อ่านชัดๆ ไบโอไทยวิเคราะห์ 4 พลัง เบื้องหลังล้มแบน 3 สาร !!?

แฟ้มภาพ

ผู้สื่อข่าว”ประชาชาติธุรกิจ”รายงานว่า เมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2562 เพจไบโอไทย เผยแพร่บทวิเคราะห์ 36 วัน ล้มแบนไกลโฟเซต

โดยระบุว่า ช่วงเวลาเดือนเศษๆ มติให้แบน 3 สารพิษ ได้แก่ไกลโฟเซต พาราควอต คลอร์ไพริฟอส ก็ล้มพับลง ทั้งๆที่เคยเป็นข่าวใหญ่ทั่วโลกว่ารัฐบาลไทยเลือกสุขภาพของประชาชนมาก่อนผลประโยชน์ของบริษัท

เรื่องนี้ไม่อยู่นอกเหนือความคาดหมาย เพราะรัฐบาลมาเลเซียเคยแบนพาราควอตเมื่อปี 2005-2007 แต่หลังจากนั้นถูกบริษัทสารเคมีข้ามชาติผนึกกำลังกับบริษัทผลิตปาล์ม-ยางพารายักษ์ใหญ่ของประเทศล้มการแบนไปนานกว่าสิบปี แต่ปัจจุบันรัฐบาลมาเลเซียทวนกระแสค้านทั้งในประเทศและทั่วโลกไม่ไหวต้องประกาศเริ่มต้นแบนในวันที่ 1 มกราคม 2563 นี้

รัฐบาลศรีลังกาประกาศแบนไกลโฟเซตในการปลูกพืชทุกชนิดเมื่อปี 2015 แต่อิทธิพลของบริษัทสารพิษกดดันให้ลดระดับการแบนลง โดยอนุญาตให้มีการใช้ในสองพืชคือยางพารา และชา เมื่อกลางปี 2018

รัฐบาลโอบามาประกาศแบนคลอร์ไพริฟอสในปี 2015 แต่เมื่อทรัมป์เข้ามารับตำแหน่ง เขาส่งสก็อต พรุตต์ (Scott Pruitt) ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับบริษัทดาวเคมีคอลเข้ามาเป็นหัวหน้า EPA เพื่อเลื่อนการแบนสารพิษทำลายสมองเด็กนี้ออกไปโดยไม่มีกำหนด ประชาชนอเมริกันต้องฟ้องศาล สื่อขุดคุ้ยจนพรุตต์ต้องลาออกจากตำแหน่ง และศาลตัดสินให้ EPA ต้องแบนภายใน 60 วัน ขณะนี้อยู่ระหว่างการอุทธรณ์

การล้มการแบนในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน เกิดขึ้นจากการผนึกกำลังของ 4 พลังสำคัญ

1. รัฐบาลสหรัฐ

ทันทีที่คณะกรรมการวัตถุอันตรายเตรียมประชุมเพื่อเดินหน้าแบนไกลโฟเซต และสารพิษอีก 2 ชนิด ใน
วันที่ 18 ตุลาคม 2562 รัฐบาลสหรัฐโดย เท็ด แมคคินนี (Ted McKinny) ผู้ช่วยรัฐมนตรีเกษตรเพื่อการค้าและกิจการเกษตรต่างประเทศ ซึ่งเคยทำงานในบริษัทดาวเคมีคอล 19 ปี ได้ทำหนังสือถึงรัฐบาลไทยค้านการแบนไกลโฟเซต โดยในหนังสือนั้น อ้างว่าการค้านการแบนไกลโฟเซต 1) จะทำให้ประเทศไทยมีต้นทุนการใช้สารเคมีแพงขึ้น 75,000-125,000 ล้านบาท 2) กล่าวหาว่าการตัดสินใจของไทยไม่อยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์ (Sound Science) โดยแนะนำให้ฝ่ายไทยพิจารณาการใช้ข้อมูลการประเมินความเสี่ยงของสำนักงานสิ่งแวดล้อมสหรัฐ (EPA) และ 3) อ้างว่าจะกระทบกับผลประโยชน์การส่งออกถั่วเหลือง ข้าวสาลี และสินค้าเกษตรอื่นๆมายังประเทศไทยมูลค่ารวม 51,000 ล้านบาท/ปี

2. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ยักษ์ใหญ่ของไทย

บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านอาหารของไทยไม่ได้เป็นยักษ์ใหญ่ของประเทศเท่านั้น แต่เป็นบริษัทผู้ผลิตอาหารสัตว์อันดับหนึ่งของโลก พวกเขาแถลงประสานเสียงรับลูกกับรัฐบาลสหรัฐ โดยอ้างว่า การแบนไกลโฟเซตจะส่งผลกระทบต่อธุรกิจอาหารสัตว์ ปศุสัตว์ และอุตสาหกรรมอาหารทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดความเสียหายทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาลนับล้านล้านบาท ส่งผลกระทบทำให้คนตกงาน 12 ล้านคน ทั้งยังเผยแพร่ข่าวว่าประเทศผู้ส่งออกวัตถุดิบอาหารสัตว์เตรียมหยิบยกเรื่องนี้เพื่อฟ้องร้องประเทศไทย

ท่าทีของพวกเขาแตกต่างกับหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยที่สนับสนุนการประกาศแบน 3 สาร เพียงแต่ขอให้รัฐบาลอนุญาตการนำเข้าวัตถุดิบ โดยอนุญาตให้มีการตกค้างไกลโฟเซตในระดับค่ามาตรฐานระหว่างประเทศเท่านั้น

3. เครือข่ายของบริษัทสารพิษกำจัดศัตรูพืชภายใต้การนำของ CropLife (ซึ่งมีสาขาประเทศไทยใช้ชื่อว่าสมาคมการค้านวัตกรรมเพื่อการเกษตรไทย)

องค์กรล็อบบี้นโยบายนี้จัดตั้งขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างบรรษัทข้ามชาติ ไบเออร์-มอนซานโต้ ซินเจนทา ดาว-ดูป้องท์ และ BASF พวกเขาเคยอยู่เบื้องหลังการต่อต้านการแบนสารพิษ แต่คราวนี้ได้ผนึกกำลังร่วมกับ 2 สมาคมค้าสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ได้แก่สมาคมอารักขาพืชไทย และสมาคมคนไทยธุรกิจเกษตร ออกหน้านำทัพจัดชุมนุมบนท้องถนน พร้อมองค์กรภาคเกษตรกรรมที่สนับสนุนการใช้สารพิษ เนื้อหาในแถลงการณ์นั้นสอดประสานกันกับจดหมายของรัฐบาลสหรัฐซึ่งตั้งคำถามการแบนในประเด็นผลการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และอ้างการแบนสารพิษว่าจะส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจ เป็นต้น

4. สองพรรคการเมืองหลักที่เป็นแกนนำรัฐบาล

ไม่น่าแปลกใจอีกเช่นกันที่ 2 รัฐมนตรีจากพลังประชารัฐ และประชาธิปัตย์ คือคีย์แมนสำคัญในการล้มการแบนครั้งนี้ เพราะ

1) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ คือคนในรัฐบาลคนแรกที่เอ่ยปากตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 แล้วว่า จะขอให้มีการทบทวนการแบนไกลโฟเซต หลังจากกฎหมายวัตถุอันตรายมอบอำนาจให้เขาเป็นประธานคณะกรรมการวัตถุอันตรายคนใหม่

2) และนายเฉลิมชัย ศรีอ่อน ซึ่งพบหลักฐานในหนังสือที่ลงนามเมื่อวันที่ 18 กันยายน 2562 ว่า เขาได้เสนอแนะให้กระทรวงเกษตร “ดำเนินการตามมติกรรมการวัตถุอันตรายในการให้จำกัดการใช้” แทนที่จะเสนอแบน 3 สารพิษ โดยบทบาทของเขาแจ่มชัดยิ่งขึ้น เมื่อคณะทำงานที่เขาแต่งตั้งซึ่งมีนายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรฯเป็นประธาน ได้ให้เผยแพร่ข้อมูลซึ่งเป็นข้ออ้างสำคัญให้มีการล้มการแบนไกลโฟเซตว่า การแบนนั้น 1)ขัดต่อความตกลง WTO 2) อ้างข้อมูลเกษตรกร 75% คัดค้าน 3) ยังไม่สามารถหาสาร/วิธีการทดแทนได้เพียงพอ 4) ค่าชดเชยเกษตรกรในการปรับเปลี่ยนสูงหลายหมื่นล้านบาท 5) มีข้อจำกัดส่งสารเคมีกลับประเทศต้นทาง/ประเทศที่สาม และ 6)ส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจและมีคนตกงานจำนวนมหาศาล

เชื่อว่าเส้นทางการล้มการแบนไกลโฟเซตเป็นธงที่ฝ่ายรัฐบาลได้เคลียร์กันล่วงหน้าแล้ว เมื่อนายอนุทิน ชาญวีระกูล จำยอมให้สัมภาษณ์หลังการแบนว่า พร้อมรับมติของคณะกรรมการวัตถุอันตราย

รัฐบาลผสมนี้คงเดินหน้าต่อไปได้อีกระยะหนึ่ง แต่จะอยู่ได้นานมากน้อยแค่ไหน ขึ้นอยู่กับว่าประชาชนจะยอมรับเหตุผล 6 ประการของการล้มการแบนครั้งนี้ว่า มีเหตุผลรองรับเพียงใดหรือไม่ หรือเป็นแค่เพียงข้ออ้างเพื่อเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มอุตสาหกรรมสารพิษและอาหารสัตว์ และยอมจำนนต่อแรงกดดันจากรัฐบาลสหรัฐ

พร้อมกันนี้ได้เปิดเผยข้อมูลตัวเลขที่นำมาประกอบการพิจารณาด้วย