ส่งออก ‘ข้าวไทย’ หืดขึ้นคอบาทแข็งผลผลิตต่ำ-7.5 ล้านตันแค่ฝัน

การส่งออกข้าวไทยในปี 2562 ทำได้ 7.5 ล้านตัน ต่ำสุดในรอบ 6 ปี ถือว่าย่ำแย่แล้ว แต่มาถึงปี 2563 การที่จะผลักดันยอดให้ไปถึงเป้าหมาย 7.5 ล้านตันตามที่กระทรวงพาณิชย์ และสมาคมผู้ส่งออกข้าวกำหนดไม่ใช่เรื่องง่าย ภายใต้สถานการณ์ปัจจัยลบรุมเร้าทั้งภัยแล้งกระทบผลผลิต การแข่งขันรุนแรงทั้งผู้นำเข้าหันมาส่งออก ผู้ส่งออกแข่งกันเอง ค่าเงินบาทแข็งค่ากระทบต่อความสามารถในการแข่งขัน จนผู้ส่งออกเก่าแก่บางรายยอมรับว่า “ข้าวไม่ใช่ธุรกิจที่น่าลงทุน” อีกต่อไป 

ล่าสุด ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในวันที่ 14 กุมภาพันธ์นี้ คณะทำงานชุดพิเศษซึ่งมีผู้ส่งออกข้าว กรมการค้าต่างประเทศ กรมการข้าว โรงสีและเกษตรกร จะประชุมกำหนดแนวทางแก้ปัญหาไปด้วยกัน โดยเฉพาะปัญหาผลผลิตต่อไร่ข้าวไทยที่ลดน้อยกว่าคู่แข่ง เช่น ข้าวหอมมะลิได้แค่ 350 กก.ต่อไร่ ข้าวขาว 700-800 กก.ต่อไร่ เทียบกับเวียดนามที่สามารถพัฒนาได้ 1,000 กก.ต่อไร่ และจีนสูงสุด 1,000-2,000 กก.ต่อไร่ ดังนั้น ไทยต้องเพิ่มผลผลิตให้ได้ 1,000-1,500 กิโลกรัม จึงจะเห็นโอกาสแข่งขันกับคู่แข่งได้ 

แนวทางหลัก คือ การส่งเสริมการพัฒนาพันธุ์ข้าวทุกประเภททั้งข้าวหอมมะลิ ข้าวหอมไทย ข้าวขาว ข้าวเหนียวให้มีความหลากหลายตอบโจทย์ที่ตลาดต้องการ และที่สำคัญจะต้องให้ผลผลิตต่อไร่สูง มีความนุ่ม และอายุการเพาะปลูกไม่เกิน 120 วัน   

“การพัฒนาพันธุ์ให้มีความเสถียรต้องใช้เวลา 3-5 ปี ซึ่งนานเกินไป ไทยควรเร่งให้ความสำคัญเรื่องนี้เป็นอันดับแรก ก่อนที่ไทยจะกลายเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 รองจากอินเดีย และเวียดนามภายใน 3 ปีนี้ และปัญหานี้เชื่อมโยงกับทุกภาคส่วน ต้องขอความเห็นจากโรงสีด้วย เพราะปัจจุบันโรงสีใช้กำลังการผลิตเพียง 30-32 ล้านตันจากทั้งหมดที่มี 120 ล้านตันต่อปี” 

นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ในปี 2563 ปัจจัยสนับสนุนการส่งออกน้อยมาก โดยระยะสั้นมีเพียงผลจากไวรัสโคโรน่า (COVID 19) ที่ทำให้หลายประเทศเร่งนำเข้าสต๊อกสำรองไว้ เช่น ฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน ส่วนตลาดอื่น เช่น อินโดนีเซีย มีแนวโน้มจะนำเข้าข้าวเพิ่มจาก 2-3 แสนตันเป็น 1 ล้านตันในปีนี้ แต่จะเริ่มในช่วงครึ่งปีหลัง 

ขณะที่ปัจจัยปัญหาภัยแล้งทำให้ผลผลิตลดลงมีผลให้ราคาข้าวในประเทศสูงขึ้น ขณะที่จีนมีสต๊อกข้าวในประเทศ 120 ล้านตัน มีโอกาสส่งออกเพิ่มจากปีก่อน 2.6-2.7 เป็น 3.5-4 ล้านตันในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ส่วนแบ่งตลาดข้าวไทยลดลง และเวียดนามพัฒนาพันธุ์ข้าวมาแย่งส่วนแบ่งตลาดในฟิลิปปินส์ มาเลเซีย จีน และเวียดนามยังได้เปรียบจากสิทธิประโยชน์ทางภาษีข้าวในตลาดยุโรปด้วย

ขณะที่ปัจจัยบวกมีเพียงค่าเงินบาทเริ่มอ่อนค่า แต่ก็ยังมีโอกาสจะผันผวน และปัจจุบันราคาข้าวขาวไทยตันละ 440-445 เหรียญสหรัฐ ข้าวหอมมะลิตันละ 1,200 เหรียญสหรัฐ แพงกว่าเวียดนาม และเมียนมา ตันละ 360 เหรียญสหรัฐ ข้าวหอมเวียดนามตันละ 600-700 เหรียญสหรัฐ  

“การหาตลาดใหม่เป็นเรื่องยาก เพราะปัจจุบันตลาดส่งออกข้าวไทยไปทุกประเทศทั่วโลกแล้ว ไทยต้องแก้ปัญหาที่ไม่สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ ว่าจะทำให้อย่างไรให้กลับมาขยายตัว ฟื้นส่วนแบ่งตลาดให้ดีขึ้นได้” 

ขณะที่ตลาดในประเทศซึ่งแต่ละปีบริโภคปีละ 9-10 ล้านตัน นายสมเกียรติ มรรคยาธร นายกกิตติมศักดิ์สมาคมผู้ประกอบการข้าวถุงไทย กล่าวว่า ปีนี้สถานการณ์ตลาดข้าวภายในประเทศลดลงจากปัญหาไวรัสโคโรน่าทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลงกระทบธุรกิจโรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งคาดว่าในช่วงไตรมาส 1 ความต้องการบริโภคในประเทศจะหายไป 20% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีปริมาณ 1.5 ล้านตัน 

หากสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้คาดว่าจะกลับมาดีขึ้น ด้านราคาข้าวภายในประเทศ กก.ละ 12.50 บาท เพิ่มขึ้นจากเดิม กก.ละ 11.50 บาท ส่วนราคาข้าวหอมมะลิทรงตัว กก.ละ 40 บาท โดยถุงขนาด 5 กิโลกรัม ราคา 200 บาท 

“ผลจากภาคการส่งออกลดลงทำให้ผู้ส่งออกข้าวหันมาแข่งขันในตลาดข้าวถุงภายในประเทศมากขึ้น มีการส่งเสริมการตลาดมากขึ้น และต้องจับตาผลผลิตข้าวนาปรังที่จะเริ่มปลูกในเดือนพฤษภาคมนี้ว่าผลิตมากขึ้นหรือไม่ โดยเฉพาะข้าวเหนียวที่อาจลดลง ซึ่งจะมีผลให้ราคาสูงขึ้น”