ก.อุตฯพร้อมบังคับใช้กม.โรงงานใหม่

ดีเดย์กฎหมายโรงงานฉบับใหม่ 27 ต.ค.นี้ กรมโรงงานอุตสาหกรรมทยอยคลอดกฎหมายลูก จัดกลุ่มโรงงาน 107 ประเภท ยกให้ อปท.ดูแลโรงงานจำพวก 1 ทั้งหมด เพราะไม่ใช่โรงงานไม่ต้องขออนุญาต รง.4 ขณะที่จำพวก 2-3 ปรับแรงม้าใหม่ยกแผง ปรับเพิ่มค่าธรรมเนียม ร่างหลักเกณฑ์เทิร์ดปาร์ตี้ใกล้เสร็จ ด้าน “ส.อ.ท.” พร้อมรับหน้าที่ third party แนะรัฐเคาะมาตรการเสริมลดค่าใช้จ่ายการตรวจโรงงานช่วงแรก ช่วยผู้ประกอบการ SMEs

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ในวันที่ 27 ต.ค. 2562 พ.ร.บ.โรงงาน พ.ศ. 2562 (ฉบับใหม่) จะมีผลบังคับใช้อย่างเป็นทางการ ซึ่งขณะนี้กรมได้ดำเนินการเตรียมความพร้อมทั้งในส่วนการยกร่างกฎหมายลูกหลายฉบับเสร็จแล้ว โดยเฉพาะเรื่องของการกำหนดขนาดโรงงานทั้ง 107 ประเภท หรือคำนิยามของโรงงานอุตสาหกรรม หลักเกณฑ์คุณสมบัติของผู้ตรวจบุคคลที่ 3 (third party) และอัตราค่าธรรมเนียม เป็นต้น

โดยกฎหมายใหม่ฉบับนี้ได้มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญหลัก 4 เรื่องใหญ่ คือ 1.ขอบเขตโรงงานได้ปรับแก้จากเดิมที่กำหนด 5 แรงม้า หรือคนงาน 7 คน มาเป็น 50 แรงม้า หรือคนงาน 50 คน เป็นโรงงานจำพวกที่ 2 ขณะที่ 75 แรงม้าขึ้นไป หรือคนงาน 75 คน เป็นโรงงานจำพวกที่ 3 ส่วนโรงงานจำพวกที่ 1 คือต่ำกว่า 50 แรงม้า โอนอำนาจการดูแลให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อติดตามดูแลโรงงานในท้องถิ่นภายใต้ พ.ร.บ.สาธารณสุขที่จะควบคุมดูแลด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม

2.ผู้ตรวจสอบเอกชน (third party) สามารถตรวจสอบโรงงานหรือเครื่องจักรได้ ซึ่งขณะนี้ยังคงอยู่ระหว่างการร่างหลักเกณฑ์คุณสมบัติที่เบื้องต้นจะให้เอกชนผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่ดังกล่าว และยังคงอยู่ระหว่างหารือว่า 11 สถาบันภายใต้สังกัดกระทรวงอุตสาหกรรมจะสามารถทำหน้าที่ได้ด้วยหรือไม่

3.ใบอนุญาตประกอบกิจการ รง.4 นั้นกำหนดไว้ว่า ผู้ประกอบการ เครื่องจักรไม่ถึง 50 แรงม้า แรงงานไม่ถึง 50 คน (จำพวก 1) ไม่ต้องขอใบอนุญาต เพราะถือว่าไม่ใช่โรงงาน ซึ่งจะช่วยให้ผู้ประกอบการรายเล็กเหล่านี้ไม่ต้องมีต้นทุน ส่วนโรงงานจำพวก 2 และ 3 เข้าข่ายเป็นโรงงาน จะต้องมาขออนุญาต และผู้ประกอบการ/โรงงานเดิมไม่ต้องต่อใบอนุญาต

และ 4.ผู้ประกอบกิจการ ต้องมีการรับรองตนเอง (self desired)

“กฎหมายลูกมีหลายตัวก็จะทยอยประกาศออกมาก่อน อย่างการกำหนดขนาดโรงงาน 107 ประเภทเสร็จแล้ว เรื่องค่าธรรมเนียมก็มีการปรับเพิ่มขึ้น แต่ยังมีกฎหมายลูกบางตัวที่ยังไม่เสร็จ เราสามารถประกาศใช้กฎหมายไปก่อนได้ กฎหมายลูกค่อยทยอยตามมา”

นายเกรียงไกร เธียรนุกูล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ความพยายามที่รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยมีความสะดวกกับนักลงทุนและผู้ประกอบการในการทำธุรกิจ จึงเป็นที่มาของการปรับแก้ ยกเลิกกฎหมายหลายฉบับ ส่งผลให้ความยากง่ายของการทำธุรกิจ (ease of doing business) ของไทยมีอันดับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดเช่นเดียวกันกับกฎหมายของกรมโรงงานฯที่ต้องการลดปัญหาและอุปสรรค เรื่องของการขอใบอนุญาต รง.4 ในอดีตที่สะสมมานาน ทั้งความยุ่งยาก ใช้เวลานาน หลายขั้นตอน บุคลากรรัฐไม่เพียงพอ รวมถึงปัญหาการทุจริตรับสินบน ดังนั้น กฎหมายใหม่ฉบับนี้จะตัดปัญหาทั้งหมด และการใช้วิธีให้โรงงานประเมินตนเองเป็นการลดขั้นตอนและน่าเชื่อถือ โดยมี third party เข้ามาตรวจสอบอีกครั้ง

สำหรับคุณสมบัติ third party จะต้องเป็นผู้ที่เข้าใจในการประกอบธุรกิจ โครงสร้างของโรงงานอุตสาหกรรมแต่ละประเภทอยู่ในกลุ่มธุรกิจนั้น ๆ และต้องมีที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญวิศวกรรมด้านต่าง ๆ เช่น วิศวะเครื่องจักร วิศวะด้านการใช้พลังงาน เป็นต้น เนื่องจากวิศวะเหล่านี้จะรู้กระบวนการการทำงาน การผลิตของเครื่องจักร รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการจัดการของเสีย ซึ่ง ส.อ.ท.ได้เสนอตนเองทำหน้าที่ third party ดังกล่าว ด้วยความพร้อมและมีความสามารถครบทุกคุณสมบัติ เนื่องจากสมาชิกมีความเชี่ยวชาญและอยู่ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรมและยังมีฐานข้อมูล

อย่างไรก็ตาม การกำหนดค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบช่วงแรกนั้น ภาครัฐต้องคิดในอัตราที่ถูก หรืออาจจะพิจารณาให้สามารถนำไปลดหย่อนได้ หรืออาจต้องเข้ามาสนับสนุนค่าใช้จ่ายให้กับโรงงานก่อน โดยเฉพาะโรงงานที่ยังเป็น SMEs ซึ่งอัตราค่าตรวจคาดว่าจะต้องกำหนดออกมาเป็นเกณฑ์ที่จัดกลุ่มไปตามขนาดของโรงงาน