากในและต่างประเทศ รัฐบาลได้จัดสรรงบประมาณในการพัฒนาการขนส่งและโลจิสติกส์ถึง 2.4 ล้านล้านบาท ภายในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) เพื่อเชื่อมโยงและรองรับการขยายตัวทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างเป็นรูปธรรม

โหม 6.5 แสนล้านเข้าอีอีซี

ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไปแล้ว 5 โครงการ คือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน, ศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยานอู่ตะเภา, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก, โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งมีมูลค่าการลงทุนทั้ง 5 โครงการกว่า 6.5 แสนล้านบาท คาดว่าจะได้ผู้ลงนามในสัญญาภายในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

“โครงการเหล่านี้ไทยต้องการเชิญชวนเอกชนจากประเทศต่าง ๆ มาร่วมลงทุน หากมีความร่วมมือระหว่างจีนและญี่ปุ่นลงทุนร่วมกันในอีอีซีก็ทำให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างดี”

นายสมคิดกล่าว

รองนายกรัฐมนตรีกล่าวด้วยว่า รัฐบาลกำลังเร่งรัดการก่อสร้างเส้นทางคมนาคมทั้งทางบก ถนน และมอเตอร์เวย์ โครงการรถไฟฟ้าในเมืองและภูมิภาค กำลังเดินหน้าหลายเส้นทางอยู่ระหว่างการก่อสร้าง หลายเส้นทางอยู่ระหว่างการประกวดราคา หรือรอ ครม.อนุมัติ ซึ่งโครงการเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นโครงการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชนหรือ PPP

ปี 2562 นาทีทองแห่งการลงทุน

นายสมคิดกล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ในวันที่ 19 พ.ย.นี้จะออกมาตรการพิเศษทำให้ตั้งแต่วันนี้จนถึงปี 2019 จะเป็น Golden year ของการลงทุน

“เรากำลังเตรียมการต้อนรับนักลงทุนที่จะมาประเทศไทยในช่วงเวลานี้ ทำให้จีนและญี่ปุ่นเห็นว่าทิ้งไทยไม่ได้” นายสมคิดกล่าว

เร่งลงทุนรัฐวิสาหกิจ

นายสมคิดกล่าวว่า การใช้จ่ายรัฐบาล ปีหน้าจะเป็นปีที่การลงทุนโครงการใหญ่เดินหน้า การลงทุนรัฐวิสาหกิจต้องเป็นไปตามเป้าหมาย ที่ผ่านมาตกท้องช้าง เคลื่อนไม่ออก ดังนั้นเหลืออีก 1 ไตรมาสต้องเร่งให้เงินลงทุนออกสู่ระบบเศรษฐกิจ

“ถ้ารักษาอัตราการลงทุนภาครัฐและเอกชนได้ ที่เหลือคือความเชื่อมั่นของประชาชน ต้องเชื่อมั่น ต้องมั่นใจ ต้องเดินไปด้วยกัน เปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่”

นอกจากนี้ก็ได้สั่งให้กระทรวงการคลังเตรียมงบประมาณเพื่อจัดทำมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม ในกรณีที่ปัจจัยเสี่ยงจากต่างประเทศทำให้ตัวเลขการส่งออกลดลงเพราะเดือน ก.ย.ติดลบ

“ช็อปช่วยชาติ” เวอร์ชั่น 2

นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ โดยจะเน้นช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย ทั้งประชาชนทั่วไปและผู้ที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งในส่วนของผู้ถือบัตรอาจได้รับการช่วยเหลือมากกว่า นอกจากนี้ยอมรับว่า จะมีการช่วยเหลือแบบ “เติมเงิน” ให้บางส่วน และอีกหลาย ๆ มาตรการที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งกำลังพิจารณาว่าจะมีมาตรการสำหรับคนรายได้ปานกลางด้วยหรือไม่

สำหรับมาตรการภาษีช็อปช่วยชาตินั้น นายอภิศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้กำลังพิจารณามาตรการในทำนองเดียวกันนี้ คือกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอย แต่อาจไม่ได้ทำเหมือนมาตรการช็อปช่วยชาติเดิม ซึ่งยังอยู่ระหว่างหาข้อสรุป

“มาตรการช้อปช่วยชาติจะไม่ทำเหมือนเดิม เพิ่งคุยกันไป แต่ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ลงตัว” นายอภิศักดิ์กล่าว

แพ็กเกจของขวัญประชาชน

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังกล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจช่วงปลายปีนี้ของคลังจะเป็นแพ็กเกจที่เน้นกระตุ้นการบริโภคเป็นหลัก เพราะอยากให้เห็นผลทันที เนื่องจากเห็นสัญญาณที่ค่อนข้างชัดเจนว่าเศรษฐกิจไทยช่วงปลายปีจะแผ่วลงมาก แต่ภาพรวมทั้งปียังขยายตัวได้ดี เพราะอานิสงส์จากครึ่งปีแรกที่เศรษฐกิจขยายตัวได้ 4.8%

หากได้ข้อสรุปรัฐบาลจะประกาศให้เป็นของขวัญแก่ประชาชน อย่างเช่น มาตรการที่หวังผลกระตุ้นการบริโภคมากที่สุด โดยใช้มาตรการทางภาษีในทำนองเดียวกับช็อปช่วยชาติที่ให้ลดหย่อนภาษีในการซื้อสินค้าได้ไม่เกิน 15,000 บาท แต่จะนำระบบอีเพย์เมนต์มาเชื่อมโยง คือการคืนภาษี จากการจ่ายเงินซื้อสินค้าและบริการผ่านระบบพร้อมเพย์

“ช่วงเวลาการทำมาตรการอาจจะ 7 วัน หรือ 1 เดือน ตอนนี้ยังไม่นิ่ง ต้องหาข้อสรุปอีกที” แหล่งข่าวกล่าว

เพิ่มเบี้ยคนชรา

ส่วนอีกมาตรการจะเป็นการเติมเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมเข้าไป เช่น การเติมเงินช่วยค่าน้ำมันสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการที่ขับจักรยานยนต์รับจ้าง การคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ให้คนจน เป็นต้น รวมทั้งมาตรการดูแลผู้สูงอายุ โดยมีข้อเสนอให้เพิ่มเบี้ยคนชราเพื่อใช้เป็นค่าเดินทางไปโรงพยาบาล และหากมีเงินส่วนที่ไม่ได้ใช้ หรือเหลือจากการเดินทางจะนำมาใส่ในกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) รวมถึงมีแนวคิดให้ทำประกันสุขภาพให้แก่ผู้สูงอายุด้วย

อย่างไรก็ดี มาตรการทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ยังต้องประชุมหารือกันอีกเพื่อให้ได้ข้อสรุปแล้วเสนอ รมว.คลัง ในวันที่ 23 พ.ย. และเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 27 พ.ย.ต่อไป

“สมคิด” ถกรัฐวิสาหกิจบี้ลงทุน

แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า วันที่ 21 พ.ย.นี้ รองนายกฯสมคิดจะเรียกผู้บริหารรัฐวิสาหกิจมาประชุมเพื่อเร่งรัดเบิกจ่ายงบฯลงทุน ในช่วงปลายปีนี้ต่อเนื่องถึงต้นปีหน้า หรือก่อนจะมีการเลือกตั้ง

“ก่อนการเลือกตั้งอาจเกิดการชะลอตัวเรื่องการเบิกจ่ายงบฯลงทุน แต่ประเทศรอไม่ได้ ไม่ว่าใครจะมาเป็นรัฐบาล ดังนั้นก็ต้องเร่งทุกจังหวะ” แหล่งข่าวกล่าว

ขณะที่นายชาญวิทย์ นาคบุรี รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะโฆษก สคร.กล่าวว่า ขณะนี้ สคร.กำลังวิเคราะห์การเบิกจ่ายงบฯลงทุนของรัฐวิสาหกิจรายโครงการ โฟกัสโครงการลงทุนขนาดใหญ่ เนื่องจากจะเกิดผลในทางเศรษฐกิจได้มาก อาทิ โครงการรถไฟทางคู่ โครงการขยายสนามบินสุวรรณภูมิ เป็นต้น

EEC เร่งประมูล 5 โครงการ 

นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) กล่าวว่า ภายในเดือน พ.ย.นี้จะทยอยเปิดให้เอกชนไทยและต่างชาติทั่วโลกที่สนใจเข้าร่วมประมูล PPP Net Cost ระยะเวลา 30-50 ปี ก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางคมนาคมขนส่งพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) 5 โครงการ มูลค่าลงทุน 652,559 ล้านบาท เป็นการลงทุนโดยรัฐ 32% หรือ 209,916 ล้านบาท และเอกชน 68% หรือ 442,643 ล้านบาท โดยเอกชนที่เสนอผลตอบแทนให้รัฐมากที่สุดจะเป็นผู้ได้รับการคัดเลือก คาดว่าภายในเดือน ก.พ. 2562 จะได้เอกชนผู้ชนะประมูลทุกโครงการ

“เพิ่งยื่นซองประมูลวันที่ 12 พ.ย.ที่ผ่านมา คือรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน”

ก.พ. 62 เซ็นสัญญาครบ 

อีก 4 โครงการกำลังทยอยประกาศขายทีโออาร์ ได้แก่ ท่าเรือแหลมฉบังระยะที่ 3 วงเงิน 114,047 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 5-19 พ.ย. 2561 ยื่นซองวันที่ 14 ม.ค. 2562, ท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุดระยะที่ 3 วงเงิน 55,400 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 9-21 พ.ย. 2561 เปิดยื่นซองวันที่ 6 ก.พ. 2562, โครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภา และเมืองการบินภาคตะวันออก วงเงิน 290,000 ล้านบาท ระหว่างวันที่ 16-29 พ.ย. 2561 เปิดยื่นซองวันที่ 28 ก.พ. 2562 ส่วนโครงการศูนย์ซ่อมอากาศยานอู่ตะเภา (MRO) วงเงิน 10,588 ล้านบาท การบินไทยอยู่ระหว่างดำเนิการ

ชงรถไฟฟ้ากว่า 2 แสนล้าน 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ภายในเดือน ธ.ค.นี้จะเร่งเสนอรถไฟชานเมืองสายสีแดงเข้ม ช่วงรังสิต-ธรรมศาสตร์ ระยะทาง 10 กม. เงินลงทุน 7,596 ล้านบาท และสายสีแดงอ่อน ส่วนต่อขยายช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช และตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 20 กม. วงเงิน 19,042.13 ล้านบาท ให้ ครม.อนุมัติ ในเดือน ม.ค. 2562 จะเสนอรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันตก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.4 กม. วงเงิน 1.2 แสนล้านบาท

ลุ้นจีดีพีไตรมาส 3

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง กล่าวว่า สศค.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตได้ 4.5% โดยครึ่งแรกขยายตัว 4.8% ซึ่งมีการประเมินไว้แล้วว่าครึ่งปีหลังจะชะลอตัวลง

เพิ่มบัตรคนจน 3.5 ล้านใบ

นายลวรณกล่าวอีกว่า จากการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐเพิ่มเติมภายใต้โครงการไทยนิยมยั่งยืน ในกลุ่มผู้พิการ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยติดเตียง และผู้ที่ไม่สามารถเดินทางมาลงทะเบียนได้ในปี 2560 พบว่ามีผู้ลงทะเบียนเพิ่มอีก 4.5 ล้านราย โดยผ่านคุณสมบัติ 3.5 ล้านราย ซึ่งจะมีการแจกบัตรในช่วงกลางเดือน ธ.ค.นี้ และเริ่มใช้จ่ายเงินผ่านบัตรได้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 เป็นต้นไป

Golden Year BOI

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ด BOI) ในวันที่ 19 พฤศจิกายนนี้จะมีการเสนอมาตรการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มเติม หรือ Top Up จากมาตรการส่งเสริมการลงทุนที่มีอยู่เดิมตามนโยบายรัฐบาลที่ต้องการให้ปี 2562 เป็นปี gloden year โดยหลักการให้การส่งเสริมจะเป็นไปตามประเภทกิจการ ขนาดการลงทุน และระยะเวลาการลงทุน “จะไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะรายใหญ่เท่านั้น”

หากบอร์ด BOI เห็นชอบมาตรการจะมีผลทันที เบื้องต้นคาดว่าจะมีกรอบระยะเวลาใช้ Top Up 1 ปี

“สาเหตุที่ต้องเสนอมาตรการ Top Up ไม่ใช่ว่า 9 เดือนแรกยอดขอรับการส่งเสริมการลงทุนต่ำกว่าเป้าหมาย แต่เป็นเพราะเรามองเห็นแล้วว่า มีนักลงทุนจากหลายประเทศที่กำลังให้ความสนใจเข้ามาลงทุนในอาเซียนมากขึ้น หลังจากมีสงครามการค้าเกิดขึ้น ทำให้มีการแข่งขันส่งเสริมการลงทุน ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีมาตรการขึ้นมาเพื่อช่วงชิงเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างประเทศเหล่านั้น เราจะกำหนดสเป็กและเงื่อนไขส่งเสริมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น เร็วขึ้น ส่วนกรอบระยะเวลาส่งเสริมจะเป็นระยะสั้น ประมาณ 1 ปี ไม่ได้กำหนดใช้ในปีนี้เพราะปี 2561 เหลือเวลาอีกเพียง 1 เดือนเท่านั้น ซึ่งโดยปกติเดือนธันวาคมจะมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนเข้ามามากที่สุด BOI มั่นใจว่า การส่งเสริมการลงทุนจะเป็นไปตามเป้าหมายเดิมที่วางไว้” น.ส.ดวงใจกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากมาตรการส่งเสริมการลงทุน Top Up มีผลบังคับใช้ ทาง BOI มีแผนจะจัดกิจกรรมส่งเสริมการลงทุนในลักษณะ one to one หรือการเข้าไปพบเคาะประตูยังบริษัท

นักลงทุนที่เรามองว่า มีศักยภาพโดยตรง ซึ่งจะเป็นการจัดกิจกรรมเพิ่มจากการส่งเสริมตามแผนปกติ โดยพื้นที่เป้าหมาย ได้แก่ จีน ซึ่งมีนักลงทุนสนใจให้การลงทุนจำนวนมากขึ้นหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นักลงทุนญี่ปุ่นและสหภาพยุโรปก็ยังเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพ

สำหรับมาตรการ Top Up จะประกอบด้วย 1) การให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติมจากเกณฑ์ปกติกับโครงการที่ยื่นคำขอส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2562 โดยจะต้องเป็นโครงการที่เข้าตาม

หลักเกณฑ์ (ประเภทกิจการ-ขนาดการลงทุน) และต้องดำเนินการตามระยะเวลาที่กำหนด 2) มาตรการส่งเสริมการลงทุนเพื่อกระตุ้นให้บริษัทที่ได้รับส่งเสริมการลงทุนเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ตลาดทุนไทย