ศาลนัดชี้ “งบโมฆะ” 7 ก.พ. เปิด 7 ทางออกใช้งบฉุกเฉิน-โหวตใหม่ 3 วาระ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ศาลรัฐธรรมนูญได้นัดฟังคำวินิจฉัยและแถลงด้วยวาจา ปรึกษาหารือและลงมติ ในวันศุกร์ที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563 นี้  เวลา 13.30 น.

ก่อนหน้านี้วันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 คือวันสุดท้าย ที่ศาลรัฐธรรมนูญ ให้ผู้ร้องทราบและให้ผู้เกี่ยวข้อง ได้แก่ นายสรศักดิ์ เพียรเวช เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร นายฉลอง เทอดวีระพงศ์ ส.ส.พัทลุง พรรคภูมิใจไทย น.ส.ภริม พูลเจริญ ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ และนายสมบูรณ์ ซารัมย์ ส.ส.บุรีรัมย์ พรรคภูมิใจไทย ยื่นคำชี้แจงเป็นหนังสือพร้อมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ

กรณีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) สังกัดรัฐบาล 90 คน ยื่นเรื่องผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เพื่อขอให้ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 เป็น “โมฆะ” หรือไม่ เนื่องจากมีการใช้บัตรอิเล็กทรอนิกส์แสดงตนและลงมติทั้งที่ไม่ได้อยู่ในห้องประชุมในระหว่างการพิจารณาวาระ 2 และ 3

นฤมล ภิญโญสินวัตร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี

ทั้งนี้ ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2563 ได้มีการพิจารณา หาทางออก ไว้หลายทางด้วยกัน ตามที่ นางนฤมล ภิญโญสินวัตร โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงแนวทางแก้ไขไว้ว่า ครม. มีมติเห็นชอบหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ไปพลางก่อน (เพิ่มเติม) เป็นร้อยละ 75 ตามที่สำนักงบประมาณเสนอ

เพื่อให้หน่วยรับงบประมาณสามารถใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันไปพลางก่อนได้อย่างต่อเนื่องและบรรเทาความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจาการที่พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 จะประกาศใช้ล่าช้าออกไปอีก ซึ่งยังไม่สามารถคาดการณ์ระยะเวลาได้ในชั้นนี้

โดยให้สำนักงบประมาณมีอำนาจจัดสรรงบประมาณตามความจำเป็น แต่ไม่เกินวงเงินงบประมาณรายจ่ายแต่ละแผนงาน/รายการ ตามพ.ร.บ.ประมาณรายจ่ายประจำงบประมาณ พ.ศ.2562 เฉพาะกรณี ดังต่อไปนี้

1. เป็นรายจ่ายตามข้อผูกพันสัญญา และคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล

2. ต้องดำเนินการตามข้อตกลงที่รัฐบาลทำไว้กับรัฐบาลต่างประเทศ สถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือองค์การระหว่างประเทศ

3. สำหรับภารกิจพื้นฐานหรือมีความจำเป็นเร่งด่วน ซึ่งหากไม่ดำเนินการจะเสียหายต่อการบริหารราชการแผ่นดิน

สำหรับรายการผูกพันงบประมาณรายจ่ายข้ามปีที่ได้ทำสัญญาก่อหนี้ผูกพันไว้แล้ว กรณีที่งบประมาณรายจ่ายของปีงบประมาณ พ.ศ.2562 สำหรับรายการดังกล่าว ไม่เพียงพอใช้จ่ายตามข้อผูกพันที่ต้องจ่ายในปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ให้ใช้จ่ายจากงบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น โดยให้ถือเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ของหน่วยรับงบประมาณซึ่งต้องหักออกจากแผนงานและรายการที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ เมื่อพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2563 ประกาศใช้บังคับแล้ว

แหล่งข่าวจากที่ประชุมครม.เปิดเผยว่า ที่ประชุมครม.ยังเห็นชอบในแนวทาง กรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคำร้องพิจารณาการตรงพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2563 ไม่ถูกต้องตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญหรือไม่ จำนวน 2 แนวทางหากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยให้ร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ตกทั้งฉบับ ได้แก่

แนวทางที่ 1 ให้เสนอสภาพิจารณา 3 วาระรวด ซึ่งจะทำให้ใช้เวลานานพอสมควร

แนวทางที่ 2 ใช้รัฐธรรมนูญมาตรา 143 เนื่องจากกระบวนการพิจารณา พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 สภาทำไม่เสร็จสิ้นตามกรอบเวลา 105 วัน โดยเสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณร่ายจ่ายที่ผ่านมติครม. เสนอให้วุฒิสภา (ส.ว.) ลงมติรับรองใหม่อีกครั้ง

ทั้งนี้ ไม่มีการพิจารณาถึงกรณีศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าการตราร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายไม่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญบางมาตรา

เดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ

นายเดชาภิวัฒน์ ณ สงขลา ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ กล่าวว่า คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญจะใช้เวลาในการพิจารณาและอ่านคำวินิจฉัยประมาณ 1 เดือน แต่ระหว่างรอคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญว่าการตราร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ ได้เสนอเรื่องไปยังเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเรื่องการขยายกรอบการใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2562 ไปพลางก่อน จากร้อยละ 50 เป็นร้อยละ 75

สำหรับโครงการเก่าที่เป็นโครงการผูกพันงบประมาณข้ามปีจะให้เบิกจ่ายได้ตามงวดงานที่เสร็จตามสัญญาได้ถึงเดือนมิถุนายนและเมื่องบประมาณสามารถใช้ได้จะเบิกจ่ายทั้งหมดให้ได้ร้อยละ 100

อย่างไรก็ตามโครงการใหม่ที่เป็นโครงการที่มีระยะเวลาดำเนินการปีเดียวและโครงการใหม่ที่ตั้งงบประมาณผูกพันข้ามปีวงเงินทั้งหมด 3-4 แสนล้านบาทจะไม่สามารถเบิกจ่ายได้

ดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี

ขณะที่ นายดิสทัต โหตระกิตย์ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ทางออกหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยการตราร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ คือ การลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณงบประมาณรายจ่ายใหม่เฉพาะมาตราที่มีปัญหา

“คงไม่โมฆะทั้งฉบับเหมือนร่างพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท หรือ การขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้ตกไปทั้งฉบับ เพราะเนื้อหาของร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายปี 63 ไม่ได้ขัดรัฐธรรมนูญ แต่เป็นเพียงขั้นตอนการตรากฎหมายบางมาตราที่อาจะไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (เสียบบัตรแทนกัน) เท่านั้น ทั้งนี้ อย่างไรก็ตามสุดท้ายแล้วขึ้นอยู่กับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ”

สมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ในอดีตการลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 3 วาระรวด ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน แต่ไม่ได้หนักใจเพราะสำนักงบประมาณจะเพิ่มวงเงินให้ใช้ แต่ข้าราชการไม่กล้าใช้เพราะถึงแม้จะให้ทำแต่ถูกต้องหรือไม่และไม่มีใครรับรอง

“หากต้องลงมติร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ใหม่อีกครั้ง 3 วาระรวด โดยวาระสองจะเป็นการลงมติรายมาตรา โดยไม่ต้องตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) ขึ้นมาแปรญัตติใหญ่เพราะสามารถตั้งกมธ.เต็มสภาเพื่อพิจารณาได้”

พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม

ส่วน นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ กล่าวว่า ต้องตั้งต้นจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อน เช่น ลงมติใหม่เฉพาะมาตราที่กระบวนการลงมติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ (เสียบบัตรแทนกัน) และการลงมติวาระสาม เพราะเป็นการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบทั้งฉบับ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักงบประมาณสรุปความเป็นมาของการขอขยายการใช้จ่ายหรือก่อหนี้ผูกพันไปพลางก่อนเพิ่มเติมจากมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ส.ค. 2562 ในระหว่างที่ร่างพ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 เบิกจ่ายล่าช้าไป 4 เดือน และศาลรัฐธรรมนูญได้พิจารณารับคำร้องกรณีการตราร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาแล้ว เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2563 ทำการเบิกจ่ายล่าช้าออกไปอีก

สำหรับทางออกในการแก้ปัญหา พรบ.งบประมาณ ที่ฝ่ายรัฐบาลคาดการณ์ มีดังนี้

1. ขยายการใช้เงินงบประมาณรายจ่ายประจำปี 62 ไปพลางก่อน จาก 50% เป็น 75 % และ 100 %
2. เตรียมการคัดเลือก การเจรจา การร่างสัญญาและส่งอัยการตรวจร่างสัญญาโครงการลงทุนใหม่ไว้ล่วงหน้า
3. กรณีงบผูกพันข้ามปี ให้ใช้งบกลางรายกงานฉุกเฉินเร่งด่วน ของงบปี 62 ไปก่อน
4. เสนอร่างพ.ร.บ.งบประมาณปี 63 “ฉบับ ครม.” ต่อวุฒิสภา ตามช่องทางรัฐธรรมนูญมาตรา 143 (105 วัน)
5. เปิดสภาพิจารณา 3 วาระรวดทั้งฉบับ
6. เปิดสภาพิจารณา 3 วาระรวดเฉพาะมาตราที่มีปัญหา
7. อาศัยอำนาจฝ่ายบริหารออกพระราชกำหนด (พ.ร.ก.)

อย่างไรก็ตาม แนวทางที่เป็นไปได้อีกทางออก คือ กรณี ส.ส.มีการเสียบบัตรลงมติแทนกัน ย่อมไม่ส่งผลต่อมติที่เห็นชอบ ดังนั้น กระบวนการตรา ร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ถือว่า ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ