แล้งจัดเกษตรเสียหายหนัก รง.ขุดบาดาลใช้น้ำรีไซเคิล

แล้งลามหนักทั่วประเทศ ส.อ.ท.คาดการณ์ ข้าว-มัน-ยาง-ผักผลไม้เสียหายหนัก หวั่นโรงงานขาดวัตถุดิบผลิตส่งออก อุตสาหกรรมใหญ่ SCG ชูใช้น้ำหมุนเวียน โรงงานอีสานลดการใช้น้ำ ธุรกิจโรงแรม-หอพักต้องเตรียมตุนน้ำให้เพียงพอ แหล่งน้ำธรรมชาติแห้ง เร่งขุดเจาะบ่อบาดาลมาใช้ทดแทนให้รอดแล้งนี้ ด้านนิคมอุตสาหกรรมใหญ่แบ่งน้ำช่วยชุมชนโดยรอบกันแล้ว

สถานการณ์ภัยแล้งที่มาเร็วตั้งแต่กลางฤดูฝนของปี 2562 ได้สร้างความตื่นตระหนกให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการน้ำของประเทศ จากตัวเลขปริมาตรน้ำใช้การได้ล่าสุดทั้งประเทศ (ณ วันที่ 23 กรกฎาคม 2562) ปรากฏมีปริมาณ 10,729 ล้าน ลบ.ม. (อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่) คิดเป็นร้อยละ 23 มีปริมาณน้ำไหลเข้าแค่ 37.68 ล้าน ลบ.ม. แต่ต้องระบายน้ำออกถึงวันละ 100.37 ล้าน ลบ.ม. ในขณะที่ยังเหลือเวลาอีกถึง 9 เดือนเต็มกว่าจะผ่านพ้นฤดูแล้งของปี 2563 จนกลายเป็นปัญหาใหญ่ว่า จะหา “น้ำ” จากไหนมาใช้เพื่อการอุปโภค-บริโภคของคนทั้งประเทศ

เกษตรเสียหายหนัก

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังภาคเอกชนถึงการเตรียมการรับมือภัยแล้ง ที่คาดว่าจะรุนแรงที่สุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยนายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ได้รวบรวมข้อมูลผลกระทบจากภาวะฝนทิ้งช่วงเบื้องต้นคาดว่า จะกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของประเทศหลายรายการที่จะมีผลผลิตออกสู่ตลาดในช่วงครึ่งปีหลังจะได้รับความเสียหายอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็น ข้าว, มันสำปะหลัง, น้ำตาล และยางพารา และเป็นที่น่าเสียดายอย่างยางพารา ที่ความต้องการซื้อเพิ่งจะกลับมาในช่วงนี้ แต่กลับกรีดยางไม่ได้เนื่องจากปัญหาภัยแล้ง

ส่วนสถานการณ์ผลผลิตสับปะรด, ข้าวโพดหวาน, ผักและผลไม้ นายวิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ในฐานะนายกสมาคมผู้ผลิตอาหารแปรรูป กล่าวว่า จะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากภัยแล้ง ผลผลิตน้อย ไม่สมบูรณ์และราคาสูง โดยสับปะรดป้อนโรงงานคาดการณ์จะมีผลผลิตประมาณ 1.4 ล้านตัน ลดลงจากปีก่อนที่มี 1.7 ล้านตัน เริ่มจะไม่เพียงพอในไตรมาส 2 จากช่วงแล้งยาวนานในช่วงเดือนเมษายน-กันยายน โดยราคาขยับขึ้นจากปีก่อน กก.ละ 3 บาท เป็น 5 บาทแล้ว

ข้าวโพดหวานแม้ปีนี้ตลาดส่งออกดี ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องการเพิ่มกำลังผลิตอีก 5-10% “แต่ตอนนี้คงทำไม่ได้แล้วเพราะข้าวโพดเจอทั้งแล้งและโรคแมลง” คาดว่าผลผลิตจะลดลงมาก ส่วนผักผลไม้โดยเฉพาะมะพร้าว ลดลงเพราะพื้นที่ปลูกหลัก เช่น ราชบุรีแล้งมาก ราคาขึ้นไป กก.ละ 7.5-8 บาท จากปีก่อนที่ กก.ละ 4-5 บาท นอกจากนี้ เงาะ-ลำไย-ลิ้นจี่-หน่อไม้แห้ว-ข้าวโพดอ่อนเป็นพืชที่ปลูกในพื้นที่ฝน หากไม่มีฝนหรือฝนมาช้าจะส่งผลกระทบต่อผลผลิตแน่นอน โรงงานอาหารกระป๋องอาจจะขาดแคลนวัตถุดิบ

SCG ใช้น้ำหมุนเวียนใน รง.

ด้านนายธเนศ พงษ์ไพบูลย์ ประธานคณะทำงานด้านการจัดการน้ำ SCG กล่าวถึงการเตรียมแผนรับมือภัยแล้งในโรงงานผลิตกระดาษและบรรจุภัณฑ์ของ SCG ซึ่งอยู่ใกล้กับเขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่นว่า บริษัทมีนโยบายลดการใช้น้ำจากภายนอกมาอย่างต่อเนื่อง มีการใช้น้ำหมุนเวียนภายในโรงงานโดยการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำจากกระบวนการผลิตมาบำบัด กลับมาใช้ใหม่ เบื้องต้นจึงยังไม่ได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง แต่บริษัทเป็นห่วงชุมชนรอบพื้นที่เขื่อนอุบลรัตน์ได้ทยอยมอบถังเก็บน้ำขนาด 2,000 ลิตร ให้ชุมชนได้สำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงฝนทิ้งช่วง ในพื้นที่ภาคอีสาน 11 จังหวัด 85 อำเภอ 217 หมู่บ้านแล้ว

แหล่งข่าวจากบริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์-น้ำดื่ม “สิงห์” กล่าวว่า บริษัทต้องติดตามสถานการณ์ภัยแล้งอย่างใกล้ชิดและมีการประชุมหารือเพื่อประเมินสถานการณ์เป็นระยะ ๆ เนื่องจากเรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ที่จะส่งผลกระทบกับกำลังซื้อผู้บริโภคในระยะยาว ส่วนในแง่ของการผลิตเครื่องดื่มของบริษัทนั้น เนื่องจากภัยแล้งเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทุกปีอาจจะมากบ้างน้อยบ้างแตกต่างกันไป จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการทุกรายสามารถจะคาดการณ์ล่วงหน้าและวางแผนเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะรับมือได้ ประกอบกับทุกวันนี้เทคโนโลยีการผลิตก็มีการพัฒนาไปมาก โดยสามารถที่จะแยกธาตุแยกสารต่าง ๆ ได้ จึงสามารถที่จะนำ “น้ำบาดาล หรือน้ำประปา” มาผลิตเครื่องดื่มต่าง ๆ ได้ “ภัยแล้งที่เกิดขึ้นจึงไม่ใช่ปัญหาของผู้ผลิตเครื่องดื่ม โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่”

นิคมแบ่งน้ำให้ชาวบ้าน

นายจักรรัฐ เลิศโอภาส รองผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า ทุกนิคมอุตสาหกรรมตอนนี้ยังไม่ประสบปัญหาภัยแล้ง และยังไม่มีปัญหาน้ำไม่พอใช้ภายในโรงงาน โดยพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือที่ประสบปัญหาแล้งจัดขณะนี้เป็นพื้นที่ที่ไม่มีนิคม มีเพียงนิคมอุตสาหกรรมอุดรธานีที่อยู่ระหว่างการก่อสร้าง ส่วนพื้นที่ภาคเหนือมีบางพื้นที่แล้ง แต่นิคมอุตสาหกรรมลำพูนไม่ได้รับผลกระทบ และทางตรงข้ามนิคมได้แบ่งน้ำประปาที่ผลิตได้ปริมาณหลายล้านลูกบาศก์เมตรช่วยชาวบ้านด้วย

“ทุกนิคมมีการเก็บน้ำสะสมตลอดเวลาและขุดบ่อบาดาลมาผลิตเป็นน้ำประปาขายให้โรงงานในนิคมเพียงพอทุกปี มีการใช้น้ำจากการ reuse โดยนิคมอุตสาหกรรมภาคเหนือ จังหวัดลำพูน มีแหล่งน้ำหลักคือ แม่น้ำกวง ซึ่งนิคมมีบ่อเก็บน้ำดิบขนาด 400,000 ลบ.ม. กำลังการผลิตสูงสุด 36,000 ลบ.ม/วัน นิคมอุตสาหกรรมพิจิตร มีแหล่งน้ำหลักมาจากน้ำบาดาล กำลังการผลิต 6,400 ลบ.ม./วัน แหล่งน้ำสำรองและอ่างเก็บน้ำในนิคม 40,000 ลบ.ม. และนิคมอุตสาหกรรมแก่งคอย มีแหล่งน้ำหลักจากแม่น้ำป่าสักกำลังการผลิต 1,000 ลบ.ม./วัน และแหล่งน้ำสำรองเป็นอ่างเก็บน้ำในนิคม 2 อ่างรวมกัน 70,000 ลบ.ม.” นายจักรรัฐกล่าว

รง.-ธุรกิจอีสานสูบน้ำบาดาลตุน

นายทรงศักดิ์ ทองไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่น กล่าวถึงภาพรวมภัยแล้งในจังหวัดขอนแก่น ปัจจุบันน้ำในเขื่อนอุบลรัตน์ ลำน้ำชี และลำน้ำพอง เหลือเพียงน้ำก้นอ่างเริ่มมีปัญหา ต้องเก็บไว้เพื่อการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ยังไม่สามารถปล่อยน้ำเพื่อการเกษตรได้ ฉะนั้น พืชผลทางการเกษตรไม่ว่าจะเป็น ข้าว อ้อย มันสำปะหลัง เริ่มขาดน้ำ ขณะที่ภาคอุตสาหกรรมส่วนใหญ่มักมีแหล่งน้ำสำรองไว้อยู่แล้ว บางส่วนก็ใช้น้ำใต้ดิน ส่วนที่ใช้น้ำจำนวนมาก หรืออาศัยแหล่งน้ำทางธรรมชาติกำลังการผลิตต้องลดลง อย่างโรงแป้งมันต้องบริหารจัดการให้ใช้น้ำน้อยลง แต่หากแล้งต่อเนื่องโดยไม่มีพายุหรือฝนตกเลย “อาจจะมีความเสียหายหลายหมื่นล้าน”

นายณรงค์ เหล่าสุวรรณ ประธานหอการค้าจังหวัดมหาสารคาม กล่าวว่า ภัยแล้งส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่เมื่อพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะ “นาข้าว” จะได้รับความเสียหายหนัก ปีนี้จะทำให้เกษตรกรชาวไร่ชาวนามีค่าใช้จ่ายต้นทุนการทำนาที่สูงขึ้น อาทิ บางจุดที่แหล่งน้ำยังพอมีก็จะพากันลงขันออกเงินซื้อน้ำมันมาสูบน้ำเข้านาข้าวเพื่อรอน้ำฝน และบางแห่งเมื่อฝนมาก็ต้องลงมือหว่านไถใหม่รอบสองเพราะข้าวกล้าตาย

“กำลังซื้อในกลุ่มเกษตรกรปีนี้จะต้องลดต่ำลง ภาคธุรกิจจะต้องมีการวางแผนรับมือ คือการควบคุมต้นทุนและควบคุมสต๊อกสินค้าไม่ให้บวม เพื่อไม่ให้ทุนหมุนเวียนจม เพราะกำลังซื้อปีนี้จะส่งผลกระทบถึงปีหน้า และช่วงนี้ต้องเร่งสำรองน้ำไว้ รวมทั้งใช้น้ำอย่างประหยัดโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและหอพัก ซึ่งมีจำนวนมากจะต้องมีการสต๊อกน้ำสำรองไว้ใช้อย่างต่ำหนึ่งสัปดาห์ หรือเจาะบ่อบาดาลไว้ได้แล้ว”

ฝนหลวงของบฯกลางเพิ่ม

นายปนิธิ เสมอวงษ์ รองอธิบดีด้านปฏิบัติการ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวถึงแผนการดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงว่า ปัจจุบันได้ตั้งหน่วยปฏิบัติการ 11 หน่วย และจะเพิ่มเติมฐานเติมสารฝนหลวงที่ จ.แพร่ เพิ่มระยะการบินและการเติมสารฝนหลวงช่วยเหลือภาคเหนือตอนบน เชียงราย และพะเยา และปรับหน่วยภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี ไปตั้งเป็นหน่วยหาดใหญ่ ที่ จ.สงขลาแทน เพื่อช่วยเหลือพื้นที่เกษตร จ.นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา รวมทั้งป่าพรุควนเคร็ง จ.นครศรีธรรมราช ได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

“ตอนนี้เราได้รับการสนับสนุนเครื่องบินจากกองทัพ ส่วนงบประมาณในการดำเนินการจะเป็นการของบฯกลางเพื่อใช้ในการปฏิบัติการเพิ่มเติม”

คลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่.. แล้งกลางฤดูฝน ปรับแผนจัดสรรหนีวิกฤตประเทศขาดน้ำ