จ่อเลิกนำเข้า ‘หน้ากากแพทย์’ ‘3M-ยูนิชาร์ม’ รัฐคุมราคาขายภาษี 40%

ผู้นำเข้าหน้ากากอนามัยแบรนด์ดังเตรียมเลิกทำตลาดในไทย หลังประกาศพาณิชย์คุมโครงสร้างราคาไม่สะท้อนความจริง ด้านหอการค้าจี้รัฐปลดล็อกภาษีนำเข้าจาก 40% เป็น 0% เร่งนำเข้าจากจีน 6 เดือน ลดปัญหาการขาดแคลนหน้ากากอนามัยภายในประเทศ พร้อมติดตามปัญหาบรรจุภัณฑ์เจลล้างมือไม่เพียงพอที่การผลิต กรมการค้าภายในรับลูกเตรียมหามาตรการช่วยเหลือ

แหล่งข่าวจากวงการอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้นำเข้าหน้ากากอนามัยจากต่างประเทศหลายรายแจ้ง
ต่อร้านค้าปลีกว่าจะยุติการนำเข้าหน้ากากอนามัยแบรนด์ยูนิชาร์ม และ 3เอ็ม มาทำตลาดในประเทศไทย ภายหลังจากได้รับผลกระทบจากมาตรการกำหนดราคาจำหน่ายและการแจ้งข้อมูลหน้ากากนำเข้า ฉบับที่ 10 ปี 2563 ที่กำหนดให้ผู้นำเข้าต้องแจ้งข้อมูลพร้อมกำหนดโครงสร้างราคาตั้งแต่ราคานำเข้า ราคาขายส่ง และราคาขายปลีก ซึ่งไม่สอดคล้องกับต้นทุนที่แท้จริง 

เช่นว่าผู้จำหน่ายหน้ากากอนามัยทางการแพทย์ (surgical Mmark) ที่นำเข้าจากต่างประเทศ หรือหน้ากากอื่น ๆ ที่นำเข้าจากต่างประเทศ…ต้องจำหน่ายในราคาที่ไม่สูงกว่าราคาที่คำนวณจากวิธีการที่ประกาศกำหนด คือ 1) ราคาที่ผู้นำเข้าและผู้ผลิตจำหน่ายให้คำนวณจากต้นทุนบวกค่าบริหารจัดการและค่าขนส่ง ค่าผลตอบแทนการขายและค่าใช้จ่ายอื่นได้ไม่เกิน 10% ของต้นทุน

2) กำหนดให้ผู้จำหน่ายส่ง ต้องคำนวณจากราคาข้อ 1) บวกค่าบริหารจัดการและค่าขนส่ง ค่าส่งผลตอบแทนจากการขายและค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 10

และ 3) ผู้จำหน่ายปลีก จะต้องคำนวณจากราคาในข้อ 2) บวกค่ากระจายสินค้า ค่าผลตอบแทนจากการขาย และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ได้ไม่เกินร้อยละ 23% ของราคาตามข้อ 2 

“เมื่อประกาศดังกล่าวมีผลบังคับใช้เป็นเวลา 1 ปี ไปจนถึง 8 มีนาคม 2563 ผู้นำเข้าไม่สามารถขายในราคาตามสูตรดังกล่าวได้ หลายรายจึงแจ้งยกเลิกไม่นำเข้าสินค้ามาจำหน่ายแล้ว ส่งผลกระทบต่อผู้ใช้หน้ากากชนิดนี้ส่วนใหญ่เป็นหน้ากากสำหรับเด็ก และบุคลากรทางการแพทย์ ต้องไปหาซื้อในตลาดออนไลน์ ซึ่งโก่งราคาขายขยับขึ้น 2-3 เท่าเช่น จากเดิมแพ็กละ 129 บาท ก็ขยับขึ้นเป็น 300-400 บาท”  

ทั้งนี้ ปัจจุบัน บจก.ยูนิ-ชาร์ม (ประเทศไทย) เป็นผู้นำเข้าหน้ากากอนามัยกรองฝุ่น หมอกควัน หรือสารพิษ
บรรดาที่เป็นอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัย พิกัด 63079090001 มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากศูนย์ปฏิบัติการ
กองทัพบก ขณะที่อันดับ 3 คือ บจก.ควอลิตี้ เซอเคิล บจก.ซี.พี.แอล.กรุ๊พ และ บจก.ซีอาร์ซี ไทวัสดุ สำหรับการนำเข้าหน้ากากอนามัยประเภทนี้ในเดือนมกราคม 2563 มีปริมาณรวม 56,510 กก. ลดลงจากเดือมกราคม ปี 2562 ที่มีปริมาณ 76,906 กก. ส่วนมูลค่า 188.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีมูลค่า 19.5 ล้านบาท (ตามตาราง)

นายกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า จากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้ในหลายประเทศต่างรับมือกับภาวะวิกฤตดังกล่าวอย่างหนัก รวมถึงการบริหารจัดการและป้องการการแพร่ระบาด โดยแม้ว่าจะมีการเพิ่มกำลังการผลิตหน้ากากอนามัยที่ปัจจุบันในประเทศไทยเองยังไม่เพียงพอและมีราคาสูง ล่าสุดทางสภาหอการค้าจีนได้เข้ามาหารือกับสภาหอการค้าไทย เพื่อขอส่งหน้ากากอนามัยสีเขียวเข้ามาขายในประเทศไทย แต่การนำเข้าสินค้าดังกล่าวต้องเสียภาษีนำเข้าอัตราสูงถึง 40% 

ทางหอการค้าไทยจึงเป็นตัวกลางประสานเจรจากับทางภาครัฐ ให้ยกเว้นภาษีนำเข้าเป็น 0% จาก 40% ในช่วงระยะที่ประเทศไทยยังขาดแคลนหน้ากากอนามัยที่ได้มาตรฐาน สามารถป้องกันเชื้อโรคได้ สำหรับหน้ากากอนามัยที่มีการประสานที่ต้องการส่งออกมายังประเทศไทย เป็นหน้ากากอนามัยชนิดสีเขียวที่เป็นที่ต้องการใช้ ขณะนี้หากสามารถนำเข้าหน้ากากอนามัยได้จะทำให้ประชาชนหรือบุคคลที่มีความเสี่ยงจะมีหน้ากากอนามัยใช้

“ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งประกาศในเรื่องของการลดภาษีนำเข้า เห็นว่าหน่วยงานที่ดูแลอยู่ระหว่างการดำเนินการ หากสามารถเร่งประกาศได้จะเป็นการดีมาก ส่วนการลดภาษีนำเข้านั้นมองว่าระยะเวลาที่เหมาะสมนั้นน่าจะประมาณ 6 เดือน หากเข้าสู่ภาวะปกติและปริมาณความต้องการไม่เพิ่ม ผู้ผลิตสามารถผลิตตามกลไกตลาดไปแล้ว ในเรื่องของการลดภาษีก็อาจจะพิจารณากลับมาเหมือนเดิมได้ แต่ตอนนี้ต้องการให้หน่วยงานที่ดูแลเร่งประกาศเร็ว ๆ เบื้องต้นนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี รับเรื่องนี้ไปพิจารณา”

นอกจากนี้ ยังพบว่าขณะนี้ประสบปัญหาฟิลเตอร์ ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญที่ใช้ในการผลิตหน้ากากอนามัยมีต้นทุนเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบหลักนำเข้ามาจากประเทศจีนปรับสูงขึ้นจาก 30,000 หยวนต่อตัน เป็น 300,000 หยวนต่อตัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่โรงงานจะต้องแบกรับภาระสูงขึ้น ขณะที่ราคาขายในปัจจุบันถูกควบคุมให้ขายได้ในราคาชิ้นละ 2.50 บาท ขณะที่ในต่างประเทศจำหน่ายในราคาชิ้นละ 6-7 บาท ทางโรงงานพร้อมช่วยผลิตหากต้นทุนอยู่ในภาวะปกติ แต่ต้นทุนเพิ่มโรงงานจำเป็นต้องแบกรับในส่วนนี้ จึงต้องการให้ภาครัฐเข้ามาช่วยเหลือ 

ด้านนายประโยชน์ เพ็ญสุต รองอธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับข้อเรียกร้องจากภาคเอกชนในประเด็นโครงสร้างราคาหน้ากากอนามัยนำเข้า อย่างไรก็ตาม หากผู้นำเข้าเห็นว่าโครงสร้างราคาที่มีการกำหนดบวกกำไรไม่เกิน 60% ของการนำเข้านั้นเป็นอุปสรรคต่อการนำเข้าสินค้าสามารถยื่นเรื่องมาที่กรมการค้าภายในได้โดยตรง กรมพร้อมที่จะให้ความเป็นธรรม โดยจะนำไปหารือทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการอย่างเต็มที่ เพียงแต่มีข้อมูลชี้แจงและต้นทุนโครงสร้างที่เกิดขึ้น
จากการนำเข้าสินค้า


“ประกาศดังกล่าวได้พิจารณาโครงสร้างราคาที่เหมาะสมแล้ว โดยกำหนดให้แต่ละช่วงของราคาสามารถบวกราคาได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์ โดยพิจารณาจากความต้องการสินค้าและความยากง่ายของการจำหน่าย รวมถึงต้นทุนแตกต่างที่เกิดขึ้นด้วย เห็นว่ามีความเหมาะสม ซึ่งกรมไม่ได้จำกัดราคาขาย แต่เป็นการประมาณการโครงสร้างราคาที่บวกได้ไม่เกินกี่เปอร์เซ็นต์เท่านั้น แต่หากผู้ประกอบการมองว่าเป็นภาระอุปสรรคไม่สามารถประกอบการได้ ขอให้นำข้อมูลเข้ามาชี้แจงต่อกรมการค้าภายในได้เสมอ พร้อมหาแนวทางช่วยเหลือต่อไป”