ไทยถอดบทเรียนเวียดนาม อนุสัญญา UPOV ก่อนเข้า CPTPP

ประเด็นการเข้าภาคีอนุสัญญาระหว่างประเทศ เพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 เป็นหนึ่งในประเด็นอ่อนไหวที่ภาคประชาสังคมห่วงกังวลและต้องหาข้อสรุปให้ได้ก่อนการพิจารณาเข้าร่วม Comprehensive and Progressive Trans-Pacific Partnership หรือ “CPTPP” ในโอกาสที่ นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ นำคณะเดินทางเยือน “เวียดนาม” เพื่อนบ้านอาเซียนที่ได้ชิมลางเข้าสู่ CPTPP ไปแล้วเมื่อ 12 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา

โดยเหตุที่ภาคประชาสังคมไทยกังวลเนื่องจากเกรงว่าการเข้า UPOV 1991 จะกระทบต่อวิถีชีวิตของเกษตรกร ทำให้ไม่สามารถเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้เองได้ และอาจถูกผูกขาดเมล็ดพันธุ์จนทำให้เมล็ดพันธุ์มีราคาแพง ในหลายประเทศอย่างมาเลเซียและเม็กซิโก ได้ใช้เวลาเตรียมและปรับตัว 4 ปี บรูไน 3 ปี ขณะที่เวียดนามใช้เวลาถึง 5 ปี ดังนั้น จึงเป็นจังหวะที่เหมาะสมที่ไทยศึกษาต้นแบบ เพื่อเตรียมความพร้อม โดยคาดว่าภายในเดือน ก.พ.-มี.ค.นี้ จะสรุปภาพรวมผลการศึกษาทั้งหมด

สำนักคุ้มครองพันธุ์พืชภายในกระทรวงเกษตรและการพัฒนาชนบทของเวียดนาม ระบุว่า “เวียดนาม” มีการวิจัยพัฒนาพันธุ์พืชอย่าง ข้าว ข้าวโพด และมีการขึ้นทะเบียนพืชไร่สายพันธุ์ใหม่ ๆ 242 คำขอ (ซึ่งเป็นคำขอจากต่างชาติ 42 คำขอ) จากพืช 140 สายพันธุ์ในระยะเวลาช่วง 10 ปีที่ผ่านมา (2550-2561) มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว จนวันนี้เวียดนามมีสัดส่วนการส่งออกถึง 12.6% ในหลายประเทศและสินค้าเกษตรมีสัดส่วนถึง 20% ของ GDP

แหล่งข่าวจากบริษัท Vinaseed ซึ่งเป็นบริษัทเมล็ดพันธุ์รายใหญ่ของเวียดนาม ได้วิจัยข้าว ข้าวโพด และพืชผักชนิดต่าง ๆ เพื่อใช้ภายในและส่งออกเมล็ดพันธุ์ไปขายในลาว กัมพูชา ระบุว่า เวียดนามเป็นภาคี UPOV 1991 แต่ไม่ได้รับผลกระทบตามที่หลายฝ่ายกังวล เพราะราคาเมล็ดพันธุ์ขึ้นอยู่กับกลไกตลาด เกษตรกรสามารถนำเมล็ดพันธุ์ปลูกต่อและขายผลผลิตได้ ห้ามเพียงการนำเมล็ดพันธุ์ขายในแบรนด์ของเจ้าของพันธุ์เท่านั้น

ในขณะที่ความกังวลถึงการละเมิดสิทธิ์นำพันธุ์ไปขึ้นทะเบียน Vinaseed เองกลับไม่พบปัญหานี้ เนื่องจากต่างชาติไม่รู้ศักยภาพพื้นที่ ดินฟ้าอากาศ ความต้องการตลาดมากกว่าเกษตรกรในท้องถิ่นเอง

แต่ทางตรงกันข้ามเวียดนามกลับได้สายพันธุ์ใหม่จากสมาชิก UPOV 1991 มาช่วยพัฒนา โดยเฉพาะเงินลงทุนจากต่างชาติ เห็นได้จากสวนส้มโอ Trang Trai Ha Dan ซึ่งเกษตรรายนี้สามารถพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ส้มโอจนสามารถจดทะเบียนเป็นพันธุ์พืชใหม่ที่มีลักษณะพิเศษตรงกับที่ตลาดต้องการ มีรายได้ 1 ล้านบาท/ปี ส่วนใหญ่เป็นการขายกิ่งพันธุ์และผลผลิตรองลงมา ขณะเดียวกัน ยังทำให้ราคาของผลผลิตเพิ่มขึ้นจาก 30 บาท เป็น 120 บาท/ลูก

นางสาวธิดากุญ แสนอุดม นักวิชาการเกษตรชำนาญการพิเศษกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อธิบายให้เห็นว่า ปัจจุบันไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ปี 2542 อยู่แล้ว และอยู่ระหว่างรับฟังความคิดเห็นเพื่อปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับสภาพที่แท้จริง และให้เป็นประโยชน์ต่อเกษตรกรมากที่สุด อย่างไรก็ตาม มองว่าการเข้า UPOV 1991 นั้น ไทยยังสามารถยกร่างหรือกำหนดกฎหมายได้เอง

ด้าน นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ ประธานสภาเกษตรกรแห่งชาติ กล่าวว่า UPOV 1991 ถ้าทำแล้วไม่กระทบก็ควรเข้า แต่ไทยยังมีเวลาศึกษา เราดูเวียดนามเป็นตัวอย่าง เราห่วงเพียงรายย่อยที่ยังไม่เข้าใจด้วยขาดข้อมูลข่าวสาร รัฐต้องทำงานเชิงรุกลงพื้นที่อำนวยความสะดวกมากขึ้น ปรับปรุงระเบียบราชการ เนื่องจากเกษตรกรนำพืชพันธุ์ใหม่ขึ้นทะเบียนเพียง 1% เท่านั้น นอกจากนี้ไทยจำเป็นต้องวิจัยพัฒนาพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ ขึ้นมาด้วย

นายมานพ แก้วโกย ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ขวัญทุ่งกุลา กล่าวว่า เวียดนามถือเป็นคู่แข่งของไทย ด้วยความสามารถในการวิจัยและพัฒนาพันธุ์ใหม่ ๆ ได้เองและสามารถขายออกสู่ตลาดได้ UPOV 1991 ทำให้เขาได้เทคโนโลยี และพันธุ์พืชใหม่ ๆ อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญ คือ รัฐบาลเวียดนามให้เงินสนับสนุนด้านการวิจัยให้ถึง 4% ของงบประมาณ รัฐบาลไทยจำเป็นอย่างมากที่ต้องหันมาดูเรื่องวิจัยอย่างจริงจัง

“วันนี้ไทยยังไม่ตัดสินใจว่าจะเข้าร่วม CPTPP หรือไม่ แต่แน่นอนว่าไทยต้องหันมาศึกษาเรื่อง UPOV 1991 อย่างจริงจัง เพราะจะเป็นโอกาสในการรับพันธุ์พืชใหม่ ๆ เข้ามา ลดการผูกขาดจากรายใหญ่ หรืออาจถูกต่างชาติก๊อบปี้แล้วไปขึ้นทะเบียนก็เป็นไปได้ทั้งหมด”

จะเห็นว่าในปี 2560 เวียดนามส่งออกสินค้าข้าว ข้าวโพด มัน ยาง กุ้ง รวมมูลค่า 36,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โต 11% จากปีก่อนหน้านี้ ขณะที่ไทยส่งออกสินค้าหลัก ข้าว ไก่ มัน กุ้ง ยาง และประมง รวมมูลค่า 42,555 ล้านเหรียญสหรัฐมี อัตราการเติบโต 11.4% ถือว่าสูสันกัน แต่หากไทยไม่สามารถพัฒนาวิจัยพันธุ์พืชใหม่ ๆ ได้ ไทยจะไม่เพียงแค่ตกขบวน CPTPP แต่ยังจะถูกแซงอย่างน่าเสียดาย