อีก 5 เดือน แบน 3 สารเคมีเกษตร “มนัญญา” เอาจริงชง “คกก.วัตถุอันตราย”

ลุ้นกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ชง “แบน 3 สารเคมี” ต่อที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ก.ย.นี้ ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม รับลูกพร้อมห้ามนำเข้าตามกฎหมาย แนะเกษตรกรควรปรับวิธีปลูกพึ่งพาสารเคมีให้น้อยที่สุด

นางสาวมนัญญา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ทางกระทรวงตั้งเป้าที่จะยกเลิกการใช้สารเคมีเกษตรทั้ง 3 ชนิด ประกอบด้วย พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต รวมถึงปุ๋ย ยา และสารเคมีชนิดอื่น ๆ ให้เร็วที่สุดภายในปี 2562 นั่น คือภายในเดือนมกราคม 2563 ต้องหายไปจากประเทศไทยทั้งหมด ระหว่างนี้จึงได้สั่งการให้กรมวิชาการเกษตรทบทวนการใช้สารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง 3 สารเคมีนี้ให้รอบด้าน พร้อมทั้งเข้าตรวจสอบสต๊อกสินค้าที่เหลืออยู่ เพื่อเร่งรัดหาสารทดแทนโดยเร็วที่สุด จากนั้นจะเตรียมเสนอในที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตราย ในเดือน ก.ย.นี้

ขณะเดียวกัน กระทรวงเกษตรฯอยู่ระหว่างร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ในการอนุญาต พ.ศ. …เพื่อนำมาควบคุมการนำเข้า การผลิต การชะลอ การยกเลิก สำหรับสารเคมีอันตรายที่มีความเสี่ยงสูง ดังเช่น 3 สารดังกล่าว โดย พ.ร.บ.นี้ จะมีแนวทางปฏิบัติเรื่องการต่อทะเบียนการค้าด้วยเช่นกัน ยอมรับว่าแม้จะยาก เพราะต้องผ่านบอร์ดคณะกรรมการหลายชุด หลายหน่วยงาน แต่ตนจะพยายามแก้ไขกฎหมาย และผลักดันเร่งรัดให้เร็วที่สุด

“เราได้มีการหารือเรื่องนี้กับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งยืนหยัดในนโยบายนี้อยู่แล้ว ดังนั้น จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะปล่อยให้เรื่องนี้ผ่านไป เป็นไปไม่ได้ที่จะอนุญาตสิ่งผิด ๆ จึงต้องทำให้เด็ดขาดและรวดเร็วขึ้น ความปลอดภัยชีวิตคนไม่มีอะไรมาทดแทนได้ ย้ำว่าอยากให้จบภายในสิ้นปีนี้ ส่วนตัวอยากให้จบในสิ้นเดือนนี้เลย และจะเสนอคณะกรรมการในการประชุมครั้งต่อไป”

นายทองชัย ชวลิตพิเชฐ อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายเมื่อเดือน ก.ค.ที่ผ่านมา ยังไม่มีมติเห็นชอบว่าจะยกเลิก เพียงแต่ได้เสนอการจัดทำมาตรการต่าง ๆ เข้ามาในที่ประชุมเท่านั้น และยังคงให้ทางกระทรวงเกษตรฯไปพิจารณาหาสารอื่นที่จะนำมาชดเชยให้ได้ก่อน

“กระทรวงอุตสาหกรรมขอยึดตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอมา เพราะเขาคือหน่วยงานหลักในการศึกษาเรื่องผลกระทบสารทดแทน แนวทางการดูแลเกษตรกร หากการประชุมคณะกรรมการวัตถุอันตรายครั้งต่อไป ซึ่งคาดว่าจะมีในเดือน ก.ย. ทางกระทรวงเกษตรฯเสนอแบน 3 สารเคมี และหากที่ประชุมมีมติเห็นชอบก็จะยืนมติดังกล่าว และในฐานะเจ้าของกฎหมายก็จำต้องประกาศห้ามนำเข้าสารเคมีทั้งหมด แต่จะต้องใช้วิธีการทยอยให้ผู้นำเข้ามีเวลาปรับตัว”

แหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเกษตรให้ความเห็นว่า สำหรับแนวทางของเกษตรกรสามารถนำสารอื่นมาทดแทนกันได้ โดยไม่จำเป็นต้องมี 3 สารนี้ไว้ใช้ในแปลงเกษตรก็ได้ เช่น การใช้เกษตรอินทรี หรือการปรับแปลงเกษตร โดยปลูกพืชอื่นแซมในพื้นที่เพื่อป้องกันไม่ให้วัชพืชหรือหญ้าสามารถขึ้นได้ จนทำให้นำไปสู่การต้องใช้สารเคมีกำจัด สิ่งสำคัญคือเกษตรกรต้องมีความรู้และปรับวิธีการทำเกษตรใหม่

ส่วนการห้ามนำเข้าตามกฎหมายจะต้องประกาศและกำหนดกรอบให้ชัดเจน เพื่อให้ผู้นำเข้าสามารถมีเวลาปรับตัว จะ 3 เดือน หรือ 6 เดือนก็ให้กำหนดให้ชัด หรือบางกรณีหากผู้นำเข้าไม่สามารถปรับตัวทัน ก็อาจมีการยืดหยุ่นแต่ต้องไม่เหนือไปกว่าผู้นำเข้ารายอื่นมากนัก ซึ่งจะดูที่เหตุผล