รับปีใหม่! 21 ม.ค.62 ขสมก.-รถร่วม เตรียมขึ้นค่าโดยสาร 1 บาท

ข่าวร้ายรับปีใหม่ ปรับค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก.-รถร่วมเอกชน ขึ้น 1 บาท ขณะที่รถทัวร์ปรับขึ้น 10% เริ่ม 21 ม.ค.62 ชงรัฐบาลออกมาตรการเยียวยาช่วยผู้ประกอบการ-ประชาชน แจงเหตุต้องขึ้นเพราะรถเมล์หยุดวิ่ง-เลิกกิจการเพียบ

เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่กระทรวงคมนาคม นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ซึ่งมีนายกฤชเทพ สิมลี รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธาน ซึ่งใช้เวลาการประชุมเกือบ 4 ชั่วโมงว่า ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องการปรับปรุงอัตราค่าโดยสารรถประจำทาง ได้แก่ รถโดยสารขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), รถโดยสารประจำทางที่ใช้เชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติ(รถเมล์เอ็นจีวี) ของ ขสมก., รถร่วมบริการ ขสมก. ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล และรถโดยสารร่วมบริการของบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.)

นายพีระพล กล่าวต่อว่า ที่ประชุมมีมติปรับขึ้นค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. และรถร่วมบริการฯ ในอัตรา 1 บาท โดยรถเมล์ร้อนจากเดิม 9 บาท เป็น 10 บาท และรถเมล์ ขสมก. จากเดิม 6.50 บาท เป็นไม่เกิน 10 บาท ส่วนรถปรับอากาศเพิ่มระยะละ 1 บาท จากเดิม 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 12-24 บาทต่อเที่ยว ขณะที่รถร่วม บขส. ให้ปรับราคาขึ้นไม่เกิน 10% แบ่งเป็น 4 ช่วง ประกอบด้วย ระยะทาง 40 กิโลเมตร(กม.)แรก เดิม 0.49 บาทต่อ กม. เป็น 0.53 บาทต่อ กม., 40-100 กม. เดิม 0.44 บาทต่อกม. เป็น 0.48 บาทต่อกม., 100-200 กม. เดิม 0.40 บาทต่อกม. เป็น 0.44 บาทต่อกม. และเกิน 200 กม. เดิม 0.36 บาทต่อกม. เป็น 0.39 บาทต่อกม.

นายพีระพล กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีมติปรับอัตราค่าโดยสารสำหรับรถเมล์ปรับอากาศใหม่ อาทิ รถเมล์เอ็นจีวี จากเดิมเก็บในอัตรา 11-23 บาทต่อเที่ยว เป็น 4 กม.แรก 15 บาท, 10-16 กม. 20 บาท และ 16 กม.ขึ้นไป 25 บาท ส่วนรถเมล์ร้อนที่เป็นรถใหม่ สามารถเก็บอัตราค่าโดยสารได้ในราคา 12 บาท โดยรถเมล์ใหม่ทั้งรถร้อน และรถปรับอากาศที่จะเก็บค่าโดยสารในอัตรานี้ได้ต้องเป็นรถที่ติดอุปกรณ์ส่วนควบตามเงื่อนไขที่ ขบ.กำหนด อาทิ ติดจีพีเอส, กล้องซีซีทีวี, อุปกรณ์ความปลอดภัย และติดตั้งระบบอีทิคเก็ต เป็นต้น ทั้งนี้การปรับขึ้นราคาในอัตราใหม่ทั้งหมดนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62 เป็นต้นไป

นายพีระพล กล่าวต่อว่า สาเหตุที่ต้องปรับค่าโดยสารขึ้น เพราะที่ผ่านไม่ได้มีการปรับอัตราค่าโดยสารให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันที่ต้นทุนสูงขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการรถโดยสารได้รับผลกระทบถึงขั้นหยุดวิ่ง และเลิกกิจการออกนอกระบบการให้บริการไปแล้ว 565 คัน จากทั้งหมด 3,712 คัน คิดเป็นประมาณ 18% ขณะเดียวกันยังมีรถเมล์บางส่วนที่หยุดวิ่งให้บริการโดยไม่แจ้งอีกกว่า 1,000 คัน ทำให้เกิดผลกระทบกับประชาชนต้องรอรถเมล์เป็นเวลานาน และต้องไปใช้ระบบขนส่งมวลชนโหมดการเดินทางอื่นที่มีราคาสูงขึ้น ดังนั้นเพื่อไม่ให้ผลกระทบเกิดขึ้นกับทั้งสองฝ่าย จึงจำเป็นต้องปรับราคาขึ้น เพราะหากไม่ปรับอาจมีรถเมล์ออกจากระบบการให้บริการอีกจำนวนมาก

นายพีระพล กล่าวด้วยว่า ที่ประชุมจะนำมติการปรับขึ้นราคาดังกล่าว พร้อมมาตรการเยียวยาประชาชน และผู้ประกอบการ อาทิ การเพิ่มวงเงินค่าเดินทางในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รวมทั้งการใช้บัตรให้ครอบคลุมทั้งรถเมล์ ขสมก., รถเมล์ร่วมบริการ, รถ บขส. และรถไฟ, การสนับสนุนค่าเชื้อเพลิงให้กับผู้ประกอบการรถโดยสารสาธารณะที่ใช้ก๊าซเอ็นจีวีเป็นเชื้อเพลิง และลดภาษีการนำเข้ารถโดยสาร เป็นต้น เสนอต่อนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ในสัปดาห์หน้าเพื่อพิจารณาต่อไป ทั้งนี้หากกระทรวงคมนาคม และรัฐบาลเห็นด้วยกับมาตรการเยียวยา หรือมีมาตรการเยียวยาอื่นๆ เพิ่มเติม ที่ประชุมก็จะพิจารณาเรื่องการปรับขึ้นอัตราค่าโดยสารใหม่อีกครั้ง แต่หากไม่มีมาตรการเยียวยาใดๆ ก็จะยึดมติที่ประชุมที่ให้ปรับราคาขึ้นในตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค.62 ทันที

 

 

 


ที่มา มติชนออนไลน์