“ถนนยางพารา”ล้านตันวืด เกษตรกรดันตั้งรง.ล้อยาง

คณะอนุกรรมาธิการยางพารา เรียก 5 เสือยางไทยถกปัญหาราคารูด เกษตรกรเสนอรัฐตั้งโรงงานยางล้อไทย- เพิ่มดีมานด์ใช้น้ำยางข้นสร้างถนน หลัง กยท.สรุปตัวเลขโครงการใช้ยางในประเทศ 1 ล้านตันใช้ไปแค่ 1 แสนตันพลาดเป้ามโหฬาร จี้คมนาคมเหมาอีก 8 แสนตันหวังดันตามเป้าล้านตันในปี”62

การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้เสนอโครงการประกันราคาเกษตรกรชาวสวนยาง วงเงิน 16,927 ล้านบาท เพื่อประกันราคาให้เฉพาะชาวสวนยางที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท. 999,065 ราย พื้นที่ 9,448,447 ไร่ โดยใช้ราคาประกันจากยางแผ่นรมควันชั้น 3 ไม่ต่ำกว่า กก.ละ 60 บาท ไม่เกิน 15 ไร่

อนุกรรมาธิการยางเรียกประชุม

ล่าสุด นายชูวิทย์ พิทักษ์พรพัลลภ ส.ส.อุบลราชธานี พรรคเพื่อไทย ประธานคณะอนุกรรมาธิการแก้ไขปัญหายางพาราและปาล์มน้ำมัน ได้เปิดรับฟังความเห็นจากผู้เกี่ยวข้องทั้งต้นน้ำ-กลางน้ำ-ปลายน้ำ โดยกลุ่มชาวสวนยางพาราระบุว่า ชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ 1 ล้านครัวเรือนจะไม่ได้รับประโยชน์จากเงินชดเชย ทั้งยังต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนเซสอีก กก.ละ 2 บาทด้วย

“ชาวสวนยางพาราได้เสนอให้รัฐบาลยกระดับมาตรฐานและเพิ่มปริมาณการใช้น้ำยางข้น ซึ่งไทยผลิตได้ปีละ 5 ล้านตันแทน เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะยาว คู่ขนานกับโครงการประกันรายได้ชาวสวนยางและเสนอให้ กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับ กยท.เป็นแกนนำใช้เงิน 3,000 ล้านบาทตั้งโรงงานยางล้อไทยเพื่อให้หน่วยงานรัฐบาลทั้งหมดใช้งาน และให้ทำถนนดินผสมซีเมนต์และยางพาราแทนถนนดินลูกรังใน 70,000 หมู่บ้านทั่วประเทศ ซึ่งจะช่วยให้ใช้ยางเพิ่มขึ้น 1 ล้านตัน (เฉลี่ย 1 กม.ใช้น้ำยางข้น 12 ตัน” นายชูวิทย์กล่าว

ด้านกลุ่มผู้ส่งออกยางพาราได้แจ้งขาดสภาพคล่องในการรับซื้อยาง เนื่องจากสถาบันการเงินไม่ปล่อยสินเชื่อให้ผู้ส่งออก จึงเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้กระทรวงการคลัง “ค้ำประกันเงินกู้”

“กลุ่มไทยฮั้วเป็นคนยกเรื่องสภาพคล่อง กลุ่มศรีตรังเสนอให้ยกระดับมาตรฐานการสวนยางตามมาตรฐานสากล FSC” แหล่งข่าวผู้ร่วมประชุมกล่าว

ใช้ยางล้านตันหลุดเป้าเพียบ

ล่าสุด “ประชาชาติธุรกิจ” ได้ตรวจสอบการใช้ยางพาราของหน่วยงานรัฐ 10 แห่งกับ กยท. แจ้งความต้องการใช้รวม 34,551 ตัน ยางแห้ง 133 ตัน กระทรวงคมนาคมต้องการอีก 793 ตัน กรมชลประทาน 2,778 ตัน, กรมราชทัณฑ์ กระทรวงยุติธรรม อีก 534 ตัน

กระทรวงศึกษาธิการ-การพัฒนาสังคมฯ กลาโหม ต้องการใช้น้ำยางข้น 20,318 ตัน ยางแห้ง 242 ตัน ยางสด 41,363 ตัน รวมถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ต้องการน้ำยางข้น 25,473 ตัน อยู่ระหว่างดำเนินการ 29,909 ตัน คิดเป็นน้ำยางสด 59,819 ตัน และเงินสะสมของ อปท. 290 ตัน อยู่ระหว่างดำเนินการ 53 ตัน

ทั้งนี้ในภาพความต้องการใช้ยางในประเทศปีนี้อยู่ที่ 167,261 ตัน (น้ำยางสด) เพิ่มจากปีก่อน 97,915 ตัน แต่ยัง “ต่ำกว่า” เป้าหมาย 1 ล้านตัน วงเงิน 43,654 ล้านบาท

“9 เดือนที่ผ่านมาราชการใช้น้ำยางข้นจริงแค่ 33,395 ตัน จากยอดแจ้ง 83,066 ตัน ส่วนน้ำยางสดใช้จริง 66,796 ตัน ห่างเป้าถึง 100,465 ตัน”

เหตุที่โครงการ 1 ล้านตันไม่สำเร็จ อาจเพราะ “ล็อกสเป็ก” น้ำยางผสมและสารผสมเพิ่มโครงการก่อสร้างถนนดินซีเมนต์ปรับปรุงคุณภาพด้วยยางธรรมชาติ (พาราซอยล์ซีเมนต์) กลุ่มผู้รับเหมาทำถนนจากยางพาราและตัวแทนชาวสวนยางได้ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรม “กล่าวหา” บริษัท โพลิเมอร์ อินโนเวชั่น, บริษัท สยามนวกรรม และบริษัท ไทย อีลาสโตพาร์ท ซึ่งนายกรัฐมนตรีสั่งให้ตรวจสอบแล้ว

สำหรับโครงการใช้ยางในประเทศเริ่มตั้งแต่ปี 2559 กำหนดให้ซื้อยางจากเกษตรกรรายย่อยที่ขึ้นทะเบียนกับ กยท.ตามระดับคุณภาพยางในราคาตลาดแต่ไม่เกิน กก.ละ 60 บาท แต่กำหนดราคากลางตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 ทำให้ทุกหน่วยงานใช้ไม่ได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะดูดซับยางออกจากตลาดเพิ่มอีก 190,000 ตัน แต่ใช้ไปได้เพียง 8,800 ตันเท่านั้น

“ปีนี้อาจจะต้องขอให้กระทรวงคมนาคมช่วยใช้ยางภายในประเทศอีก 800,000 ตัน เพื่อให้ได้ปริมาณยางตามเป้าหมายที่วางไว้ 1 ล้านตันในสิ้นปี 2562”

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลยพิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat 

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!