พิษบาทแข็ง เทรดวอร์ ฉุดส่งออกไทย พ.ค.หดตัว 5.8%

เงินบาทแข็งค่าและพิษสงครามการค้าเป็นเหตุให้การส่งออกไทยหดตัวต่อเนื่อง ล่าสุดเดือนพฤษภาคม 62 ติดลบถึง 5.8%

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า หรือ สนค. กล่าวว่า การส่งออกเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 2.1 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 5.8% เป็นการขยายตัวติดลบอีกครั้ง หลังจากที่เดือนเมษายน 2562 ก็เพิ่งติดลบ 2.5% ส่งผลให้การส่งออกในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ลดลง 2.7% มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้าเดือนพฤษภาคม 2562 มีมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 0.6% และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้การนำเข้า มีมูลค่าประมาณ 1 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 1% สำหรับดุลการค้าในเดือนพฤษภาคม 2562 ไทยเกินดุลการค้า 1.8 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ในภาพรวมไทยยังได้ดุลการค้า 731 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

สาเหตุที่การส่งออกลดลงต่อเนื่อง เป็นเพราะได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ซึ่งกระทบกำลังซื้อทั่วโลกอย่างชัดเจน และยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า ที่ทำให้การส่งออกสินค้ากลุ่มอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 ที่ 5.8% (YOY) รวมทั้งเงินบาทแข็งค่า คู่ค้าจึงชะลอคำสั่งซื้อสินค้าเกษตรจากไทย ส่งผลให้การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตรติดลบ 1.4% ทั้งนี้ สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้าได้วิเคราะห์แยกออกมาเฉพาะในประเด็นสงครามการค้า พบว่ามีผลกระทบต่อการส่งออกของไทยในเดือน พ.ค.62 ทำให้ส่งออกหดตัวลง 0.64% หรือมีมูลค่าลดลง 135 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนใหญ่เป็นการลดลงในฝั่งที่ไทยส่งออกไปจีน เช่น แผงวงจรไฟฟ้า และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์

อย่างไรก็ตาม แม้การส่งออกในภาพรวมจะติดลบ แต่ก็ถือว่าไทยได้รับผลกระทบน้อยกว่าหลายประเทศ เช่น สิงคโปร์ ติดลบถึง 17% เนื่องจากไทยสามารถกระจายตลาดได้ดี และยังมีสินค้าอีกหลายกลุ่มที่ส่งออกได้เพิ่ม เช่น อาหาร ผลไม้ เครื่องดื่ม เครื่องสำอาง นาฬิกา อัญมณีและเครื่องประดับ เป็นต้น ซึ่งสิ่งที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการคือควรประกาศเริ่มเจรจาเปิดเขตการค้าเสรีให้เร็วที่สุด เพื่อบรรเทาผลกระทบจากการค้าโลก

“ปัจจัยบวก ที่สนับสนุนต่อการส่งออก เช่น ภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่ดีในสายตาของต่างชาติ รวมถึงมาตรการส่งเสริมการค้าเชิงรุกเจาะตลาดรายพื้นที่ โอกาสในการทดแทนสินค้าท่ามกลางข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และจีน อย่างไรก็ตาม ยังคงต้องเฝ้าระวัง ส่วนปัจจัยเสี่ยงภายนอก เช่น ความยืดเยื้อของข้อพิพาททางการค้าที่กลับมากดดันบรรยากาศการค้าโลกอีกครั้ง ราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่มีความผันผวน นโยบายการค้าและการมีผลใช้บังคับของ FTA ในประเทศต่างๆ กระทบต่อความสามารถในการส่งออกของไทย”

ทั้งนี้ตลาดส่งออกสำคัญส่วนใหญ่ยังหดตัวตามแนวโน้มการค้าโลกที่ชะลอตัว และผลการเจรจาระหว่างสหรัฐฯ และจีน ที่ยังไม่ปรากฏผลชัดจนกว่าจะถึงการประชุม จี 20 ทำให้บรรยากาศทางการค้าที่ไม่แน่นอนและมีแนวโน้มกลับมาตึงเครียดอีกครั้ง ส่งผลให้เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าอ่อนแอลง และกระทบต่อการส่งออกไทย อย่างไรก็ตาม การส่งออกไทยขยายตัวได้ดีในบางประเทศ ได้แก่ สหรัฐฯ บรูไน และอินเดีย อันเป็นผลจากรายสินค้าสำคัญในแต่ละตลาด ทั้งนี้ การส่งออกไปยังตลาดหลักหดตัว 1.2% โดยการส่งออกไปญี่ปุ่นหดตัว 4.4% และการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปหดตัว 8.6% ขณะที่การส่งออกไปยังสหรัฐฯ ขยายตัวที่ 7.8% ส่วนตลาดศักยภาพสูงหดตัว 7% เป็นผลมาจากการส่งออกไปอาเซียน-5 หดตัว 14.3% CLMV หดตัว 4.7% และจีนหดตัว 7.2% อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปอินเดีย 4.4% และเกาหลีใต้ขยายตัว 4.7% สำหรับ ตลาดศักยภาพระดับรองหดตัวที่ 7.2% เนื่องจากการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียหดตัว 17% ตะวันออกกลางหดตัว 6.1% และลาตินอเมริกา หดตัว 1.8% แต่อย่างไรก็ตาม การส่งออกไปกลุ่มประเทศ CIS กลับเริ่มมาขยายตัวที่ 6.6% และแคนาดาขยายตัวที่ 11%

ด้านนางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กล่าวว่า มาตรการผลักดันการส่งออกครึ่งหลังปี 2562 จะเน้นกระจายความเสี่ยง ปูพรมให้สินค้าไทยเข้าไปในทุกๆ ตลาด ไม่เน้นบุกตลาดใดตลาดหนึ่ง ส่วนปัจจัยค่าเงินมองว่าเป็นปัจจัยระยะสั้น เมื่อมึรัฐบาลใหม่ก็เชื่อว่าจะเข้ามาดูแลในส่วนนี้ โดยค่าเงินมีผลกระทบต่อการส่งออกในเดือน พ.ค.นี้ค่อนข้างมาก เพราะเป็นการแข็งค่ามากที่สุด หลังจากนี้เชื่อว่าจะเริ่มอ่อนค่าลง ทำให้แนวโน้มการส่งออกมีแนวโน้มดีขึ้นในเดือนมิถุนายนและจะค่อยๆ ดีขึ้นจนถึงปลายปี

ทั้งนี้กระทรวงมีแผนผลักดันการส่งออกปี 2562 โดยใช้นโยบายการค้าควบคู่กับการลงทุนและการบริการ เช่น กลยุทธ์รายพื้นที่ขยายโอกาสการส่งออกในกลุ่มตลาดที่แข็งแกร่ง ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ อินเดีย และ CLMV และเปิดตลาดใหม่ที่เริ่มเห็นสัญญาณการขยายตัวต่อเนื่อง เช่น รัสเซีย และแคนาดา นอกจากนี้ ยังให้ความสำคัญกับสินค้าที่ขยายตัวสูง และมีศักยภาพในการส่งออกทดแทน อย่างสินค้าเกษตร ประมง และอาหาร (สดและแปรรูป) ไก่ รวมถึงการผลักดันสินค้าดาวรุ่งใหม่ๆ ที่มีศักยภาพ ด้วยภาพลักษณ์ของสินค้าไทยที่มีคุณภาพดี มาตรฐานระดับสากล ช่วยสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภค เพื่อชดเชยการชะลอตัวของสินค้าหลักกลุ่มเดิม อาทิ รถจักรยานยนต์และส่วนประกอบ นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องดื่ม เครื่องสำอางและผลิตภัณฑ์บำรุงผิว เป็นต้น ทั้งนี้ ในช่วงที่อัตราแลกเปลี่ยนมีความผันผวน ผู้ส่งออกควรเร่งทำประกันความเสี่ยง และจูงใจให้ผู้นำเข้าทำสัญญาระยะยาว เพื่อเป็นหลักประกันการซื้อขายและลดผลกระทบจากความไม่แน่นอนของข้อพิพาททางการค้า