ส่งออกข้าววืดเป้า 9 ล้านตัน เวียดนามตามบี้ทุกตลาด

AFP PHOTO/ Nicolas ASFOURI

ส่งออกข้าวยอดเดี้ยง Q4 แข่งเดือด เวียดนามดัมพ์ราคาซ้ำ “บาทแข็ง” ส.ส่งออกข้าว ชี้ทั้งปีส่งออกวืดเป้าได้แค่ 8 ล้านตัน “เอเซียโกลเด้นไรซ์” ออกโรงแนะรัฐเร่งจีทูจีกับจีน 1.2 ล้านตัน จี้ฟื้นตลาดอิรัก ด้าน “จุรินทร์” คิกออฟจ่ายประกันรายได้ชาวนา งวดแรก 15 ต.ค.

ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การส่งออกข้าว ช่วง 8 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-ส.ค. 2562) มีปริมาณ 5,354,661 ตัน ลดลง 26.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีปริมาณ 7,269,744 ตัน มูลค่าการส่งออก 90,276.1 ล้านบาท (2,872.4 ล้านเหรียญสหรัฐ) ลดลง 23.1% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 117,342.6 ล้านบาท (3,684.6 ล้านเหรียญสหรัฐ) โดยเดือน ส.ค.ที่ผ่านมาไทยส่งออกได้ 448,476 ตัน ลดลง 18.3% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนที่ส่งออกได้ 548,714 ตัน ขณะที่มูลค่าส่งออก 8,437 ล้านบาท ลดลง 12.2% เมื่อเทียบกับเดือน ก.ค. 2562 มูลค่า 9,607 ล้านบาท จากที่ไทยเคยส่งออกได้สูงสุดถึง 1 ล้านตันต่อเดือน ชี้ให้เห็นว่าสถานการณ์การส่งออกยังคงซบเซา คาดการณ์ว่าเดือน ก.ย. 2562 จะส่งออกได้ 500,000 ตัน โดยทั้งปีน่าจะส่งออกได้ 8 ล้านตัน ต่ำกว่าเป้าหมายที่วางไว้ 9 ล้านตัน ซึ่งเป็นเป้าที่ลดลงจากก่อนหน้านี้ 9.5 ล้านตัน (ถือว่าต่ำสุดในรอบ 7 ปี นับจากปี 2556 ที่ส่งออก 6.61 ล้านตัน)

เวียดนามดัมพ์ราคาแย่งตลาด

“สาเหตุที่ส่งออกลดลงปัจจัยหลักมาจากเงินบาทแข็งค่าขึ้นจากปีก่อน 31 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ปีนี้ 30 บาทเศษต่อเหรียญสหรัฐ บวกกับราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนามเฉลี่ยตันละ 80 เหรียญสหรัฐ ประกอบกับเวียดนามดัมพ์ส่งออกหลังจากจีนลดนำเข้าข้าวตามชายแดนเวียดนาม เมื่อไม่สามารถส่งขายให้จีนได้เวียดนามจึงหันมาส่งออกแข่งขันกับไทย ที่น่าห่วงไม่ใช่แค่เฉพาะราคาถูกกว่าแต่คุณภาพดีกว่าเท่านั้น แต่เวียดนามมีพันธุ์ข้าวใหม่ ๆ หลากหลายจากอดีตมีแต่ข้าวขาว จะกระทบไทยในระยะยาว เช่น ข้าวนางฮวา, ST 21, ST 24, DT 8 เป็นข้าวขาว พื้นนิ่มที่เวียดนามพัฒนาขึ้น ชิงมาร์เก็ตแชร์ข้าวหอมมะลิไทย เพราะราคาข้าวกลุ่มนี้อยู่ที่ 480-600 เหรียญสหรัฐ ถูกกว่าหอมมะลิไทย 400-500 เหรียญ โดยข้าวมะลิของไทยขายตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ”

หวั่น 3-5 ปีเสียมาร์เก็ตแชร์

ร.ต.ท.เจริญกล่าวว่า ตอนนี้จะเริ่มเห็นตลาดฟิลิปปินส์ซึ่งเพิ่งจะเปิดเสรีนำเข้าข้าวหันไปซื้อเวียดนามปีนี้ 1.3 ล้านตัน แต่ซื้อไทยแค่ 2-3 แสนตัน จากปกติเคยให้โควตาประเทศละ 3 แสนตัน ส่วนตลาดอิรักนั้น เวียดนามเข้าไปทำจอยต์เวนเจอร์กลายเป็นผู้ส่งออกเบอร์ 1 ไปหลายแสนตัน ส่วนไทยแม้จะเจรจาฟื้นตลาดได้คืนมาบ้าง แค่ชิมลาง 10,000-20,000 ตันในปีนี้ และยังต้องแข่งราคากับเวียดนาม ขณะที่ตลาดจีนไม่ได้สานต่อการทำสัญญาจีทูจีกับไทย เพราะมีสต๊อกข้าวกว่า 100 ล้านตัน ซึ่งไม่เพียงแค่ไม่ซื้อ แต่ยังแข่งกับไทยในตลาดแอฟริกาด้วย ภาวะส่งออกเช่นนี้ถ้าไม่ได้รับการแก้ไข อีก 3-5 ปี ไทยจะสูญเสียส่วนแบ่งตลาดข้าวโลก”

ทั้งนี้ คาดการณ์ผลผลิตข้าวเปลือกนาปีจะมีปริมาณมากขึ้น เพราะนาในพื้นที่ดอนได้รับผลดีจากปริมาณน้ำมาก และอ้อยราคาไม่ดี คนหันมาปลูกข้าวเพิ่ม ทำให้มีข้าวเปลือกมะลิเพิ่มขึ้นเป็น 8 ล้านตันข้าวเปลือก จากปีก่อน 7.2 ล้านตัน โดยข้าวหอมมะลิแถบ จ.พิษณุโลก พิจิตร หนองคาย จะมีเพิ่มขึ้น ทำให้ทิศทางราคาข้าวเปลือกปรับลดลง

เสียออร์เดอร์มาเลย์ให้เวียดนาม

สอดคล้องที่นายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บจ.เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด ผู้ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของไทย ชี้ว่าสถานการณ์การส่งออกข้าวช่วงไตรมาส 4 มีการแข่งขันกันรุนแรงในทุกตลาด โดยเฉพาะตลาดหลักของไทย คือตลาดเอเชียซึ่งต้องแข่งอย่างหนักกับข้าวเวียดนามที่ราคาต่ำกว่าไทย จากเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างมาก เช่น ล่าสุดการประมูลซื้อข้าวขาว 5% ของมาเลเซีย ทางเอเซียฯเข้าร่วมประมูลด้วย ซึ่งไทยเป็นฝ่ายพ่ายแพ้แก่เวียดนาม เพราะราคาไทยสูงกว่าตันละ 70 เหรียญสหรัฐ โดยไทยเสนอราคาขาย 390 เหรียญสหรัฐ เวียดนามเสนอ 320 เหรียญสหรัฐ สูญเสียออร์เดอร์ครั้งนี้ไป 20,000 ตัน ขณะที่ตลาดแอฟริกาซึ่งเป็นตลาดส่งออกหลักอีกตลาดหนึ่งก็ต้องแข่งขันกับข้าวจากจีน ซึ่งระบายสต๊อกข้าวเก่าราคาต่ำกว่าข้าวไทยเช่นกัน

จี้รัฐทำสัญญาจีทูจีกับจีน

การส่งออกช่วง 3 เดือนสุดท้าย แม้เป็นช่วงที่มีการส่งมอบสินค้าสูงสุดของปี แต่คาดว่าเดือน ก.ย.น่าจะส่งออกได้ปริมาณใกล้เคียงกับเดือน ต.ค.ซึ่งน่าจะส่งออกได้ 500,000 ตัน และเดือน พ.ย. กับ ธ.ค.น่าจะทำได้เพิ่นขึ้นปริมาณเดือนละ 800,000 ตัน เทียบกับที่เคยส่งออกสูงสุดเดือนละ 1 ล้านตัน เท่ากับว่าไตรมาส
สุดท้ายรวมกับ 3 ไตรมาสแรกที่ส่งออกได้ 5-6 ล้านตัน ภาพรวมการส่งออกข้าวทั้งปีอาจต่ำกว่าเป้าหมาย

“รัฐบาลจึงต้องเร่งกระตุ้นการส่งออกข้าวอย่างเร่งด่วน ขอแนะนำว่ารัฐต้องเร่งเจรจากับคอฟโก้ รัฐวิสาหกิจจีนให้ได้ เพราะเรามีออร์เดอร์ที่เหลือส่งมอบอีก 2 แสนตัน ลอตละ 1 แสนตัน และอย่าลืมว่าเรายังมีเอ็มโอยูซื้อขายข้าวอีก 1 ล้านตันของรัฐบาลนี้ นอกจากนี้มีตลาดอิรักที่ต้องเร่ง ทุกคนอยากเรียกร้องให้รัฐช่วย เพราะตอนนี้ชาวนามีประกันรายได้ แต่ทั้งโรงสี กับผู้ส่งออกแย่”

จ่ายชดเชยประกันรายได้ข้าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ชี้แจงและมอบนโยบายโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวปี 2562/63 รอบที่ 1 ในโอกาสเป็นวันแรกของการจ่ายเงินประกันรายได้ให้แก่เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว สำหรับผู้ที่จะเก็บเกี่ยวก่อน 16 ต.ค. 2562 มี 349,000 ราย จ่ายชดเชย 9,400 ล้านบาท จากวงเงินรวม 21,400 ล้านบาท คาดว่าต้องจ่ายชดเชยรายได้ให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเปลือก 2 ชนิด เนื่องจากราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงต่ำกว่าราคาประกันรายได้ คือข้าวเปลือกเจ้า ราคาอ้างอิง 7,530.369 บาท ต่ำกว่าราคาประกันตันละ 10,000 บาท รัฐต้องชดเชยตันละ 2,469.64 บาท กำหนดให้ครัวเรือนละ 30 ตัน รวมได้ครัวเรือนละ 74,089.2 บาท

และข้าวเปลือกหอมปทุมธานี ราคาอ้างอิงตันละ 10,216.55 บาท จากราคาประกันตันละ 11,000 บาท ชดเชยตันละ 783.45 บาท ครัวเรือนละ 25 ตัน รวมครัวเรือนละ 19,586.25 บาท ส่วนข้าวเปลือกอีก 3 ชนิดรอบนี้ยังไม่ต้องชดเชย เพราะราคาอ้างอิงสูงกว่าราคาประกัน ได้แก่ ข้าวเปลือกหอมมะลิ ราคาตลาดอ้างอิงตันละ 16,723.09 บาท ราคาประกันตันละ 16,000 บาท ข้าวเปลือกหอมมะลินอกพื้นที่ตันละ 15,651.05 บาท ราคาประกันตันละ 14,000 บาท ข้าวเปลือกเหนียวตันละ 18,926.86 บาท จากราคาประกันตันละ
12,000 บาท

แจงไม่กระทบกลไกตลาด

นายจุรินทร์กล่าวว่า โครงการนี้ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้ได้รับรายได้ 2 ทาง ทั้งจากการขายข้าวปกติและได้การรับชดเชยจากรัฐบาล มั่นใจว่าโครงการนี้จะไม่ส่งผลกระทบราคาตลาด

“ส่วนมาตรการช่วยเหลือควบคู่ไปกับประกันรายได้ข้าวนั้น รัฐบาลยังคงพิจารณาหามาตรการที่เหมาะสม เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวซึ่งจะดำเนินการต่อ แต่จะพิจารณาตามความเหมาะสมตามแต่ช่วงระยะเวลา”