“ตลาดข้าวโลก” ผันผวนหนัก จีนหันส่งออกหลังสต๊อกล้น 117 ล้านตัน

เทรดเดอร์ข้าวระดับโลก ทำนายสงครามการค้าทำตลาดข้าวเปลี่ยนแปลงแบบถอนรากถอนโคน หลังจีนสต๊อกพุ่งพรวด 117 ล้านตันในปีนี้ และจะเพิ่มมากขึ้นในปีถัดไป จนจีนกลายเป็นประเทศผู้ส่งออกข้าวติดอันดับ 1 ใน 3 ของโลกกระทบส่งออกข้าวไทย

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานการประชุม Thailand Rice Conversation 2019 ซึ่งจัดในวันที่ 28 พฤษภาคมที่ผ่านมานี้ ภายในงานได้มีการจัดเสวนาเรื่องแนวโน้มการค้าข้าวโลก บรรยายโดยเทรดเดอร์ข้าวระดับโลก 3 คน ได้แก่ Mr.Jeremy Zwinger ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท Rice Trader, Mr.Satish Thampy กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอแล่ม (ประเทศไทย) จำกัด และ Mr.Sminder Bedi หัวหน้าฝ่ายธุรกิจ-ข้าว Phoenix Group ประเทศไทย

ข้าวไทย – นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ กล่าวปาฐกถาพิเศษ”ข้าวไทยแหล่งอาหารของโลก” ในการประชุม Thailand Rice Conversation 2019

เบื้องต้นในวงเสวนาเป็นห่วงว่า ภาวะสงครามการค้าจีน-สหรัฐจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดข้าวแบบ “ถอนรากถอนโคน” สต๊อกข้าวจีนจะเป็นตัวแปรสำคัญในตลาดส่งออกข้าว และมีความเป็นไปได้ที่ “จีน” จะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวท็อปอันดับ 1-3 ในตลาด เนื่องจากจีนมีสต๊อกข้าวคงค้างเกินกว่าความต้องการอยู่ถึง 117 ล้านตัน ซึ่งจะมีการระบายออกมาสู่ตลาดโลกยาวไปจนถึงปี 2563 “จีนจะรุกออกมาขายข้าวในตลาดโลกหนักขึ้น เพราะมีสต๊อกข้าวมากกว่า 3 เท่า อย่างไรก็ตาม จีนไม่ได้เชี่ยวชาญด้านการขาย เพราะเดิมเป็นผู้นำเข้า แต่จีนมีโอกาสจะกลายเป็นที่ 1 ในการส่งออกข้าวได้” Mr.Jeremy กล่าว

Mr.Sminder Bedi กล่าวว่า ปัญหาค่าเงินส่งผลกระทบต่อการส่งออก โดยบาทแข็งส่งผลต่อขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทย นอกจากนี้ค่าเงินยูโรที่ลดลงก็จะส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อข้าวในตลาดสหภาพยุโรป อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ข้าวไทยแข่งได้ดีกับข้าวนึ่งของอินเดีย เพราะ “การเลือกตั้งในอินเดียทำให้ค่าเงินรูปีแข็งค่าขึ้น” โดยการผลิตข้าวในตลาดโลกจะเป็น 500 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 4.9 ล้านตัน และสต๊อกข้าวโลกเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 4.6% ต่อปีจากจีน ขณะที่ภาวะการค้าข้าวโลกมีแนวโน้มชะลอตัวเนื่องจากหลายประเทศนำเข้าลดลง อินโดนีเซียมีแนวโน้มไม่นำเข้าหรืออาจจะนำเข้า 500,000 ตัน “แต่ไม่รู้เมื่อไร” ดังนั้นจึงมีเพียงฟิลิปปินส์ที่ประสบปัญหาเอลนิโญ ซึ่งคาดว่าจะนำเข้าข้าว 700,000 ตัน สวนทางกับจีนที่จะหันมาส่งออกข้าว

Satish Thampy กล่าวว่า ปัจจัยที่มีผลต่อตลาดข้าวโลกตอนนี้ก็คือ “สต๊อก” ซึ่งจีนมีข้าวคงค้างอยู่ 117 ล้านตัน และจะสูงไปเรื่อย ๆ จนถึงปี 2020 แต่ประเทศไทยมีสต๊อกข้าวลดลงสวนทางตลาดโลก และมีจุดแข็งด้านคุณภาพการผลิตข้าวพรีเมี่ยม “ผมว่ายังพอแข่งขันได้” แต่ในอนาคตต้องมุ่งลดต้นทุนการผลิต

ด้าน ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ไม่ว่ารัฐบาลชุดใหม่จะมาจากพรรคการเมืองใด ควรเดินหน้านโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรมข้าวไทยโดยใช้การตลาดนำการผลิตอย่างต่อเนื่อง และไม่กำหนดนโยบายใดที่จะส่งผลกระทบต่อกลไกตลาด “ต้องสานต่อนโยบายรัฐบาลประยุทธ์ ซึ่งได้เคลียร์สต๊อกข้าวเก่าจากโครงการรับจำนำไปจนหมดแล้ว รัฐบาลต้องเจรจาขายข้าวระหว่างรัฐต่อรัฐ หรือ G to G กับจีนที่ยังเหลืออีก 300,000 ตันต่อเนื่อง”

ขณะที่นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวถึงภาพรวมการส่งออกข้าวไทยในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.) 2562 มีปริมาณ 3.1 ล้านตันหรือลดลง 15.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน มูลค่า 1,616 ล้านเหรียญสหรัฐหรือลดลง 12.5% โดยเฉลี่ยไทยส่งออกข้าวได้เดือนละ 800,000 ตัน และหากทำได้ในระดับนี้ไปจนถึงสิ้นปียอดส่งออกข้าวรวมจะได้ 9.6 ล้านตัน “สูงกว่า” เป้าหมายที่สมาคมวางไว้ 9.5 ล้านตัน ซึ่งไทยจะครองตลาดข้าวโลกเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดียที่คาดว่าจะส่งออกได้ 10.5 ล้านตัน และเวียดนามอันดับ 3 ปริมาณ 6.5 ล้านตัน

“การส่งออกครึ่งปีหลังมีความท้าทายมาก เป็นผลมาจากสงครามการค้าส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและกำลังซื้อประเทศคู่ค้า ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทไทยแข็งค่ากว่าเพื่อนบ้านอาเซียน ซึ่งจะทำให้ลูกค้าหันไปซื้อข้าวจากประเทศคู่แข่งที่มีราคาถูกกว่า เช่น ราคาข้าวขาว 5% ของไทยตันละ 385-390 เหรียญ เวียดนามตันละ 365-370 เหรียญ ทั้งยังมีการแข่งขันจากกรณีที่จีนระบายสต๊อกข้าวเก่าไปขายในตลาดแอฟริกาอีกประมาณ 2 ล้านตัน จากสต๊อกที่จีนถือครองไว้ 5 ล้านตัน ซึ่งจะกระทบต่อการส่งออกไทย”

ดังนั้นทางออกก็คือ รัฐบาลชุดใหม่จำเป็นต้องดูแลเสถียรภาพอัตราแลกเปลี่ยนให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมประมาณ 32 บาท/เหรียญสหรัฐ และควรระบายสต๊อกข้าวเก่าที่ยังเหลือค้างอีก 300,000-400,000 ตัน เพื่อช่วยให้ผู้ส่งออกมีวัตถุดิบราคาถูกไปแข่งขัน