“ข้าวโพดเมียนมา” ทะลัก 2 เดือนนำเข้าพุ่งแซงปี”62

ข้าวโพดเมียนมาทะลักไทย 2 เดือนนำเข้าแซงปี”62 คาดทั้งปียอดพุ่ง 1.6 ล้านตันส.การค้าพืชไร่กระทุ้งพาณิชย์รับมือ หวั่นกระทบข้าวโพดปี”63/64

นายพรเทพ ปู่ประเสริฐ นายกสมาคมการค้าพืชไร่ เปิดเผยว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา สมาคมมีหนังสือร้องเรียนปัญหาการนำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านถึงนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและบริหารจัดการข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ (นบขพ.) ว่าในช่วงเวลา 2 เดือนระหว่างเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม 2563 ไทยนำเข้าข้าวโพดจากเมียนมา ปริมาณ 692,899 ตันสูงกว่าการนำเข้าข้าวโพดทั้งปี 2562 ที่มีปริมาณ 588,514 ตัน ทั้งนี้ หากปล่อยให้มีการนำเข้าตามประกาศผ่อนปรนนำเข้าข้าวโพดของกระทรวงพาณิชย์ที่อนุญาตให้นำเข้าถึงเดือนสิงหาคม 2563 คาดว่าจะมีข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านทะลักเข้ามาถึง 1.6 ล้านตัน ส่งผลกระทบต่อเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดในฤดูการผลิต 2563/2564

“จากนโยบายการลดภาษีนำเข้าปี 2556และการเปิดกลไกให้มีการซื้อข้าวโพดจากภายในประเทศ 3 ส่วน เพื่อนำเข้าข้าวสาลีมาได้ 1 ส่วน ส่งผลต่อระบบการค้าข้าวโพด เพราะมีการนำเข้าข้าวโพดจากประเทศเพื่อนบ้านมาสวมสิทธิเป็นข้าวโพดของไทยเพื่อนำไปคำนวณอัตราส่วน 3 ต่อ 1 ทำให้นำเข้าข้าวสาลีได้ 1 ส่วนมากขึ้นเกินกว่าปกติ และบางรายเลี่ยงไปนำเข้าข้าวบาร์เลย์และกากข้าวโพดหรือ DDGS เข้ามาทดแทน เพราะเป็นสินค้าที่ไม่ได้ถูกใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 กำกับดูแล”

ก่อนหน้านี้ทางสมาคมเคยมีหนังสือขอให้กระทรวงพาณิชย์ปรับลดช่วงระยะเวลาเปิดนำเข้าให้สั้นลงให้สอดคล้องกับระยะเวลาการเก็บเกี่ยวของเกษตรกร และขอให้ขึ้นภาษีนำเข้าข้าวสาลีและวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดทุกประเภทอัตรา 12-19% ในช่วงการนำเข้านอกฤดูเก็บเกี่ยว และเพิ่มขึ้นเป็น 19-27% หากนำเข้าในช่วงฤดูเก็บเกี่ยว พร้อมทั้งขอให้ขยายการใช้มาตรการ 3 ต่อ 1 ให้ครอบคลุมสินค้าวัตถุดิบทดแทนข้าวโพดทั้งหมด เพราะขณะนี้ไม่ได้มีเพียงเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดจะเสียหาย แต่ผู้ปลูกข้าวยังได้รับผลกระทบจากราคาขายรำละเอียดตกต่ำลงตันละ 200 บาท เป็นภาระให้รัฐต้องใช้มาตรการชดเชยประกันรายได้ให้เกษตรกรอีก

พร้อมกันนี้ ขอให้มีองค์กรกำกับดูแลการนำเข้าข้าวโพดจากเพื่อนบ้าน วางระบบการขึ้นทะเบียนผู้นำเข้า ผู้ใช้ รวมถึง
ผู้ค้าข้าวโพด และต้องเพิ่มมาตรการเข้มงวดในการขนย้าย เพื่อป้องกันการนำเข้าวัตถุดิบทดแทนมาขายต่อภายในประเทศ และวางแนวทางปฏิรูปภาคเกษตรเพื่อบูรณาการอย่างครบวงจร

“หากไม่มีการแก้ไขนอกจากจะทำให้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพด ข้าว และวัตถุดิบอาหารสัตว์มีรายได้ลดลง ราคาขายวัตถุดิบได้รับผลกระทบจากสินค้านำเข้า สร้างภาระให้รัฐต้องเสียงบประมาณประกันรายได้ให้เกษตรกรแล้ว ยังเป็นการซ้ำเติมภาคเกษตรกรที่เดิมได้รับผลกระทบจากภาวะภัยแล้งผลผลิตลดลง แต่ราคากลับไม่ปรับขึ้นตามกลไกตลาด และที่สำคัญจะกระทบต่อวงจรการค้าข้าวโพดทั้งหมดที่มีเกษตรกรเกี่ยวข้องกว่า 5 ล้านครัวเรือน ไม่นับรวมพืชอื่น โดยเฉพาะในปีนี้คาดว่าชาวไร่อ้อยจะหันมาปลูกข้าวโพดเพิ่มขึ้น”