โรงงานหน้ากากอนามัย ซี.พี. รับสิทธิ์ BOI ยกเว้นภาษี 3 ปี

แฟ้มภาพ

16 เมษายน 2563 เป็นวันแรกที่โรงงานผลิตหน้ากากอนามัยในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เริ่มไลน์การผลิตอย่างเป็นทางการ หลังจาก นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโสเครือ ซี.พี. ประกาศเมื่อวันที่ 5 มีนาคมว่า ได้ตัดสินใจทุ่มเงินกว่า 100 ล้านบาท ลงทุนสร้างโรงงานผลิตหน้ากากอนามัย ด้วยการดัดแปลงอาคารชั้น 3 บริษัท เกษตรภัณฑ์อุตสาหกรรม จำกัด ที่ อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ ให้เป็นห้องปลอดเชื้อ และเหมาะสมกับการใช้เครื่องจักร ผลิตหน้ากากอนามัย

โดยโรงงานดังกล่าวเป็นระบบอัตโนมัติที่จะใช้แรงงานคนเพียง 1 คน ในการควบคุมเครื่องจักร ผลิตเป็นหน้ากากอนามัย และสายคล้องหู ซึ่งทาง ซี.พี.คิดค้นนวัตกรรมในการบรรจุผลิตภัณฑ์ให้ปลอดเชื้อ ซึ่งได้เทคโนโลยี เอไอ จากสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง

ทั้งนี้ หน้ากากอนามัยลอตแรก 1 แสนชิ้น จะนำมาแจกฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์รวมถึงประชาชน โดยผ่านโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย และกระจายไปยังโรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าผลิตได้เดือนละ 3 ล้านชิ้น การลงทุนครั้งนี้ไม่เพียงจะช่วยประชาชนให้มีหน้ากากอนามัยใช้เพิ่มขึ้นเท่านั้น แต่ยังเป็นการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลด้วย

ล่าสุดในการประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ได้เห็น “มาตรการการกระตุ้นให้เกิดการลงทุนโดยเร็ว สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์” เพื่อส่งเสริมการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมสุขอนามัยที่ดีของประชาชนในประเทศ ในสถานการณ์การระบาดของโควิด-19

นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวว่า ขณะนี้ (ม.ค.-มี.ค. 2563) มีอุตสาหกรรมทางการแพทย์ที่ได้รับอนุมัติให้การส่งเสริมการลงทุนแล้ว และอยู่ระหว่างการติดตั้งเครื่องจักร จำนวน 7 โครงการ ทั้งหมดเป็นการลงทุนใหม่ เงินลงทุนรวมประมาณ 392.1 ล้านบาท ตั้งในพื้นที่ จ.ระยอง 2 โครงการ, สมุทรปราการ 1 โครงการ, ปทุมธานี 1 โครงการ, ชลบุรี 1 โครงการ, นนทบุรี 1 โครงการ และกรุงเทพฯ 1 โครงการ

โดยทั้ง 5 โครงการเป็นบริษัทสัญชาติไทย และมีอีก 1 โครงการเป็นนักลงทุนจากประเทศไต้หวัน และอีก 1 โครงการเป็นโครงการร่วมทุนระหว่างไทยกับจีน ซึ่งหนึ่งในจำนวนนี้ คือ โรงงานผลิตหน้ากากของ ซี.พี.

“การลงทุนของ ซี.พี.เข้าเงื่อนไขการลงทุนตามมาตรการดังกล่าว จะได้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 3 ปี และยกเว้นภาษีเครื่องจักร และแน่นอนว่าตามเงื่อนไขยังได้กำหนดไว้อีกว่า โครงการและต้องเริ่มผลิตและมีรายได้ภายในวันที่ 31 ธ.ค. 2563 สำคัญคือต้องจำหน่ายและหรือบริจาคภายในประเทศอย่างน้อย 50% ของปริมาณที่ผลิตได้ในปี 2563-2564”

ดังนั้น หากเป้าหมายของ ซี.พี. คือ การผลิตเพื่อบริจาคแจกฟรีแก่บุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงประชาชน ก็เข้าเกณฑ์เงื่อนไขที่กำหนดให้สำหรับภายในประเทศ 50% ภายในปี 2564 จะได้สิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่ม 50% เป็นเวลา 3 ปี ซึ่งต้องพิสูจน์เมื่อสิ้นปี 2564