วิกฤตอิหร่านป่วนตลาดโลก Q1 ส่งออกยาง-ข้าว-ปาล์มลูกผีลูกคน

เปิดตัวเว็บไซต์

ตลาดโลกป่วนวิกฤตอิหร่าน-สหรัฐ นักวิชาการ-เอกชนประสานเสียงฟันธงส่งออกสินค้าเกษตรไทยไตรมาสแรกยังผันผวน กำลังซื้อหด ตลาดโลกป่วนยาง-ข้าว-ปาล์ม ยังไม่พ้นบ่วงสหรัฐใช้มาตรการแซงก์ชั่น

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า สถานการณ์ความตึงเครียดในตะวันออกกลางหลังเกิดความขัดแย้งระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน ไม่เพียงส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังส่งผลต่อการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์สินค้าเกษตรที่ผูกพันกับราคาน้ำมัน เช่น ยางพารา ข้าว ปาล์มน้ำมัน ทำให้มีความผันผวน หากสองฝ่ายตอบโต้กันรุนแรงสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับสูง ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นส่งผลกระทบเศรษฐกิจโลก และกำลังซื้อ

“ไทยจำเป็นต้องระมัดระวัง เพราะสินค้ายางเน้นพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และมีการแปรรูปเพิ่มมูลค่าน้อย หากตลาดโลกมีกำลังซื้อลดลงก็จะกระทบ ขณะที่สินค้าข้าวเป็นสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพ หากเกิดสถานการณ์ตึงเครียดก็มีโอกาสที่จะทำให้ความต้องการนำเข้าข้าวเพื่อเก็บเป็นสต๊อกเพื่อความมั่นคงมากขึ้น แต่อาจจะไม่ใช่ไทยประเทศเดียวที่ได้ประโยชน์ เพราะไทยต้องแข่งขันกับประเทศผู้ส่งออกอื่น ทั้งอินเดีย เวียดนาม ส่วนสินค้าปาล์มน้ำมันแม้ว่าจะไม่ใช่สินค้าส่งออกหลักของไทย แต่เป็นสินค้าส่งออกหลักของมาเลเซีย การที่ตลาดโลกมีราคาดีขึ้น ก็ย่อมส่งผลให้ต้นทุนการผลิตในอุตสาหกรรมปลายน้ำปรับสูงขึ้น ซึ่งกรณีนี้รัฐบาลอาจจะต้องพิจารณามาตรการดูแลราคาวัตถุดิบ โดยใช้การบริหารจัดการการนำเข้าวัตถุดิบ ลดภาษีนำเข้าซึ่งปัจจุบันสูงถึง 100% เพื่อสร้างสมดุลให้กับผู้ผลิตปลายน้ำ”

นายสมเกียรติ มรรคยาธร เลขาธิการสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า สถานการณ์ปัญหาความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและอิหร่านยังไม่มีผลกระทบต่อราคาส่งออกข้าวไทย เนื่องจากความต้องการนำเข้าข้าวหรือความต้องการบริโภคข้าวในตลาดโลกยังคงชะลอตัว

ขณะนี้ราคาส่งออกจึงยังทรงตัวอยู่ในระดับเดิม เช่น ราคาข้าวขาว 5% ตันละ 400 เหรียญสหรัฐ ข้าวขาวเวียดนาม ตันละ 350-360 เหรียญสหรัฐ ราคาข้าวหอมมะลิไทย ตันละ 1,000 เหรียญสหรัฐ ข้าวหอมมะลิเวียดนาม ตันละ 500 เหรียญสหรัฐ ทั้งนี้ ราคาดังกล่าวได้รับผลกระทบมาจากปัจจัยเรื่องของค่าเงินบาทแข็งค่า รวมไปถึงราคาต้นทุนภายในประเทศ ไม่ใช่จากสถานการณ์ต่างประเทศ

“หากตลาดโลกมีความต้องการที่เพิ่มขึ้น และปัจจัยด้านผลผลิตน้อยด้วยอาจทำให้แนวโน้มราคาข้าวปรับเพิ่มขึ้นได้ จึงต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินอีกครั้งในช่วงต้นเดือนหน้า”

สอดคล้องกับมุมมองของนายสมบัติ เฉลิมวุฒินันท์ ประธาน บริษัท เอเซีย โกลเด้น ไรซ์ จำกัด และนายศุภชัย วรอภิญญาภรณ์ ประธานกรรมการ บริษัท ธนสรร ไรซ์ จำกัด ให้ความเห็นตรงกันว่า ผลพวงจากสถานการณ์ความตึงเครียดในอิหร่านจะยังไม่ส่งผลเชื่อมโยงต่อตลาดส่งออกข้าว

“ไทยไม่ได้ส่งออกไปอิหร่าน เพราะที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการใช้มาตรการแซงก์ชั่นทำให้ไทยไม่สามารถส่งข้าวไปขายได้ ขณะที่อิรักแม้จะเป็นตลาดที่มีศักยภาพสูง แต่ที่ผ่านมาใช้วิธีการประมูลซื้อซึ่งมักจะซื้อข้าวจากสหรัฐและเวียดนามเป็นหลัก”

ทั้งนี้ แนวโน้มการส่งออกข้าวในไตรมาสแรกยังอยู่ในภาวะทรงตัว เพราะตลาดส่งออกหลัก อย่างแอฟริกา ประสบปัญหาเรื่องการปรับขึ้นภาษีนำเข้าจนต้องชะลอการนำเข้าตั้งแต่ปลายปีก่อน

รายงานข่าวจากสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยระบุว่า ในช่วง 11 เดือนแรก ไทยส่งออกข้าวไปยังตลาดตะวันออกกลาง ปริมาณ 325,013 ตัน ลดลง 2.9% มูลค่า 6,349 ล้านบาท ลดลง 6.7%

ด้านแหล่งข่าวจากวงการส่งออกยางพารากล่าวว่า ในตลาดล่วงหน้า โดยเฉพาะยางแท่งปรับตัวสูงขึ้น จาก กก.ละ 1.40 เหรียญสหรัฐ เป็น 1.50 เหรียญสหรัฐ ซึ่งราคาล่วงหน้าดังกล่าวมีทั้งแบบที่กำหนดระยะเวลารับมอบในช่วง 1-6 เดือนข้างหน้า สาเหตุสำคัญที่ราคาล่วงหน้าปรับสูงขึ้น เป็นผลจากเหตุการณ์ความตึงเครียดจากเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับสัญญาณภัยแล้งที่รุนแรงทำให้กังวลว่าผลผลิตจะลดลง ส่งผลให้ลูกค้าตัดสินใจสั่งซื้อสินค้าทันที จากที่ปกติหากเกิดเหตุการณ์ลักษณะนี้อาจจะชะลอดูสถานการณ์ก่อน

ขณะที่นายขจรจักษณ์ นวลพรหมสกุลรักษาการผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงงานผลิตยางของ กยท.จะต้องผลิตยางแท่งส่งมอบลูกค้าไปถึงเดือนเม.ย.นี้แล้ว หากไม่เพียงพอก็จะต้องไปเจรจาซื้อจากสหกรณ์ต่าง ๆ มาส่งมอบลูกค้าต่อไป

“สถานการณ์ขณะนี้ได้รับผลจากปัจจัยหลัก คือ ภัยแล้งทั้งในไทยและอินโดนีเซียส่งผลให้ปริมาณผลผลิตหายไป 1 ล้านตัน จากปัญหายางเจอโรคใบร่วง หาสินค้าไปส่งมอบให้ลูกค้าได้ยากขึ้น และผู้ซื้อในหลายประเทศต้องนำสต๊อกเก่าออกมาใช้แล้ว จึงต้องจับตาราคายางในช่วงนี้ไปจนถึงช่วงปิดกรีดอย่างใกล้ชิด ส่วนปัจจัยเรื่องความตึงเครียดจากสถานการณ์ยังไม่กระทบต่อการส่งออกยาง”