เงินลงทุนหาย 2.5 หมื่นล้าน โรงงานเลิกกิจการ 404 แห่ง

นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) เปิดเผยว่า ครึ่งปีแรก 2563 (ม.ค.–29 มิ.ย.) ยอดขอใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) และขยายกิจการใน 21 กลุ่มอุตสาหกรรม จำนวน 1,702 ราย เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 10.22% มีการจ้างงานใหม่ 123,794 คน เพิ่มขึ้น 79.23% เป็นเงินลงทุนทั้งหมด 174,850.47 ล้านบาท ลดลง 14.09%

ซึ่งปริมาณการจ้างงานใหม่ปรับเพิ่มขึ้นอย่างมาก แสดงให้เห็นว่า แม้ว่าทั่วโลกจะได้รับผลกระทบจากการระบาดไวรัสโควิด-19 แต่ภาคอุตสาหกรรมได้มีการวางแผนการลงทุนล่วงหน้าอยู่แล้ว จึงทำให้ตัวเลขการลงทุน การจ้างงาน มีตัวเลขที่สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามในไตรมาส 3 และ 4 ซึ่งอาจจะมีผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่จะมาเป็นตัวชี้วัด

ขณะที่ยอดโรงงานขอยกเลิกกิจการ 404 โรง ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ซึ่งปิดกิจการ 666 โรง โดยมีการเลิกจ้าง 16,680 คน เงินลงทุนหายไป 25,414 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นประเภทกิจการผลิตภัณฑ์จากพืช 47 โรงงาน อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมอโลหะ และอื่นๆ ตามลำดับ

โดยคาดว่าทั้งปี 2563 จะมียอดขอใบอนุญาต รง.4 อยู่ที่ประมาณ 3,000 โรงเท่ากับปี 2562 หากเป็นไปในสถานการณ์ปกติที่โควิด-19 ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการลงทุน เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย และในทางกลับกันหากไม่มีการระบาดระลอกใหม่เฟส 2 อาจทำให้ยอดขอตั้งโรงงานดีขึ้น เพราะจะมีการย้ายฐานมาที่ไทย ด้วยนักลงทุนมีความมั่นใจประเทศไทยที่บริหารจัดการการแพร่ระบาดได้ดีกว่าประเทศอื่น ดังนั้นจึงขอประเมินสถานการณ์อย่างชัดเจนอีก 1-2 เดือน

“ความต้องการแรงงานใหม่เพิ่มขึ้นมากที่สุดในรอบ 3 ปี หรือย้อนหลังไปถึงปี 2561 ซึ่งอย่างน้อยก็จะสามารถเข้ามารองรับการจ้างงานในไทยให้เพิ่มขึ้น รวมถึงสามารถช่วยแก้ปัญหาการว่างงานของแรงงาน จากผลกระทบการระบาดไวรัสโควิด-19 และรองรับนักศึกษาที่จบใหม่ได้ในระดับหนึ่ง”

สำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีความต้องการแรงงานสูงสุด 5 อันดับแรกคือ กลุ่มผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์มีความต้องต้องการแรงงานเพิ่ม 39,873 คน สาเหตุที่กลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีความต้องการแรงงานสูง เนื่องจากกลุ่มอุตสาหกรรมดังกล่าวมีการใช้แรงงานในการประกอบ และตรวจสอบอุปกรณ์จำนวนมาก รองลงมาเป็นกลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร มีความต้องการแรงงาน 20,112 คน, กลุ่มผลิตเครื่องจักรเครื่องกล 11,910 คน, กลุ่มผลิตภัณฑ์โลหะ 6,002 และกลุ่มผลิตภัณฑ์พลาสติก 5,814 คน

โดยเป็นการขอใบอนุญาตประกอบกิจการ 1,267 ราย ลดลง 3.36% จ้างงาน 52,692 ราย เพิ่มขึ้น 25.58% และเงินลงทุน 71,121.96 ล้านบาท ลดลง 30.16% และเป็นการขยายกิจการ จำนวน 435 ราย เพิ่มขึ้น 13.58% จ้างงาน 71,102 ราย เพิ่มขึ้น 53.65% เงินลงทุน 103,728.51 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 16.07% ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมอาหารมากที่สุด

สำหรับแผนฟื้นฟู ส่งเสริม หรือสนับสนุนสถานประกอบการอุตสาหกรรม หลังสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 กรอ. ได้จัดทำข้อเสนอโครงการตามมาตรการแผนฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยและสังคม (พ.ร.ก.กู้เงินเพื่อการเยียวยาและดูแลเศรษฐกิจ จากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า 2019 ) จำนวน 5 โครงการวงเงินกว่า 148 ล้านบาท ประกอบด้วยโครงการแปลงเครื่องจักรเป็นทุน โดยการบำรุงรักษาเครื่องจักรสำหรับโรงงานอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 กลุ่มที่ 1 โรงงานอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์ เคมี ยานยนต์ เครื่องปรับอากาศ เหล็ก และต่อเรือซ่อมเรือ
กลุ่มที่ 2 โรงงานอุตสาหกรรมอาหาร เครื่องดื่ม ยา ไม้หรือผลิตภัณฑ์จากไม้ สิ่งทอ เซรามิก แก้วและกระจก หนังและผลิตภัณฑ์หนัง

โครงการฟื้นฟูและยกระดับโรงงานอุตสาหกรรมด้านความปลอดภัย มาตรฐาน ผลิตภาพ พลังงานและสิ่งแวดล้อม โครงการพัฒนายกระดับศักยภาพการผลิตของเอสเอ็มอี กลุ่มผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ด้วยการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตออฟติงส์ หรือ IoTs ให้ได้ชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีประสิทธิภาพ พร้อมสนับสนุนผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยานยนต์ให้ดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง และโครงการฟื้นฟูโรงงานอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปด้วยเทคนิควิศวกรรมอาหาร เชื่อว่าหากได้รับการสนับสนุนก็จะช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้