แล้งกลางฤดูฝน ปรับแผนจัดสรรหนีวิกฤตประเทศขาดน้ำ

สถานการณ์ “แล้งในหน้าฝน” จากปรากฏการณ์เอลนิโญ (El Nino) หรือฝนน้อยน้ำน้อย ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ได้ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำกินน้ำใช้ของประเทศไทยอย่างชัดเจนแล้ว

ล่าสุดในการประชุมคณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในต้นสัปดาห์นี้ ที่ประชุมได้ “ตระหนัก” ถึงภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นในกลางฤดูฝน ปริมาณฝนตกในพื้นที่ “น้อยกว่า” ที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งจะส่งผลกระทบถึงการจัดสรรน้ำในฤดูแล้งของปี 2563 ที่กำลังจะมาถึง

นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวถึงสถานการณ์ฝนตกน้อยกว่าที่ประมาณการกันไว้ถึงร้อยละ 18 ของค่าเฉลี่ยจากประมาณการที่ตั้งกันไว้แค่ร้อยละ 5-10% โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคเหนือ กับภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึงร้อยละ 30 ส่งผลให้ฝนที่จะตกในช่วงเดือนสิงหาคมนี้ จะมีปริมาณ “ไม่มากนัก” และจะตกบริเวณแนวตะเข็บของประเทศ นั่นหมายถึง “ปริมาณน้ำจากน้ำฝนจะไม่ไหลลงอ่างเก็บน้ำสำคัญของประเทศ”

ด้านการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2561/2562 ที่เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2561-30 เมษายน 2562 ปรากฏผลการจัดสรรน้ำ “เกินกว่า” แผนทั้งหมด กล่าวคือ ลุ่มน้ำเจ้าพระยาใหญ่ แผนจัดสรรน้ำ 7,772 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรจริง 9,345 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินกว่าแผนไปร้อยละ 20 ในขณะที่ลุ่มน้ำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แผนจัดสรร 1,337 ล้าน ลบ.ม. จัดสรรจริง1,463 ล้าน ลบ.ม. หรือเกินกว่าแผนไปร้อยละ 9 แต่หากรวมผลการจัดสรรในลุ่มน้ำที่เหลืออีก 3 ลุ่มน้ำจากปริมาณจัดสรรน้ำรวมทั้งหมด 19,609 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏจัดสรรเกินไปกว่าแผน 3,589 ล้าน ลบ.ม.

“มีตัวเลขการปลูกข้าวรายงานเข้ามายัง สทนช. ขณะนี้ปลูกไปแล้ว 53% ของพื้นที่เป้าหมาย 58.9 ล้านไร่ หรือประมาณ 33 ล้านไร่(ตัวเลขนี้ยังไม่ได้ข้อยุติ เนื่องจากไม่ตรงกันหลายหน่วยงาน)แบ่งเป็นปลูกข้าวในเขตชลประทาน 5.7 ล้านไร่ นอกเขตชลประทาน 27 ล้านไร่ แต่เมื่อการใช้น้ำในลุ่มน้ำต่าง ๆที่ผ่านมาเกินกว่าแผนบริหารจัดการน้ำทั้งหมด จึงมีความจำเป็นที่จะต้องทบทวนแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศใหม่หมด เพื่อให้เหลือน้ำไว้ใช้สำหรับการบริโภคจนถึงสิ้นฤดูแล้งปี 2563” นายสมเกียรติกล่าว

นับเป็นการส่งสัญญาณชัดเจนจากผู้ปฏิบัติงานในการบริหารจัดการน้ำของประเทศที่ว่า ประเทศไทยกำลังเข้าสู่วิกฤตการณ์ขาดแคลนน้ำในฤดูแล้งปี 2563 “ค่อนข้างแน่นอน” หากในช่วง1-2 เดือนข้างหน้านี้ไม่มีพายุฝนพัดผ่านเข้ามาในประเทศ การขาดแคลนน้ำครั้งนี้จะเข้าข่ายการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค โดยมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะต้อง “งดการจัดสรรน้ำ” เพื่อภาคการเกษตรลงทั้งหมด เพราะไม่มีน้ำเพียงพอที่จะจัดสรรให้ได้

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่อาศัยการจัดสรรน้ำจาก 4 เขื่อนใหญ่ คือ เขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์-แควน้อยบำรุงแดน-ป่าสักชลสิทธิ์ ล่าสุด ณ วันที่ 23 กรกฎาคมนี้ ปรากฏทั้ง 4 เขื่อนหลักเหลือน้ำใช้การได้รวมกันแค่ 1,364 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 8 เท่านั้น มีน้ำไหลเข้าอ่างประมาณ 2-3 ล้าน ลบ.ม./วัน (จากเขื่อนสิริกิติ์) แต่ต้องระบายน้ำออกวันละ 47 ล้าน ลบ.ม. หากกรมชลประทานคงปริมาณน้ำระบายไว้ในระดับปัจจุบัน จะเหลือน้ำใช้การได้ต่อไปได้ไม่เกิน 30 วันเท่านั้น

ในขณะที่เขื่อนเก็บน้ำหลัก ๆ ทั่วประเทศมีถึง 18 แห่งที่มีปริมาณน้ำใช้การได้เหลือน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างส่วนใหญ่กระจายอยู่ในภาคเหนือตอนล่างและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจำนวนนี้เขื่อนที่ถือว่า “วิกฤต” จนแทบไม่สามารถระบายน้ำออกมาสนับสนุนกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ ได้แล้วก็คือ เขื่อนอุบลรัตน์ ปริมาณน้ำใช้การได้ติดลบ -16 คิดเป็น -1% ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างในจังหวัดขอนแก่น

ส่วนเขื่อนที่เหลืออยู่อีก 17 แห่งก็อยู่ในสถานการณ์ที่ไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากแทบไม่มีน้ำไหลลงอ่างจนสามารถคำนวณปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือนับถอยหลังเป็น “รายวัน”ล้วนแล้วแต่มีน้ำใช้การได้คงเหลือแทบจะไปไม่ถึงฤดูแล้งในเดือนเมษายน 2563 เป็นส่วนใหญ่

ล่าสุด คณะทำงานอำนวยการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำได้เสนอให้มีการลดปริมาณการระบายน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ที่จะส่งผลกระทบต่อลุ่มน้ำเจ้าพระยา และกรุงเทพมหานครโดยตรง จากปริมาณน้ำใช้การได้ในเขื่อนภูมิพล-สิริกิติ์ รวมกัน 1,233 ล้าน ลบ.ม. หรือคิดเป็นร้อยละ 8 ซึ่งมีปริมาณการระบายน้ำอยู่ที่ประมาณวันละ 45 ล้าน ลบ.ม. (จะจัดสรรน้ำต่อไปได้ไม่เกิน 27 วัน ถ้าไม่มีฝนตกลงมาช่วย) ก็ให้ลดการระบายน้ำเหลือวันละ 20 ล้าน ลบ.ม. (จะจัดสรรน้ำต่อไปได้อีกประมาณ 2 เดือน หรือ 60 วัน เพื่อรอความหวังว่าจะมีพายุเข้ามาในประเทศ)

ส่วนเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่มีปริมาณน้ำใช้การได้คงเหลือเพียง40 ล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 4 (เทียบกับปีที่แล้งมากในอดีต 2558 ยังมีปริมาณมากกว่า 100 ล้าน ลบ.ม.) หรือมีสัดส่วนน้ำน้อยกว่าปี 2558 ถึงร้อยละ 58 นั้น “ต่อไปมีโอกาสที่จะเกิดปัญหาน้ำประปาในฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯไม่เพียงพอได้ ถ้าไม่มีการปรับแผนการระบายน้ำใหม่ทั้งหมด” แต่ทั้งนี้ไม่ว่าจะปรับแผนการจัดสรรน้ำทั้งประเทศอย่างไร ก็เป็นได้เพียงแค่การ”ประคับประคอง” สถานการณ์ไม่ให้ขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ขั้นวิกฤตเท่านั้น

โดยความหวังเดียวที่เหลืออยู่ก็คือ การ “ภาวนา” ให้มีพายุพัดผ่านเข้ามาในประเทศ 1-2-3 ลูก ในช่วง 2 เดือนข้างหน้านี้เท่านั้น เพื่อให้ทั้งประเทศผ่านพ้นสถานการณ์ภัยแล้งไปจนสิ้นสุดฤดูแล้งในปี 2563

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่.. แล้งจัดเกษตรเสียหายหนัก รง.ขุดบาดาลใช้น้ำรีไซเคิล