ก.อุตเร่งเครื่องหนุน SME เบิกจ่ายกองทุนโค้งท้าย

อุตฯเร่งอนุมัติเบิกจ่ายเงิน “กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ 20,000 ล้านบาท” ที่เหลือ 4,300 ล้านบาทให้ SMEs โค้งสุดท้ายก่อนสิ้นปีཹ บางรายทยอยคืนคาดพิจารณาเป็น “กองทุนหมุนเวียน” หลังถูกติงไม่สามารถแก้กฎหมายตั้งเป็น “กองทุนถาวร” ได้

นายสมชาย หาญหิรัญ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตามแนวทางประชารัฐ วงเงิน 20,000 ล้านบาท ที่ตั้งและเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2560 นั้นโดยถูกแบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1.ส่วนที่กันไว้ใช้สำหรับค่าดำเนินการและบริหารกองทุน 2,000 ล้านบาท 2.วงเงิน 10,000 ล้านบาท ใช้สำหรับปล่อยกู้ให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) รายละไม่เกิน 10 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ปลอดเงินต้น 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี อนุมัติเบิกจ่ายไปแล้ว 8,000 ล้านบาท และได้ขยายเปิดรับให้ยื่นคำขอเพิ่มอีกเพื่อให้วงเงินที่เหลืออยู่ 2,000 ล้านบาทเข้าถึงรายอื่น ๆ อีก และ 3.วงเงิน 8,000 ล้านบาท วงเงินกู้สูงสุดรายละไม่เกิน 1 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 1% ปลอดเงินต้น 3 ปี ระยะเวลาผ่อนชำระ 7 ปี อนุมัติเบิกจ่ายไปแล้ว 5,700 ล้านบาท เหลืออยู่ 2,300 ล้านบาท ซึ่งทั้ง 2 กองทุนที่แบ่งออกมานั้นจะต้องทยอยพิจารณาเพื่อทำการเบิกจ่ายให้ครบจนหมดภายในสิ้นปี 2561 นี้

“ในปี 2562 จะต้องมีการหารือเรื่องสถานะของกองทุนว่าควรมีสถานะเป็นกองทุนถาวร หรือกองทุนหมุนเวียน ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าจะมีสถานะเป็นกองทุนหมุนเวียน โดยการนำเงินก้อนที่ผู้ประกอบการที่กู้ไปส่งคืนมาเป็นทุนให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ ซึ่งมีความเป็นได้มากกว่าการขอเงินสนับสนุนก้อนใหม่จากรัฐเพิ่ม เพราะการที่รัฐจะสนับสนุนเงินเข้ามาในแต่ละปีตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอขอนั้นยังไม่สามารถทำได้ เนื่องจากต้องมีการแก้กฎหมายซึ่งเป็นไปได้ยาก ขณะเดียวกันเงินที่ได้อนุมัติจ่ายให้ไปกับ SMEs แล้วก่อนหน้านี้เริ่มมีการทยอยจ่ายคืนมาแล้วซึ่งถือเป็นสัญญาณที่ดีที่ SMEs มีความสามารถในการจ่ายคืนแม้ว่าจะมีไม่มากนัก”

สำหรับมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในปี 2562 ทางกระทรวงยังคงใช้ 9 มาตรการซึ่งเป็นแนวทางสนับสนุนส่งเสริม โดยนายอุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า ตลอด 1 ปีที่ผ่านมาได้รับนโยบายการช่วยเหลือ SMEs เป็นภารกิจหลัก โดยมีการหารือกับเอกชนและออก 9 มาตรการ ประกอบด้วย 1.แผนงานยกระดับและสร้างระบบเศรษฐกิจฐานราก (local economy) ผ่านโครงการหมู่บ้านสร้างสรรค์ (CIV) เพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ 2.แผนงานด้านบริการ (service upgrading) ผ่านทางศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมสู่อนาคต (ITC) 77 แห่ง เพื่อปฏิรูปอุตสาหกรรมให้มีนวัตกรรมเพิ่มศักยภาพไปสู่ตลาดเชิงพาณิชย์และส่งออก รวมทั้งใช้ศูนย์ SMEs Support Center 270 แห่งของอุตสาหกรรมจังหวัด ทำหน้าที่เชื่อมโยงความช่วยเหลือบริการจากส่วนกลางถึงภูมิภาค 3.แผนงานด้านการสร้างผู้เชี่ยวชาญ (enablers) ที่ปรึกษา SMEs (train coach) 2,000 คน มาช่วยให้คำแนะนำ SMEs และสร้างฐานข้อมูลพื้นฐาน SMEs ขนาดใหญ่ (big data) เพื่อวิเคราะห์วางยุทธศาสตร์ วางอนาคตให้กับธุรกิจ

4.แผนงานด้านความสามารถ (capacity upgrading & transformation) ซึ่งมี big brother เป็นพี่เลี้ยงบ่มเพาะ SMEs สู่ตลาดโลก และมี digital value chain สร้าง platform B2B หรือ T-Good Tech ขึ้นมา เพื่อให้ SMEs สามารถเชื่อมโยงเครือข่ายออนไลน์สากลเพื่อเปิดตลาดไปต่างประเทศ ขณะเดียวกันได้ใช้ financial literacy ที่ทางสถาบันการเงินจะเข้ามาช่วยอบรมทักษะ และให้ SMEs มุ่งสู่การทำระบบบัญชีเดียว และการทำ standard up ที่จะเป็นการสร้างมาตรฐานให้กับสินค้าให้ได้ มอก.S หรือมาตรฐานสำหรับ SMEs

นอกจากจะเดินหน้า 9 แนวทางแล้ว ในปีหน้าจะเพิ่มความช่วยเหลือทางการเงินมากขึ้น เช่น การใช้โครงการประชารัฐสร้างโอกาสคนตัวเล็กล้มแล้วลุก ซึ่งเป็นกองทุนพลิกฟื้นที่รวมกับกองทุนฟื้นฟูของ สสว. วงเงิน 1,800 ล้านบาทที่ยุบรวมกัน บริหารโดย SMEs Bank ที่มุ่งเป้าไปสู่การช่วยเหลือคนตัวเล็ก วงเงินกู้ต่อราย 100,000 บาท ระยะเวลากู้ 7 ปี ปลอดเงินต้น 1 ปี ไม่คิดดอกเบี้ย ไม่มีหลักประกัน และยังยกเว้นการตรวจข้อมูลเครดิตบูโร และโครงการประชารัฐเสริมแกร่งการค้าสู่ชุมชน วงเงิน 10,000 ล้านบาท ที่จะเข้า ครม.ให้เห็นชอบในวันที่ 18 ธ.ค. 2561 นี้ ปล่อยกู้วงเงินต่อราย 1 ล้านบาท ระยะเวลาให้กู้ 7 ปี ปลอดเงินต้น 1 ปี อัตราดอกเบี้ยแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ 1.บุคคลปีที่ 1-3 คิด 0.42% ต่อเดือน 2.นิติบุคคลปีที่ 1-3 คิด0.25% ต่อเดือน ใช้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ค้ำประกัน

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!