วราวุธ ศิลปอาชา แก้แล้งที่ปลายเหตุ “ผิดลอจิก” รักษาป่า

วราวุธ ศิลปอาชา แก้แล้งที่ปลายเหตุ “ผิดลอจิก” รักษาป่า

สัมภาษณ์

ปัญหาภัยแล้งที่รุนแรงในรอบ 14 ปีหลายฝ่ายมุ่งมองไปที่การบริหารจัดการน้ำ ซึ่งเป็นปลายเหตุของปัญหา ขณะที่การแก้ต้นเหตุปัญหาแล้ง โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำกลับไม่ค่อยมีใครนึกถึงสักเท่าไร สะท้อนภาพจากงบประมาณที่จัดสรรปันส่วนลงมาถึงกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) มีเพียง 30,000 ล้านบาท เทียบไม่ได้เลยกับงบฯบริหารจัดการน้ำ 1 แสนล้านบาท “วราวุธ ศิลปอาชา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวง ทส. ได้ให้สัมภาษณ์ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์ปัญหาและแนวทางดำเนินนโยบายว่า

ปัญหาจากธรรมชาติขาดสมดุล

ตอนนี้เกิดโควิด-19 ทำให้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ในเมืองลดลง ปวดหัวน้อยกว่า PM 2.5 ในต่างจังหวัด ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ภาคเหนือ ต้นเหตุเกิดจากการเผาทั้งที่ไร่นาและการเผาเพื่อไปหาของป่า เช่น กรณีห้วยตึงเฒ่าที่ม้งเผาที่ทำสวนลำไย แต่คุมไม่อยู่ กลุ่มชาติพันธุ์ที่มีความเชื่อไม่ถูกต้อง บวกกับสภาพอากาศที่เหมือนมีฝาชีครอบ ฝุ่นจากการเผาก็อยู่ตรงนั้น ผมบอกมาตลอดว่า การเผาเหมือนเผาบ้านตัวเอง การที่คนหนึ่งจุดไฟ อีกพันคนดับ ไม่ใช่สิ่งที่ดี

ปัญหาหลาย ๆ อย่างที่เกิดขึ้นตอนนี้ เปรียบเสมือนกับการปรับสมดุลธรรมชาติ (รีบาลานซ์) ตัวเอง พอคุณตัด คุณเผา ไม่มีต้นไม้ ทำให้น้ำไม่มี พอน้ำไม่มี เกิดอะไรขึ้น ทำการเกษตรไม่ได้ รัฐบาลแก้ปัญหาภัยแล้งเพราะไม่มีต้นน้ำ วันนี้แม่น้ำปิง วัง ยม น่าน แทบจะลงไปเล่นกอล์ฟได้เลย เพราะแล้งหมด เป็นภูเขาหัวโล้น หากเทียบพื้นที่เขื่อนศรีนครินทร์ จ.กาญจนบุรี เป็นเขื่อนเดียวที่มีปริมาณน้ำสมบูรณ์ เพราะผืนป่าห้วยขาแข้ง แก่งกระจานไทยบวกกับแนวตะเข็บชายแดนไทย-เมียนมา มีความอุดมสมบูรณ์ ก็มีน้ำ ฉันใดก็ฉันนั้น เมื่อไทยไม่มีป่าก็ไม่มีโรงงานผลิตน้ำจะเอาน้ำมาจากไหน วันนี้เรากำลังแก้ไขปัญหาภัยแล้ง จากการที่ธรรมชาติปรับสมดุล เพราะคุณทุบ “โรงงานผลิตน้ำ” ทิ้ง มันล้วนแล้วแต่เป็นผลกระทบที่ตามมาจากการที่คุณละเลย ไม่ค่อยให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม

มอนิเตอร์จุดฮอตสปอต

ปีนี้ภาคเหนือมีจุดความร้อน 25,000 จุดในจำนวนนี้มี 10,000 จุด อยู่ในพื้นที่ป่าไม้ เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหลายพันจุด เราขอความร่วมมือก็ไม่ฟัง ถึงเวลาต้องใช้ยาแรง ห้ามเข้าไปเก็บของป่า และเพิ่มกองกำลังลาดตระเวน ดึงเจ้าหน้าที่จากใต้ขึ้นมา แม้จะเสี่ยงโควิด แต่ก็จำเป็นต้องดึงมา เพราะคนที่จะดับไฟป่าต้องมีความรู้ ทักษะ ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นคนเผาป่าเสียเอง หรือไม่ก็มีอันตราย การดับไฟป่าจำเป็นต้องอาศัยความมีใจรักในงาน เพราะเดินทางไปดับไฟบนเขาใช้เวลาเป็นวัน เราไม่มีเงินซื้อเฮลิคอปเตอร์ดับไฟ เพราะขอไปถูกตัดหมด

ประเมินความไม่พร้อม

ถ้าเทียบกับพื้นที่ป่าเป็นล้าน ๆ ไร่ เรามีเจ้าหน้าที่น้อยมาก จึงต้องมุ่งให้ความรู้ และสร้างกลุ่มอาสาสมัคร ร่วมกับเจ้าหน้าที่ “ชุดเสือไฟ” แต่หาก 1 คนจุด 1,000 คนดับ จะให้เพิ่มเจ้าหน้าที่เท่าไรก็ไม่คุ้ม ดังนั้น สิ่งสำคัญต้องให้ความรู้ แล้วจึงบังคับใช้กฎหมาย เช่นว่า ปิดป่าได้ไหมช่วงนี้ หรือหากพบเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับการเผาที่ผิดกฎหมาย กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ปลัด ถ้าเกิดเหตุอะไรขึ้น สั่งย้ายได้ไหม

จังหวะนี้ต้องใช้ “ยาแรง”

ผมจะไปคุยเร็ว ๆ นี้ ข้อเสียคนไทยขอความร่วมมือไม่เวิร์ก ต้องบังคับ แต่การใช้ยาแรงช้าหรือเร็วไปมีผล ซึ่งปีหน้าอาจจะพิจารณาใช้ยาแรงตั้งแต่ต้นปีเลยเพราะคนที่เผาป่าเลวร้ายพอกับคนที่ปล่อยโควิด-19

ข้อเสนอแนะต่อรัฐ

วันนี้เรามีคณะกรรมการแก้ปัญหาภัยแล้ง เน้นไปที่การขุดบ่อบาดาล สร้างเขื่อนหรือโครงการปลายน้ำ ใช้งบฯนับเป็นแสนล้านบาท ขณะที่โครงการที่จะมาฟื้นฟู สร้าง “โรงงานผลิตน้ำ” ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาแล้งจากต้นน้ำน้อยมาก ในปีนี้ทางกระทรวงได้งบประมาณ 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นงบฯประจำ 70-80% เหลือสำหรับการลงทุนอยู่เพียงไม่กี่พันล้านบาทก็ต้องนำมาแบ่งกันทุก ๆ กรม เหลือกรมละไม่กี่ร้อยล้าน แต่ต้องนำเงินนี้ไปดูแลทั้งประเทศ ผมคิดว่ามันผิดลอจิกหรือไม่ ที่เราเน้นใช้จ่ายงบฯเพื่อการรักษามากกว่าการป้องกัน ทั้งที่เราต่างรู้ว่าการดูแลสุขภาพคุ้มกว่าการจะไปเสียเงินค่ารักษาพยาบาล

ในขณะนี้ผมกำลังให้รวบรวมข้อมูลเม็ดเงินที่ใช้ในการดับไฟป่าใช้เท่าไร มีผู้เสียชีวิตหรือไม่ ต้องใช้อุปกรณ์ใดบ้าง และเมื่อดับไฟแล้วต้องใช้งบประมาณในการฟื้นฟูพื้นที่เท่าไร เทียบกับการใช้อุปกรณ์ดีคุ้มกว่าไหม เพื่อวางระบบเพิ่มพื้นที่สีเขียวแทนการไปแก้แบบไปรีดเลือดกับปู ทั้งที่ไม่มีน้ำจะไปรีดจากไหนสร้างเขื่อนเจาะบาดาลไปโดยไม่มีน้ำก็ไม่มีประโยชน์ หากเราไม่วางแผนตอนนี้ เชื่อว่าในอนาคตเราอาจต้องเสียงบประมาณแก้ไขปัญหาภัยแล้งเพิ่มขึ้น จากแสนล้านจะกลายเป็นล้านล้าน ในอนาคตรุ่นลูกรุ่นหลาน ฉะนั้น การฟื้นฟูป่าให้กลับมาสมบูรณ์วันนี้เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด เรากำลังพยายามวัดว่าที่เพิ่มกับที่เผา มีอัตราส่วนอย่างไร ไม่ใช่มุ่งเพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ฝั่งหนึ่งก็เผาเพิ่มด้วย ก็จะไม่ได้ตามเป้าหมาย ดังนั้นต้องแก้ปัญหาคู่ขนานกัน โดยการเพิ่มเครื่องมือ อุปกรณ์ให้เจ้าหน้าที่

เป้าหมายการเพิ่มพื้นที่ป่า

จริงอยู่ อาจไม่ใช่งานที่เห็นผลในระยะเวลา 3 ปี หรือ 5 ปี แต่ถ้าหากเราไม่ทำวันนี้แล้วต่อไป 20 ปี จะต้องใช้เงินขนาดไหน สำหรับผมเป้าหมายแผนระยะสั้น เราต้องการหยุดการเผาและทำลายป่า ขอให้พื้นที่ป่า 31% เหลือเต็ม นี่คือสิ่งที่เราพยายามทำ ส่วนระยะยาวตามแผนยุทธศาสตร์ 20 ปี ท้ายที่สุดเราต้องเพิ่มพื้นที่สีเขียวในประเทศไทยให้มากที่สุดเป็น 51% เราจะต้องเพิ่มพื้นที่ป่าให้ได้ประมาณ 40% ของประเทศ


“พอมาทำงานกระทรวงนี้ก็รักในสิ่งที่ทำ เพราะคิดว่าเป็นจุดเริ่มต้นของกระทรวงอื่น ๆ น้ำและทรัพยากรธรรมชาติเกิดจากที่นี่ ที่พูดอย่างนี้ไม่ได้ตัดพ้อ แต่อยากให้เห็นความสำคัญ คนที่ดูแลงบประมาณจะได้เห็นภารกิจและสิ่งที่ช่วยประหยัดเงินได้ ไม่ใช่ไปแก้ปัญหาปลายน้ำ เช่น ผันน้ำจากโขงมา สร้างเขื่อนขุดแหล่งน้ำ ถ้าน้ำไม่มีจะทำยังไง สู้มาลงทุนโรงงานผลิตน้ำดีกว่า ทุกคนมาใช้ประโยชน์จากธรรมชาติแล้วคืนอะไรให้กับธรรมชาติบ้าง หากรับไปโดยไม่คืนให้ธรรมชาติ สุดท้ายเค้าก็จะปรับสมดุลเอง ดังนั้น การรักษาสมดุลให้ธรรมชาติเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดแล้ว สิ่งที่ผมทำคือรักษาบาลานซ์ของธรรมชาติ”