แห่เปิดธุรกิจศูนย์ดูแลสูงวัย เร่งดันกฎกระทรวงคุมมาตรฐาน

แฟ้มภาพ

นักธุรกิจหลายวงการแห่เปิดธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ รับเทรนด์สังคมสูงวัยตั้งบริษัทเฉียด 100 ราย “วิชัย พูลวรลักษณ์” อสังหาฯชื่อดังร่วมวง สธ.ดันร่างกฎกระทรวงส่งเสริมมาตรฐาน”สถานที่-บุคลากร” เข้า ครม. ผู้ประกอบการต้องยื่นขอใบอนุญาต ส่วนรายที่เปิดให้บริการก่อนกฎกระทรวงบังคับได้สิทธิผ่อนผัน 5 ปี

แห่เปิดบริษัทดูแลสูงวัย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานว่า จากการตรวจสอบข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่าในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา มีการยื่นขอจดทะเบียนบริษัทเพื่อประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นอย่างมาก จากช่วงก่อนหน้าจะมีการยื่นขอจดทะเบียนประมาณปีละ 10-20 ราย โดยในปี 2560-2561 มีบุคคลสนใจจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อดำเนินธุรกิจดูแลผู้สูงอายุเกือบ 100 รายต่อปี และสำหรับในปี 2562 เพียงช่วง 2 เดือนแรกก็มีผู้ยื่นจดทะเบียนเกือบ 20 ราย ถือว่าเป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความสนใจมาก โดยมีทั้งกลุ่มนายแพทย์ พยาบาล นักธุรกิจ ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ที่เข้ามาจัดตั้งบริษัทเพื่อเปิดให้บริการธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ

อย่างล่าสุดเดือนมีนาคม 2562 บริษัท ไทย ฮ่องกง อินเตอร์เนชั่นแนล บิซิเนส จำกัด ซึ่งมี นายฉาง เจียง เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ ได้จัดตั้งบริษัทเพื่อเปิดดำเนินธุรกิจบ้านพักดูแลผู้สูงอายุ ที่เกาะสมุย, บริษัท แสนสุข เวเนส พรอพเพอร์ตี้ จำกัด ของกลุ่มพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ไอริสกรุ๊ป ของนายกิตติพงษ์ สุมานนท์ เพื่อดำเนินกิจการสถานที่ฟื้นฟูสุขภาพแก่บุคคลทั่วไปและผู้สูงวัย

รวมทั้ง นายวิชัย พูลวรลักษณ์ ประธาน บริษัท วรลักษณ์ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด ดีเวลอปเปอร์รายใหญ่ก็ได้จดทะเบียนบริษัท ดับเบิ้ลยู-ชิรายูริ จำกัด เมื่อ 23 มกราคม 2562 เพื่อให้บริการดูแลรักษาในสถานที่มีที่พักและคนดูแลประจำสำหรับผู้สูงอายุ

ทุกวงการโดดร่วมวง

นอกจากนี้ ยังมีนักธุรกิจจากหลากหลายวงการที่สนใจ อาทิ บริษัท เฮลท์แคร์ รีสอร์ท แอนด์ ฮอสพิทอล จำกัด ซึ่งเป็นของนายสาทร วณิชเสถียร ประธานกรรมการ บริษัท ทรานส์ เอเชีย โลจิสติกส์ จำกัด ระบุว่าให้บริการสถานที่พักฟื้นและที่พักอาศัยกับผู้สูงวัยและบุคคลทั่วไป บริษัท เทคแคร์เนอร์สซิ่งโฮม จำกัด กรรมการผู้มีอำนาจ คือ นางสาวสุภาพร วิจิตขะจี ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัท ไทยมังกรพลาสติก อุตสาหกรรม จำกัด, บริษัท สยาม ออร์คิด เรียล เอสเตท ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อ ก.ค. 2560 โดยมี ม.ล.ณัฐดิศ ดิศกุล เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 75% เปิดธุรกิจที่พักดูแลผู้สูงอายุที่พัทยาใต้ อำเภอบางละมุง

ขณะที่นายวรยุทธ กิจกูล เจ้าของบริษัท สยามนิชชิน นักธุรกิจมนุษย์ล้อ ได้จัดตั้งบริษัท ทเวนตี้ วัน เฮลท์ตี้ แอนด์ แคร์ จำกัด ให้บริการสถานดูแลผู้สูงอายุ ผู้ป่วยพักฟื้น พร้อมทั้งจำหน่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์สำหรับผู้สูงอายุ อุปกรณ์ในการดูแลผู้สูงอายุ

รับมือกฎกระทรวงคุม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า อย่างไรก็ตาม บางรายที่เพิ่งมีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท แต่ก็เป็นผู้ดำเนินธุรกิจมาอยู่ก่อนแล้ว อาทิ “โกลเด้นแคร์เนอร์สซิ่งโฮม” ซึ่งถือเป็นผู้ประกอบธุรกิจดูแลผู้สูงอายุรายแรก ๆ ก็พบว่ามีการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท โกลเด้นแคร์ เนอร์สซิ่งโฮม จำกัด เมื่อช่วงเดือนมกราคม 2561 ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขณะนี้ทางกระทรวงสาธารณสุขอยู่ระหว่างดำเนินการผลักดัน

“ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. ….” เพื่อกำกับดูแลกิจการดูแลผู้สูงอายุ จึงทำให้ภาคธุรกิจก็มีการตื่นตัวเพื่อเตรียมรองรับกฎกระทรวงที่จะออกมาบังคับใช้

นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล ผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ล่าสุดกรมสนับสนุนบริการสุขภาพได้ดำเนินการปรับแก้ ร่างกฎกระทรวงกำหนดกิจการอื่นในสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. …. ตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว โดยได้เพิ่มบทเฉพาะกาลให้เวลาผู้ประกอบการรายเก่าปรับตัว 5 ปี หลังจากที่กฎกระทรวงฉบับนี้มีผลบังคับใช้

หลังจากนี้ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขจะนำร่างกฎกระทรวงเสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ซึ่งคาดหวังจะให้ทันในรัฐบาลชุดนี้ เพื่อที่จะให้มีผลบังคับใช้อย่างรวดเร็ว เพราะเป็นการควบคุมสถานประกอบการดูแลผู้สูงอายุ ให้มีมาตรฐานทั้งสถานที่และบุคลากร ซึ่งหาก ครม.เห็นชอบก็จะมีผลบังคับใช้ 180 วัน หลังประกาศในราชกิจจานุเบกษา

อุ้มรายเก่าปรับตัว 5 ปี

นายแพทย์ภัทรพลกล่าวต่อว่า กรณีที่มีผู้ยื่นจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทเพื่อทำธุรกิจดูแลผู้สูงวัยจำนวนมาก นอกจากที่ผู้ประกอบการเห็นโอกาสทางธุรกิจ อีกด้านหนึ่งก็อาจต้องการหลบกฎกระทรวงที่กำลังจะคลอดออกมา เพราะถ้าผู้ประกอบการที่เกิดขึ้นหลังร่างกฎกระทรวงประกาศบังคับใช้ก็จะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดต่าง ๆ ทันที แต่ในกรณีผู้ประกอบการรายเดิมจะได้รับสิทธิ์ในการปรับตัวเป็นเวลา 5 ปี

โดยหลังกฎกระทรวงประกาศบังคับใช้ ผู้ประกอบการที่เปิดให้บริการอยู่เดิมต้องมาจดแจ้งขึ้นทะเบียนเพื่อจะได้สิทธิผ่อนผัน 5 ปี ส่วนผู้ประกอบการรายใหม่ก็จะต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการสถานประกอบการเพื่อสุขภาพประเภทดูแลผู้สูงอายุ โดยจะมีค่าธรรมเนียมใบอนุญาตแบ่งตามขนาดพื้นที่ อาทิ พื้นที่ไม่เกิน 100 ตารางเมตร ใบอนุญาต 1,000 บาท, 100-200 ตารางเมตร ค่าใบอนุญาต 3,000 บาท, 300-400 ตารางเมตร ใบอนุญาต 6,000 บาท และเกิน 400 ตารางเมตร ใบอนุญาต 10,000 บาท ส่วนกรณีให้บริการดูแลผู้สูงอายุระหว่างวันไม่มีที่พักอาศัย ค่าธรรมเนียมใบอนุญาตก็จะลดลงครึ่งหนึ่ง รวมถึงในส่วนของผู้ดำเนินการหรือผู้จัดการสถานบริการก็จะต้องสอบเพื่อรับใบอนุญาต หรือผ่านหลักสูตรตามที่กำหนด รวมทั้งในส่วนบุคลากรผู้ให้บริการก็ต้องผ่านหลักสูตรบริบาล

พร้อมกันนี้ ร่างกฎกระทรวงได้มีการกำหนดมาตรฐานด้านสถานที่ ทั้งในด้านความสะอาด, ระบบการกำจัดขยะมูลฝอย, รวมทั้งการกำหนดสเป็กห้องน้ำ ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญสำหรับผู้สูงอายุ รวมถึงประตู และพื้นที่ทางเดินให้บริการช่องทางเดินไม่น้อยกว่า 90 เซนติเมตร เพื่อให้รถเข็นผ่านได้ เป็นต้น มาตรฐานความปลอดภัย อาทิ ต้องมีอุปกรณ์ช่วยชีวิต อาทิ ถุงลมช่วยหายใจ, อุปกรณ์เปิดทางเดินหายใจ รวมทั้งเครื่องกระตุกหัวใจอย่างน้อย 1 เครื่อง และมาตรฐานการให้บริการ อาทิ การจัดทำทะเบียนประวัติผู้รับบริการ การบันทึกติดตามการเปลี่ยนแปลงทางสุขภาวะของผู้รับบริการ เป็นต้น

ด้านนายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กล่าวว่า หลักการของกฎกระทรวงฉบับนี้ ก็คือ เนื่องจากปัจจุบันกิจการการดูแลผู้สูงอายุ และผู้มีภาวะพึ่งพิง มีเป็นจำนวนมาก จากการสำรวจก่อนหน้านี้คาดว่าทั่วประเทศมีมากกว่า 1,000 แห่ง ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีกฎหมายกำกับดูแลให้เป็นไปตามมาตรฐาน ส่งผลให้การบริการและการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงที่ไม่ได้คุณภาพ จึงกำหนดให้กิจการการดูแลผู้สูงอายุและผู้มีภาวะพึ่งพิงเป็นสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ตามความในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ. 2559 โดยมองว่าข้อกำหนดต่าง ๆ จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้เกิดการลงทุนธุรกิจการดูแลผู้สูงวัยที่ได้มาตรฐานมากขึ้น เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นในอนาคต