‘สนธิรัตน์’ ควักกองทุนฯ 2,300 ล้าน/เดือน ลดราคาน้ำมันอุ้มประชาชน

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.)ว่า วันนี้ ( 23 มี.ค.) กบน.มีมติให้ปรับลดอัตราเงินจัดส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับน้ำมันทุกชนิดลง 50 สตางค์ต่อลิตร เว้น ดีเซล บี 20 ลดจัดเก็บลง 25 สตางค์ต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ อี85 รีดเงินเข้ากองทุนเพิ่ม 25 สตางค์ต่อลิตร ส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันจะลดลง 50 สตางค์ต่อลิตร ยกเว้น ดีเซล บี20 จะลดลง 25 สตางค์ต่อลิตร และแก๊สโซฮอล์ อี85 เพิ่มขึ้น 25 สตางค์ต่อลิตร ทั้งนี้ มีผลตั้งแต่วันที่ 24 มี.ค.2563 เป็นต้นไป

นอกจากนี้ จากสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกได้ลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาก๊าซ LPG ในตลาดโลก (LPG Cargo) ลดลงจากระดับ 545 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในเดือนมกราคม 2563 เหลือ 255 เหรียญสหรัฐฯ/ตัน ในกลางเดือนมีนาคม 2563 ทำให้เงินกองทุนน้ำมันฯ ในส่วนของก๊าซ LPG ซึ่งติดลบ 142 ล้านบาท/เดือน เป็นเงินไหลเข้ากองทุนน้ำมันฯ 429 ล้านบาท/เดือน ในช่วงเดียวกัน

จึงได้มีมติให้ปรับลดอัตราเงินกองทุนน้ำมันฯ ของก๊าซ LPG จาก 4.9816 บาท/กิโลกรัม เหลือ 2.1779 บาท/กิโลกรัม หรือลดลง 2.8037 บาท/กิโลกรัม เป็นการชั่วคราว 3 เดือน โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 มีนาคม 2563 ส่งผลให้ราคาขายปลีกก๊าซ LPG ลดราคาจาก 21.87 บาท/กิโลกรัม เหลือ 18.87 บาท/กิโลกรัม หรือลดลง 3 บาท/กิโลกรัม หรือราคาต่อถัง 15 กิโลกรัมลดลงจาก 363 บาท เหลือ 318 บาท

ทั้งนี้ จากมติดังกล่าว จะส่งผลให้กองทุนน้ำมัน ในส่วนเฉพาะบัญชีน้ำมันทั้งหมด มีเงินไหลออก 1,427 ล้านบาทต่อเดือน และ LPG มีเงินไหลออก 905 ล้านบาทต่อเดือน รวมประมาณ 2,300 ล้านบาทต่อเดือน (ณ วันที่ 22 มี.ค.2563) โดยปัจจุบัน ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงสุทธิ อยู่ที่ 36,569 ล้านบาท แบ่งเป็น บัญชีน้ำมัน อยู่ที่ 42,038 ล้านบาท และบัญชี LPG อยู่ที่ ติดลบ 5,469 ล้านบาท

“การปรับอัตราเงินส่งเข้ากองทุนน้ำมันเป็นการพิจารณาจากภาวะเศรษฐกิจและบรรเทาค่าครอบชีพประชาชนจากสถานการณ์ ผลกระทบจากโควิด-19 เท่านั้น ซึ่งไม่เกี่ยวกับกลไกราคาน้ำมันแต่อย่างใด”

นายสนธิรัตน์กล่าวต่อไปว่า ขณะนี้ได้กำชับให้ทาง สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เร่งไปตรวจดูความพร้อมของระบบการคืนเงินค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 มี.ค.ที่ผ่านมาให้กับประชาชนทั่วไปและเจ้าของกิจการขนาดเล็ก ทั้งในส่วนของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) คิดเป็นวงเงินถึง 32,700 ล้านบาท โดยมีจำนวนผู้ได้รับสิทธิถึง 22.17 ล้านราย

“เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมระบบรองรับให้มีประสิทธิภาพสูงสุด เพราะคาดว่าจะมีปริมาณผู้ยื่นขอจำนวนมาก โดยเฉพาะผู้ขอผ่านแอพลิเคลั่น เว็บไซต์ และระบบออนไลน์ทั้งหมด ซึ่งการไฟฟ้าจะต้องอำนวยความสะดวกประชาชนให้ได้รับเงินคืนเร็วที่สุด ก็จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนช่วงเศรษฐกิจได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19” นายสนธิรัตน์กล่าว

สำหรับความคืบหน้า โรงไฟฟ้าชุมชน ในส่วนโครงการ Quick win หรือโครงการที่มีความพร้อมเข้าระบบนั้น ซึ่งเดิมกำหนดจะต้องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ (COD) ภายในสิ้นปี 2563 แต่จากสถานการณ์ COVID-19 และสภาวะเศรษฐกิจ ที่อาจจะกระทบต่อการก่อสร้าง จึงเห็นชอบให้เลื่อนการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบได้ภายในระยะเวลา 12 เดือน นับจากวันลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าที่จะต้องลงนามภายในปี 2563 ซึ่งคาดว่าเร็วที่สุดภายในเดือนเม.ย.นึ้