ใบด่างมันสำปะหลังสูญหมื่นล้าน ท่อนพันธุ์ขาดแคลน จี้รัฐจ่ายชดเชยช้า

ชาวไร่อ่วม “ใบด่างมันสำปะหลัง” เสียหาย 1.2 แสนไร่ สูญกว่า 1 หมื่นล้าน บานปลายสู่การขายท่อนพันธุ์ติดโรคผ่านเคอรี่ หวั่นเอาไม่อยู่กระทบอุตสาหกรรมชอร์ตซัพพลาย 4 ล้านตัน จี้รัฐเร่งจ่ายเงินค้างค่าชดเชยทำลายมันอีกกว่า 2 หมื่นไร่ หลังรัฐอ้างตัดเกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิคุมเข้ม พ.ร.บ.การควบคุมโรค

นายรังษี ไผ่สอาด นายกสมาคมชาวไร่มันสำปะหลังแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่าเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2563 ที่ผ่านมา ได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการโรคใบด่างมันสำปะหลัง ครั้งที่ 1/2563 โดยมีนายวราวุธ ชูธรรมธัช รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธาน เพื่อเร่งหารือแนวทางแก้ไขปัญหาโรคใบด่าง ซึ่งขณะนี้สถานการณ์การแพร่ระบาดกระจายไปในพื้นที่กว่า 120,000 ไร่ ใน 20 จังหวัดจากพื้นที่ปลูกมันสำปะหลังทั้งหมดของไทยที่มี 10 ล้านไร่ ใน 50 จังหวัด โดยคาดว่าได้สร้างความเสียหาย 10,000 ล้านบาท

หากไม่เร่งแก้ไขจะสร้างความเสียหายมากกว่านี้ ล่าสุดปัญหาโรคดังกล่าวได้ส่งผลให้เกษตรกรขาดแคลนท่อนพันธุ์มันสำปะหลัง เพราะมีบางรายนำท่อนพันธุ์ที่ติดโรคไปจำหน่ายผ่านเคอรี่ ทำให้การแพร่ระบาดกระจายไปในวงกว้างขึ้น

“จากปัญหาดังกล่าวคาดว่าผลผลิตในปี 2563/2564 จะลดลงเหลือประมาณ 20 ล้านตันของหัวมันสด จากผลผลิตในปีที่ผ่านมาที่มี 24 ล้านตัน ซึ่งปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ผลผลิตที่ออกสู่ตลาดน้อย

จากปกติจะมี 30 ล้านตัน เพราะได้รับผลกระทบจากปัญหาภัยแล้ง ถ้าไม่เร่งแก้ไขคาดว่าจะมีปัญหาไม่มีวัตถุดิบมันสำปะหลังเข้าสู่โรงงานอุตสาหกรรม หรืออาจมีน้อยลดไปจากปกติ ซึ่งไทยก็ผลิตไม่เพียงพออยู่แล้ว ต้องมีการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งกัมพูชา สปป.ลาวบ้าง แต่ในปีนี้แหล่งนำเข้า 2 ประเทศนี้ก็ติดปัญหาเรื่องโรคใบด่างเช่นกัน หากกระทบต่ออุตสาหกรรมก็จะรวมไปถึงเรื่องของราคาด้วย”

ทางสมาคมจึงได้ต้องการเรียกร้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ไขและชดเชยค่าเสียหายให้กับเกษตรกรที่ต้องทำลายมันสำปะหลัง ซึ่งยังมีความล่าช้าอย่างมาก โดยอ้างเรื่องเกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิ ทำให้เกษตรกรไม่มีเงินหมุนเวียนในการเพาะปลูก เพราะต้องรองบประมาณค่าชดเชยที่ล่าช้า เกษตรกรจึงมีการปิดบังข้อมูล และนำท่อนพันธุ์ที่ติดโรคนำมาเพาะปลูกและจำหน่ายอีกครั้ง ซึ่งจะยิ่งเกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมมันสำปะหลังมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ปัจจุบันมีการทำลายผลผลิตพื้นที่ที่ติดโรคใบด่างไปประมาณ 18,000 ไร่ จากพื้นที่ความเสียหายประมาณ 45,000 ไร่ ยังมีพื้นที่บางส่วนที่ยังไม่ได้ทำลาย ทำให้กลายเป็นพื้นที่เสี่ยงที่จะแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นไปอีก

สำหรับข้อเรียกร้องของสมาคมประกอบด้วย 1.ขอให้สำนักงบประมาณโอนเงินที่เหลือยังไม่ได้จ่ายค่าทำลายและค่าชดเชยอีก 2 หมื่นกว่าไร่ จำนวน 100 กว่าล้านบาท มาให้กรมส่งเสริมการเกษตรไว้เป็นผู้บริหารจัดการโดยตรง เพื่อให้สามารถบริหารจัดการใบด่างได้รวดเร็ว 2.ให้สำนักงบฯจ่ายเงินชดเชยค่าเสียหายไร่ละ 3,000 บาท ให้พื้นที่ไม่มีเอกสารสิทธิด้วย เนื่องจากยังพบปัญหานี้ว่าพื้นที่ไม่มีเอกสารแม้ติดโรคก็ไม่ได้รับการชดเชย และต้องการที่ทำลายโรคไปแล้วทันที ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 12 พ.ย. 2562 ที่ชดเชยให้ทุกพื้นที่เสี่ยงไม่จำกัดเฉพาะเอกสารสิทธิ เนื่องจากพบปัญหาดังกล่าวว่าสำนักงบประมาณไม่ยอมจ่ายให้ ซึ่งเป็นผลให้ล่าช้าและทำให้โรคระบาดเพิ่มขึ้น

3.ขอให้ขยายพื้นที่บริหารจัดการในการกำจัดใบด่างครอบคลุมพื้นที่ปลูกมันทั่วประเทศเพิ่มจากเดิมแค่ 11 จังหวัด ให้ใช้วงเงินก่อนหน้านี้ 248 ล้านบาท ให้หมด 4.ในการบริหารจัดการทำลายใบด่างถ้าพบให้สั่งทำลายทันที โดยไม่ต้องรอเงินมาแล้วค่อยสั่งจ้างทำลาย ส่วนเงินค่าทำลายรีบจ่ายตามเมื่อเสร็จและการจ่ายเงินชดเชยให้รีบจ่ายทันทีไม่ต้องรอ 60 วันหลังจากทำลายไปแล้ว

5.ให้ตั้งงบประมาณกำจัดแมลงหวี่ขาวมีค่ายาและค่าจ้างให้ครอบคลุมทุกจังหวัด

6.ให้ดำเนินการทำแปลงท่อนพันธุ์สะอาดประจำทุกอำเภอ เพื่อให้เกษตรกรได้ยืมท่อนพันธุ์ปลอดโรคไปปลูก

7.ให้ตั้งงบประมาณสนับสนุนการปลูกพืชทดแทนพักแปลงไปก่อน 1 ปี เช่นเดียวกับข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

8.ให้จ่ายเงินค่าทำลายค่าชดเชยให้เสร็จสิ้นภายใน 30 กันยายน 2563 นี้

9.ให้นัดประชุมคณะอนุกรรมการทุกเดือนพร้อมเชิญเกษตรจังหวัดที่เกิดใบด่างเข้ามาร่วมประชุมทุกจังหวัดเพื่อติดตามความคืบหน้า ส่วนเรื่องการช่วยเหลือการพักชำระหนี้แก่เกษตรกรที่ได้รับความเสียหายจากใบด่าง

เบื้องต้นจะเสนอคณะกรรมการบริหารจัดการมันสำปะหลัง (นบมส.) ให้พักหนี้ และลดดอกเบี้ย พร้อมจะเสนอเรื่องการทำประกันภัยมันสำปะหลัง โดยให้ทุนประกันชดเชยถ้าเกิดภัยพิบัติขึ้นจะได้เงินประกันชดเชยไร่ละ 6,000-7,000 บาท โดยรัฐบาลจ่ายเบี้ยให้ 60% เกษตรกรสมทบ 40% เป็นต้น


ส่วนการแก้ไขปัญหาท่อนพันธุ์นั้น ที่ประชุมได้เสนอให้บังคับใช้กฎหมายในการควบคุมโรค โดยเฉพาะเรื่องการขายท่อนพันธุ์ติดโรค หากไม่มีการขออนุญาต ห้ามขายส่งและขายผ่านเคอรี่ต่าง ๆ ไป และให้เลิกปลูกพันธุ์ 89 อย่างเด็ดขาด และให้เจ้าหน้าที่ตำรวจสามารถดำเนินการทางกฎหมายอย่างจริงจัง หากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมาย เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรค