แบน 3 สารเคมียืดเยื้อ ลุ้น “รัฐบาลใหม่” ทุบโต๊ะชี้ขาด

หลังผลการพิจารณาของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่มีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน เมื่อวันที่ 14 ก.พ.ที่ผ่านมา ที่ยังคงยืนตามมติเดิมเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ให้จำกัดการใช้ทั้ง 3 สาร พาราควอต ไกลโฟเซต และ สารคลอร์ไพริฟอส ใน 6 พืชเหมือนเดิม ยังคงไม่ได้ทำให้สถานการณ์คลี่คลายลง

ย้อนกลับไปที่คณะกรรมการวัตถุอันตราย ซึ่งมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน ได้พิจารณาและลงมติให้จำกัดการใช้ 16 ต่อ 5 เสียง เมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2561 ให้จำกัดการใช้ทั้ง 3 สารเคมีในพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิด คือ สวนยางพารา ปาล์มน้ำมัน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ อ้อย มันสำปะหลัง และไม้ผลไม้ยืนต้น เท่านั้น

กลุ่มเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช (Thai-PAN) ไม่พอใจกับคำตัดสินดังกล่าวจึงเข้าร้องเรียนต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน พล.อ.วิทวัส รชตะนันทน์ ประธานผู้ตรวจการแผ่นดิน นำมาสู่คำสั่งให้รัฐรื้อการพิจารณาใหม่ โดยให้ “แบน” เฉพาะสารพาราควอต พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จึงตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง ที่กรรมการมาจาก 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายเสนอแบน ฝ่ายไม่ให้แบน และฝ่ายราชการ ซึ่งมี นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการพิจารณา ขณะที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายได้ประชุมลงมติให้รื้อใหม่ โดยให้ทุกฝ่ายศึกษาหาข้อมูลใหม่ส่งมาให้พิจารณาเท่านั้น

ประเด็นการต่อสู้นี้ ทางไทยแพนแจ้งว่า จากการสุ่มตัวอย่างพืชผักผลไม้ในตลาด 138 ตัวอย่าง จากที่ส่งไปตรวจที่ห้องปฏิบัติการที่ประเทศอังกฤษ พบสารพิษตกค้างถึง 56% แต่ทางสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ

(มกอช.) กรมวิชาการเกษตร อ้างว่าเมื่อตรวจสอบไปยังแล็บดังกล่าวก็ไม่ได้รับผลยืนยันตามที่กลุ่มไทยแพนอ้าง ทั้งยังมีรายงานผลการตรวจสอบสารเคมีอีกฉบับที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม มกอช. กรมวิชาการเกษตร และกระทรวงสาธารณสุข มาแย้ง โดยระบุว่าผลการตรวจสอบหาสารเคมีตกค้างในพืชผักผลไม้ 7,054 ตัวอย่างมากว่า 10 ปี ต่อคณะกรรมการวัตถุอันตรายก่อนวันตัดสิน(14 ก.พ. 2562) ว่า แม้พบสารเคมีตกค้าง 11.8% แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน ที่สำคัญ ไม่มีสารพาราควอตกำจัดวัชพืช มีแต่สารหรือยาฆ่าแมลงเท่านั้น เป็นชนวนเหตุให้ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจูทา จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ และนักวิชาการอิสระอีก 2 ราย ประกาศลาออกจากคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดสัตรูพืช ชุดนายสุวพันธุ์

เมื่อวันที่ 5 ก.พ. 2562 โดยให้เหตุผลว่า ตัวแทนนักวิชาการอิสระไม่สามารถดำเนินการเพื่อให้มีการรวบรวมวิเคราะห์ข้อมูลทางวิชาการชุดใหม่ที่มีหลักฐานน่าเชื่อถือทางวิทยาศาสตร์ตามบทบาทหน้าที่ที่ได้รับมอบหมายได้ จากที่ได้นำเสนอ “หลักฐานทางวิทยาศาสตร์” แต่มิได้มีการบรรจุวาระพิจารณา และในทางตรงข้ามกลับมีหนังสือเชิญประชุม โดยอ้างข้อร้องเรียนของ “สมาพันธ์เกษตรปลอดภัย” ที่คัดค้านมติและคำวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งกลุ่มนี้มิใช่ตัวแทนของเกษตรกร สะท้อนเจตนาว่าการดำเนินงานของคณะกรรมการ เป็นไปเพื่อสร้างแรงกดดันไม่ให้มีการทบทวนมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย ที่จะจัดประชุมในเร็ว ๆ นี้ มิใช่การดำเนินการอย่างโปร่งใสตามวัตถุประสงค์ อีกทั้งจากการตรวจสอบพบหลักฐานว่า กรรมการจำนวน 4 คน ในคณะกรรมการแก้ไขปัญหาสารเคมีป้องกันและกำจัดศัตรูพืชที่มีความเสี่ยงสูง มีความเกี่ยวข้องกับบริษัทเอกชนที่มีการผลิต นำเข้า และจัดจำหน่ายสารเคมีดังกล่าว ซึ่งโครงสร้างกรรมการลักษณะนี้ไม่อาจทำให้การดำเนินงานสนองต่อวัตถุประสงค์ของนายกรัฐมนตรีได้ ซึ่งหลังจากนี้เพียงไม่กี่วัน คณะกรรมการวัตถุอันตรายก็มีมติออกมาเมื่อวันที่ 14 ก.พ. ให้จำกัดการใช้เช่นเดิม

มติดังกล่าวสวนทางทั่วโลกที่แบนพาราควอตทั้งหมด 50 ประเทศ และจำกัดการใช้พาราควอตอย่างเข้มข้น 15 ประเทศ โดยมี “ไต้หวัน” เป็นประเทศ

ล่าสุดที่เลื่อนการแบนพาราควอตเร็วขึ้น 1 ปี จากเดิมประกาศแบนในปี 2563 มาเป็น 2562 ขณะที่ “จีน” ประกาศจะแบนพาราควอตทุกรูปแบบ ขยายผลจากปีก่อนที่แบนรูปแบบของเหลว ความเปลี่ยนแปลงภายหลังจากมติดังกล่าวพบว่า สถานการณ์การนำเข้าพาราควอตในช่วง 2 เดือนแรกหายไปจากตลาด จากการที่กรมวิชาการเกษตรจำกัดการนำเข้ามาใช้ในประเทศ ขณะที่ราคาพาราควอตเพิ่มจากลิตรละ 50-60 บาท เป็น 170 บาท แต่เชื่อเลยว่ากลุ่มเอ็นจีโอพร้อมกลับมาทวงสัญญาจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่บอกว่าจะพยายามหาสารเคมีอื่นที่ราคาถูกมาทดแทนพาราควอตภายใน 2 ปี ประเด็นเหล่านี้ รัฐบาลชุดใหม่เลี่ยงไม่พ้นที่จะหยิบเรื่องนี้มาพิจารณาอีก