แผน 5 ปี ปตท.สผ. ลุย “สำรวจ” เพิ่มกำลังผลิตเท่าตัว

สถานการณ์ตลาดพลังงานโลกเปลี่ยนแปลง จากความกังวลน้ำมันจะหมดโลกดันราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกดีดตัวขึ้นไป 100 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเมื่อ 10 ปีก่อน นำมาสู่การค้นพบแหล่งเชลออยล์ที่สหรัฐทำให้ราคาน้ำมันโลกปรับลดลง กอปรกับกระแสเทคโนโลยีดิสรัปชั่นที่รุกคืบ ทำให้เทคโนโลยีการขุดเจาะดีขึ้น เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพของเครื่องยนต์ประหยัดน้ำมัน เทรนด์การใช้พลังงานสะอาด และการพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (EV) ถือเป็นจุดเปลี่ยนให้ “ปตท.สผ.” ต้องปรับกลยุทธ์ เพื่อรักษาพันธกิจในการสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้คนไทยต่อไป

จุดเปลี่ยน ปตท.สผ.

“นายพงศธร ทวีสิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท.สผ. ฉายภาพองค์กรก้าวย่างสู่อายุ 35 ปีในปีหน้าว่า หากมองเป็นช่วงวัย ปตท.สผ.ช่วงอายุ 15 ปีแรก เติบโตได้ปีละ 19% จากฐานที่ต่ำ พอขยับอีก 10 ปีถัดมาการเติบโตเฉลี่ยก็ลดลงเหลือปีละ 5% กระทั่งถึงในช่วง 5-10 ปีหลังมานี้เติบโตเฉลี่ยเหลือปีละ 1% ดังนั้น เมื่อ 3-4 ปีก่อนเราเห็นเทรนด์ตลาดพลังงาน และกระแสดิสรัปชั่นที่รุกเข้ามา ทำให้ประสิทธิภาพเครื่องยนต์ รวมถึงการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าดีมากขึ้น เราจึงปรับใช้กลยุทธ์ “reset-refocus-renew” ปรับตัว สร้างประสิทธิภาพ โฟกัสการลงทุนอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และมุ่งเน้นการพัฒนาเทคโนโลยีใหม่

ล่าสุดปีที่ผ่านมาปรับอีกครั้งสู่การสร้างพันธมิตรด้านพลังงานแทนการแข่งขัน หรือ energy parthner of choice โดยผ่าน 2 กลยุทธ์ คือ expand หมายถึง การสร้างพันธมิตรเพื่อขยายและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ในพื้นที่ไทยและอาเซียนหรือ coming-home และเน้นสร้างพันธมิตรกับประเทศที่มีศักยภาพ หรือ strategic alliance และ execute ด้วยการเพิ่มปริมาณผลผลิตรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน

โดยในปี 2562 ปตท.สผ.ได้ขยายการลงทุนโดยเข้าซื้อควบรวมกิจการ (M&A) หลายโครงการ อาทิ

1) ชนะการประมูลในโครงการบงกช-เอราวัณ ซึ่งจะหมดอายุสัมปทานในปี 2565-2566

2) การเข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในมาเลเซีย ซึ่งเสร็จสิ้นเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ทำให้ ปตท.สผ. เป็นบริษัท E&P ที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ในมาเลเซีย มีปริมาณการขาย 50,000 บาร์เรลต่อวัน และจะเพิ่มเป็น 70,000 บาร์เรลต่อวัน

3) การเข้าซื้อกิจการบริษัท พาร์เท็กซ์ โฮลดิ้ง บี.วี. ในโอมาน มีปริมาณการขาย เพิ่มจาก 16,000 เป็น 20,000 บาร์เรลต่อวัน

4) การเข้าถือหุ้นในโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม รวม 80.48%

และ 5) การลงทุนต่อยอดธุรกิจก๊าซธรรมชาติในเมียนมา

ชะลอ M&A ลุยสำรวจ

ทิศทางการดำเนินธุรกิจในช่วง 5 ปีนับจากนี้ (2563-2567) ปตท.สผ. “ชะลอ” การ M&A แหล่งปิโตรเลียม แต่จะหันมาเน้นลงทุนสำรวจ เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และเพิ่มสำรองปิโตรเลียม เพราะการ M&A ช่วยให้ขยายฐานธุรกิจก้าวกระโดดได้อย่างรวดเร็วก็จริง แต่ “ผลตอบแทน” จากการทำ M&A ยังไม่สูงเทียบกับการสำรวจและขุด โฟกัสเป้าหมาย 5 ประเทศ

สำหรับกลยุทธ์ใหม่นี้ ปตท.จะโฟกัสการลงทุนในพื้นที่เป้าหมาย 5 ประเทศจากทั้งหมด 15 ประเทศที่ ปตท.สผ.ออกไปลงทุน ได้แก่ ไทย มาเลเซีย เมียนมา สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) และโอมาน โดยในส่วนมาเลเซียและเมียนมาได้ค้นพบหลุมลัง เลอบาห์-1อาร์ดีเอ2 ในแปลงเอสเค 410 บี อยู่ระหว่างการวางแผนเจาะหลุมประเมินผล ส่วนใน UAE โดยได้รับสัมปทานแหล่งก๊าซธรรมชาตินอกชายฝั่ง 2 แปลง คือ อาบูดาบี ออฟชอร์ 1 และออฟชอร์ 2 ซึ่ง ปตท.สผ.ถือหุ้นส่วน 30% ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาด้านธรณีวิทยาและวางแผนสำรวจ และโครงการแอดนอค ก๊าซ โพรเซสซิ่ง (AGP) ซึ่งมีกำลังการผลิต 8,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง ปตท.สผ.ถือหุ้นอยู่ 2% ในโรงแยกที่มีกำลังการผลิต 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ส่วนใน “โอมาน” มีโครงการผลิตน้ำมันบนบก พีดีโอ (บล็อก 6) ทำให้มีกำลังการผลิตปิโตรเลียม 610,000 บาร์เรลต่อวัน โครงการมุคไคซนา (บล็อก 53) ผลิตน้ำมันบนบก ปตท.สผ.ถือหุ้นสัดส่วน 1% กำลังผลิต 120,000 บาร์เรลต่อวัน และโครงการโอมาน แอลเอ็นจี ปตท.สผ.ถือหุ้นสัดส่วน 2% มีกำลังผลิต 10.4 ล้านตันต่อปี

เหตุที่เลือกลงทุนใน UAE และโอมาน เพราะเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยสูงในแถบตะวันออกกลาง และทั้งสองมีเป้าหมายจะเพิ่มปริมาณการผลิตจาก 3.7-3.8 เป็น 5 ล้านบาร์เรลใน 10 ปี ซึ่งจะสร้างความเติบโตในกลุ่มพันธมิตร

อีกด้านหนึ่ง เตรียมระงับบางโครงการนอกพื้นที่เป้าหมาย เช่น โครงการแหล่งมาเรียนา ออยล์ แซนด์ที่แคนาดา เนื่องจากต้นทุนการผลิตสูง หากราคาน้ำมันดิบอยู่ที่ 60 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้โครงการนี้เกิดขึ้นได้ยาก จึงไม่อยากฝืนที่จะรอการพัฒนา จึงอาจขายออกไป

อัดงบฯลงทุนปีละ 2 พันล้าน

อย่างไรก็ตาม ในการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามกลยุทธ์นี้ ต้องเสนอคณะกรรมการบริษัท (บอร์ด) พิจารณางบประมาณลงทุนปีละ 1,700-2,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากเป็นไปตามแผนจะช่วยเพิ่มกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นปีละ 5-7% ใน 5 ปี หรือเพิ่มขึ้นเท่าตัวจากปัจจุบันที่ 3.45 แสนบาร์เรลต่อวันเพิ่มเป็น 6-7 แสนบาร์เรลต่อวัน ส่วนปี 2563 มีแผนใช้เงิน 300 ล้านเหรียญสหรัฐจากปีนี้ โดยเป็นการเจาะหลุมสำรวจเพิ่มจาก 3 หลุม เป็น 20 หลุม เช่น มาเลเซีย 11 หลุม เมียนมา โอมาน และยูเออี

ขณะที่ความคืบหน้าการดำเนินการหลังชนะประมูลแหล่งบงกช-เอราวัณก่อนจะถึงปี 2565 ซึ่งเป็นปีที่สิ้นสุดอายุสัมปทาน “นายพงศธร” ยอมรับว่าเป็นงานช้าง ซึ่งรัฐบาลมอบหมายให้ดำเนินการเพื่อสร้างความมั่นคงทางพลังงาน

“ขณะนี้เราและพันธมิตรได้ร่วมกันบริหารจัดการแหล่งเอราวัณตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ประสานกับรายเดิมเพื่อให้สามารถผลิตต่อเนื่องได้ทันที”

ราคาน้ำมันทรงตัวอีก 2 ปี


ท้ายสุดแม้ว่าจะมีการคาดการณ์ว่าทิศทางราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกจะทรงตัว จากปัจจุบันที่ราคา 60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ต่อไปอีก 2 ปี หรือหลังปี 2021 จึงจะเห็นไซเคิลการขยับราคาเทียบกับต้นทุนการผลิต ณ ปัจจุบันของ ปตท.สผ.ยังอยู่ได้ หรือเทรนด์พลังงานไฟฟ้า พลังงานสะอาดจะเกิดขึ้น แต่คงจะไม่รวดเร็วนักเพราะยังมีข้อจำกัดด้านสายส่ง และที่สำคัญยังต้องใช้ก๊าซธรรมชาติ ซึ่งปตท.สผ. ผลิตและจำหน่ายสัดส่วน 70% มากกว่าน้ำมันที่สัดส่วน 30% สะท้อนว่ากลยุทธ์นี้มาถูกทางแล้ว